กรุงศรี คือหนึ่งในธนาคารสำคัญของประเทศไทย ผ่านการเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของไทยด้านสินทรัพย์ สินเชื่อ และเงินฝาก ทั้งยังเป็นบริษัทในเครือของ MUFG กลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งในปี 2024 กรุงศรีประกาศเดินหน้ากลยุทธ์ ธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคเพื่อความยั่งยืน
ในฝั่ง ธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาค อาจเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะ กรุงศรีเหมือนเป็นศูนย์กลางของธนาคาร และสถาบันการเงินต่าง ๆ ของ MUFG ในภูมิภาคอาเซียน แถมหลังจากนี้จะมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นด้วย แต่ในมุม เพื่อความยั่งยืน การเป็นธนาคารที่มีความยั่งยืนจะช่วยอะไรกับกรุงศรีได้บ้าง
Brand Inside มีโอกาสรับฟัง เคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) อธิบายถึงเรื่องดังกล่าว พร้อมเป้าหมายอื่น ๆ ของการดำเนินธุรกิจในปี 2024 รวมถึงแผนระยะกลางเพื่อขับเคลื่อนกรุงศรีให้เติบโตยิ่งขึ้นดังนี้
10 ปี กับการเข้ามาของกลุ่ม MUFG
คนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า นับตั้งแต่ปี 2013 ทางกรุงศรีได้เป็นพันธมิตรกับกลุ่ม MUFG และดำเนินธุรกิจควบคู่กันต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่การควบรวมสาขาของ MUFG และเร่งเครื่องลดช่องว่างระหว่างกรุงศรีกับธนาคารยักษ์ใหญ่ทั้ง 4 รายได้
“ตอนนี้กรุงศรีเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญของไทย ถือเป็นความสำเร็จของ MUFG มากกว่านั้น MUFG และกรุงศรี ยังมีการขยายออกไปในตลาดต่าง ๆ ของอาเซียน จน MUFG มีความแข็งแกร่งในตลาดนี้เช่นกัน และหากเทียบทศวรรษถึงปัจจุบันที่ MUFG กับกรุงศรีทำงานร่วมกัน กำไรสุทธิของกรุงศรีโตขึ้น 3 เท่า”
ปี 2023 กรุงศรีมีกำไรสุทธิ 32,929 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ที่ทำได้ 30,713 ล้านบาท โดยมียอดสินเชื่อเติบโต 3.5% ถือเป็นการกลับมาเติบโตอย่างมีนัยสำคัญหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ทุกอุตสาหกรรมประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ
ทศวรรษถัดไปก้าวไปสู่ความยั่งยืน
เมื่อทศวรรษแรกกรุงศรี และ MUFG สามารถขึ้นเป็นผู้นำในอาเซียน ผ่านการมีเครือข่ายที่ทำธุรกิจใน 9 จาก 10 ประเทศของภูมิภาคนี้ มียอดสินเชื่อรวมกว่า 1.05 แสนล้านบาท ผ่านฐานลูกค้า 17 ล้านราย และมีพนักงานรวมถึง 21,000 คน ทศวรรษถัดไประหว่างกรุงศรี กับ MUFG จึงเสริมแกร่งด้วยความยั่งยืน
กรุงศรี ตั้งเป้าสู่องค์กร Net Zero ในเรื่องบริการทางการเงินภายในปี 2050 ซึ่งการจะไปจุดนั้น การปรับเปลี่ยนบริการให้ตอบโจทย์เรื่องดังกล่าวจึงจำเป็น เช่น การออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนทั้ง Blue และ Green Bond มูลค่ากว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับองค์กรต่าง ๆ
ส่วนฝั่งผู้บริโภคทั่วไป และธุรกิจขนาดเล็ก กรุงศรีมีการออกสินเชื่อที่ตอบโจทย์เรื่องดังกล่าว เช่น สินเชื่อเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการใช้พลังงานสะอาดรูปแบบต่าง ๆ ถือเป็นการเสริมความแข็งแกร่งของบริการทางการเงินส่วนบุคคล และเพิ่มความหลากหลายให้กับการทำธุรกิจที่เน้นความยั่งยืนเช่นกัน
เดินหน้าดิจิทัลเสริมแกร่งให้กับธุรกิจ
ในทางกลับกัน กรุงศรียังเดินหน้าลงทุนระบบไอทีเพื่อยกระดับงานบริการให้ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน รวมถึงการทำธุรกิจขององค์กรต่าง ๆ มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือการเดินหน้าโครงการ Jupiter ที่ยกระดับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที และ Core Banking
“กรุงศรีลงทุนปีละกว่า 15,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับด้านไอทีของธนาคาร และทำให้แนวคิด Make Simple ที่ธนาคารดำเนินมาโดยตลอดให้เกิดขึ้นจริงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องไอทีจะอยู่ในแผนระยะกลางระหว่างปี 2024-26 ที่กรุงศรีจะมีการลงทุนหลังจากนี้”
- เจาะลึก DNA Krungsri Auto Advisor สร้างความต่างด้วยประสบการณ์สินเชื่อที่รวดเร็ว รู้ลึก รู้ใจ
- กรุงศรี ปี 2023 กำไรสุทธิ 32,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.2% เหตุรายได้ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมเพิ่ม
สำหรับปี 2024 กรุงศรีตั้งเป้ายอดสินเชื่อเติบโต 3-5% และเพิ่มภาพลักษณ์เรื่องความยั่งยืนเพื่อจูงใจ และตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมถึงฝั่งองค์กรที่ต่างให้ความสำคัญเรื่องการดำเนินธุรกิจโดยไม่ปล่อยมลพิษมากขึ้น
อ้างอิง // Krungsri
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา