เยอรมันเดินหน้าทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ หวังเพิ่ม Productivity ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ผลการทดลองพิสูจน์แล้ว ลดวันทำงานเพิ่ม Productivity ได้
เยอรมนีเดินหน้าทดลอง ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์

ประเทศเยอรมนีก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังประสบปัญหาในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และนี่คือหนึ่งในโปรเจกต์ที่พยายามจะฟื้นฟู Productivity ของบริษัทต่างๆ โดยบริษัทในเยอรมนีจำนวน 45 แห่งได้เข้าร่วมทดลองลดวันทำงานให้เป็น 4 วันต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 6 เดือน และยังจ่ายค่าตอบแทนเท่าเดิม

Germany

การศึกษานี้มีเป้าหมายเพื่อค้นหาว่าสหภาพแรงงานมีความถูกต้องหรือไม่ การเพิ่มวันหยุดให้พนักงานไม่เพียงทำให้พนักงานมีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเพิ่ม Productivity ในการทำงานด้วย ซึ่ง Sören Fricke ผู้ร่วมก่อตั้ง Solidsense บริษัทที่วางแผนจัดงานอีเวนท์ระบุว่า เขาเองก็เชื่อมั่นว่าการลงทุนในการทำงานแบบนี้ มันช่วยเพิ่มความสุข เพิ่มแรงจูงใจ และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วย ซึ่งนี่ก็เป็น 1 ใน 45 บริษัทที่เข้าร่วมโปรเจกต์ทดลองดังกล่าว และการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ก็ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในระยะยาว

โครงการนี้จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงกว้างที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงานของเยอรมนี ซึ่งการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะกำลังสร้างแรงกดดันกับบริษัทต่างๆ ที่ต้องหาแรงงานมาเติม เยอรมนีไม่ได้ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเรื่องเดียวแต่ยังมีเรื่องภาวะเงินเฟ้อด้วย พนักงานหลากอุตสาหกรรมต่างก็อยากได้ค่าแรงเพิ่ม ขณะเดียวกันก็ต้องการรักษาความยืดหยุ่นจากการทำงานเหมือนที่พวกเขาได้รับในช่วงที่โควิดระบาดด้วย

ด้วยเหตุนี้ ความไม่สมดุลจึงเกิดขึ้นและทำให้เกิดความเครียดระหว่างนายจ้างกับพนักงาน ล่าสุดพนักงานรถไฟของเยอรมนีก็นัดหยุดงานเป็นเวลา 6 วัน เพื่อเรียกร้องให้ Deutsche Bahn ลดเวลาการทำงานจาก 38 ชั่วโมงเป็น 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยไม่ลดค่าจ้างใดๆ ด้านสหภาพแรงงานก่อสร้างก็ขอขึ้นค่าแรงมากกว่า 20% สำหรับคนงานราว 930,000 คน เรื่องนี้นักเศรษฐศาสตร์บางรายก็เตือนว่าอาจนำไปสู่การเกิดภาวะเงินเฟ้อได้

ทั้งนี้ จากการสำรวจเมื่อปีที่ผ่านมา พบว่า บริษัทหลายแห่งของเยอรมนีไม่สามารถบรรจุพนักงานในตำแหน่งที่ว่างลงได้ บริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่อย่าง SAP SE ยังต้องเลิกขอใบปริญญาจากผู้สมัครงานในปี 2022 ที่ผ่านมาเพื่อที่จะรับคนเพิ่ม ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์อย่าง Vonovia SE ก็ต้องคัดเลือกบบุคลากรจากประเทศโคลอมเบียเพื่อทำให้จำนวนคนครอบคลุมแรงงานที่ขาดแคลน ปัญหาที่น่าจะทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีกก็คือ แรงงานกว่า 7 ล้านคนเตรียมออกจากระบบแรงงานภายในปี 2035 อัตราการเกิดและการย้ายถิ่นฐานเข้าไปอยู่ในเยอรมนีก็ลดลง คนสูงวัยก็เพิ่มขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายประเทศต้องเผชิญ

แม้ว่าพนักงานจะทำงานน้อยลงและได้รับค่าตอบแทนเท่าเดิมในระหว่างการทดลอง ผลงานของเขาควรจะคงที่หรือน่าจะดีขึ้นบ้าง จากรายงาน 4 Day Week Global องค์กรที่ไม่หวังผลกำไรซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศนิวซีแลนด์ พบว่า นอกจากมันจะช่วยกระตุ้นให้เกิด Productivity แล้ว บริษัทต่างๆ ยังคาดว่าจะได้รับประโยชน์เพิ่มจากการขาดงาน ลางานลดลงอันเนื่องมาจากสาเหตุความเครียด ความเจ็บป่วยและอาการหมดไฟของพนักงาน โดยเฉลี่ยแล้ว ชาวเยอรมันไม่สามารถทำงานได้ประมาณ 21.3 วันในปี 2022 ทีผ่านมา ส่งผลให้สูญเสียมูลค่าเพิ่มถึง 2.07 แสนล้านเหรียญยูโรหรือประมาณ 7.9 ล้านล้านบาท

ผู้ที่สนับสนุนให้ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ยังให้ความเห็นว่า มันช่วยดึงศักกยภาพที่ยังไม่ได้ใช้ออกมาสู่ตลาดแรงงานของเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีสัดส่วนคนทำงานแบบพาร์ทไทม์มากที่สุดในยุโรป และเยอรมนีเองก็เป็นประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป แต่ยังขาดการลงทุนด้านนวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ระบบดิจิทัลที่ขัดขวางการเพิ่มผลผลิต หากไม่มีการพัฒนาตามที่ว่ามานี้ คนเยอรมันก็คงไม่มีโอกาสที่จะเพิ่มผลิตภาพได้ นี่คือสิ่งที่ Enzo Weber นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยตลาดแรงงานจาก Nuremberg ว่าไว้

ขณะที่ Christian Lindner รัฐมนตรีคลัง สมาชิกจากพรรค Free Demecrats วิจารณ์ว่า สัปดาห์การทำงานที่สั้นลงนี้ อาจคุกคามการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรืองของเยอรมนีได้ อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองก่อนหน้านี้ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาก็เสนอแนะว่าการทดลองเช่นนี้มีความเป็นไปได้ที่ Productivity จะเพิ่มขึ้น คนทำงานที่เข้าร่วมการทดลองนั้นมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีขึ้น อาการหมดไฟหรืออาการ Burnout ลดลง จากการศึกษาพบว่า บริษัทใดก็ตามที่เข้าร่วมการทดลองดังกล่าว ก็ล้วนวางแผนเหมือนๆ กันว่า จะไม่กลับไปทำงานสัปดาห์ละห้าวันเหมือนเดิมอีก

นอกจากอเมริกา แคนาดาแล้ว ก็ยังมีอังกฤษที่มีบริษัทมากถึง 61 แห่งเข้าร่วมโครงการทดลองด้วย ซึ่งก็ถือว่าเป็นการร่วมกลุ่มทดลองที่ใหญ่ที่สุด และผลการศึกษาก็พบว่ามีการลางานเพราะมีอาการป่วยลดลงถึง 65% ขณะที่โปรตุเกสก็พบว่า ระดับความกังวลและปัญหาการนอนไม่หลับลดลงราว 20% ส่วนบริษัทในเยอรมันเองก็หวังว่าจะได้รับผลประโยชน์เชิงบวกจากการทดลองแบบนี้ด้วยเหมือนกัน ซึ่งทางบริษัทเองก็เตรียมจะทำงานเพิ่ม ด้วยการเก็บตัวอย่างเส้นผมและข้อมูลจากนาฬิกาสำหรับการออกกำลังกายเพื่อติดตามระดับความเครียดให้แม่นยำมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีเบลเยียมที่เป็นประเทศแรกในยุโรปที่หันมาทำนโยบายทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ให้เป็นทางเลือกในปี 2022 แม้ว่าชั่วโมงในการทำงานยังคงเท่าเดิมเหมือนตอนที่ทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ก็ตาม ญี่ปุ่นก็สนับสนุนให้คนทำงานในระยะเวลาที่สั้นลงด้วย เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้คนมีลูกเพิ่มเพื่อรับมือกับประชากรสูงวัยที่เพิ่มมากขึ้น

ที่มา – Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา