KFC คือผู้นำในตลาด QSR หรือร้านอาหารบริการด่วน รวมถึงตลาดไก่ทอดอย่างไม่ต้องสงสัย และถึงจะเจอกับพิษต้นทุนการทำธุรกิจเพิ่มผ่านสงครามรัสเซียยูเครนจนราคาวัตถุดิบหลายตัวพุ่ง รวมถึงสถานการณ์กำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศไทยยังกลับมาไม่เต็มที่ แต่ KFC ที่บริหารโดย CRG ยังดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่ง
เพราะสิ้นปี 2023 มีการคาดการณ์ว่า จะมียอดขายราว 7,000 ล้านบาท เติบโต 11% เมื่อเทียบกับปี 2022 ที่ทำได้ 6,300 ล้านบาท โดยการเติบโตนั้นมีทั้งการได้อานิสงส์จากแคมเปญการตลาดของ KFC และการเดินหน้าขยายสาขา รวมถึงการนำดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนประกอบในการให้บริการ
แล้วปี 2024 KFC ภายใต้การบริหารของ CRG จะเดินหน้ากลยุทธ์อย่างไรเพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์ KFC ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ดังนี้
CRG กับการเดินหน้า KFC ด้วยดิจิทัล
ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์ KFC ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) เล่าให้ฟังว่า ภาพรวมตลาดอาหารบริการด่วน หรือ QSR ยังแข่งขันกันสูง แต่ยังขยายตัวได้เล็กน้อย ผ่านการมีมูลค่าตลาดที่ 45,000 ล้านบาท ในปี 2023
กลุ่มเมนูไก่ทอดยังกินสัดส่วนอันดับ 1 เช่นเดิม หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของตลาด และยังเติบโตได้ดี โดยมี KFC กินส่วนแบ่งเกือบทั้งหมดในตลาด แต่เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับการบริการ และขับเคลื่อนให้ตลาดเติบโต CRG จึงเตรียมแบ่งเงินลงทุน 500 ล้านบาท เปิดสาขาในรูปแบบดิจิทัล และปรับสาขาเดิมบางแห่งให้เป็นแบบดิจิทัลเช่นกัน
“ปี 2023 CRG เพิ่งลงทุน 17 ล้านบาท เพื่อปรับปรุง KFC สาขาศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ให้เป็นรูปแบบดิจิทัล โดยตัวร้านจะตกแต่งให้มีความทันสมัยขึ้น และมีตู้สั่งอาหารอัตโนมัติ ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบเทคโนโลยี รวมถึงมีการจัดกิจกรรมเพื่อจูงใจคนรุ่นใหม่ เช่น การปูเสื่อให้กินในร้าน ช่วยสร้างกระแสได้อีกทาง”
เร่งเครื่องเปิดสาขาใหม่ขับเคลื่อนตลาด
ในปี 2023 KFC ภายใต้การบริหารของ CRG มีการเปิดสาขาใหม่ 20 สาขา รวมมีทั้งหมด 335 สาขา ปี 2024 มีแผนเปิดสาขาราว 20 แห่ง เช่นกัน โดยเกือบทั้งหมดจะเป็นสาขาในรูปแบบดิจิทัล ทำให้ปี 2024 จะมีสาขารวมทั้งหมด 350 สาขา
“การเปิดสาขาเพิ่มทำให้เรายังหวังการเติบโตดับเบิลดิจิต โดยปี 2023 คาดว่าจะมีรายได้ราว 7,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปี 2022 ที่มีรายได้รวม 6,300 ล้านบาท โดยตัวเลขนี้คิดเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้ CRG ยิ่งมีศักยภาพของสาขาเมืองรอง และการขยายตัวของกลุ่มเซ็นทรัล การไปถึงเป้าหมายนี้ก็ยิ่งเป็นไปได้มากขึ้น”
ปัจจุบันลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ KFC ของ CRG จะมีค่าใช้จ่ายราว 200 บาท/บิล และในแต่ละสาขาจะมี 2,000 บิล/วัน เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปี 2022 โดย KFC และ CRG มีการทำเมนูใหม่ ๆ เพื่อจูงใจ และเน้นเพิ่มจำนวนบิลต่อสาขา มากกว่ามูลค่าต่อบิล เช่น เมนูหนังไก่ทอด, เครื่องดื่ม หรืออื่น ๆ
ผู้มีกำลังซื้อระดับบนกิน KFC อย่างน้อยเดือนละครั้ง
ปิยะพงศ์ มองว่า กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อระดับบนจะเข้ามารับประทาน KFC อย่างน้อยเดือนละครั้ง แต่ CRG ยังพยายามทำตลาดกับกลุ่มลูกค้าระดับกลาง และระดับเริ่มต้น เช่น เมนูที่ราคาไม่สูงจนเกินไป หรือราคาไม่ต่างกับเมนู Streetfood ในศูนย์การค้า
“KFC ของ CRG พยายามให้ Affordable Protein ให้กับทุกคน ควบคู่ไปกับการนำกระแสต่าง ๆ มายกระดับแบรนด์ แม้ตอนนี้แบรนด์ KFC จะเป็นที่รู้จักกว่า 96% และหากนับผู้ถือสิทธิ์ทำตลาดทั้ง 3 ราย จะมี KFC กว่า 1,000 สาขา ครอบคลุม 77 จังหวัด แต่เรื่องการสร้างแบรนด์ และทำตลาด มันหยุดแค่นี้ไม่ได้”
ด้านอัตราระยะเวลาใช้บริการของลูกค้า KFC จะเฉลี่ยที่ 1 ชม. และการปรับปรุงร้านให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น จะช่วยให้บริการต่าง ๆ ทำได้เร็วขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสลูกค้าเข้ามาใช้บริการเช่นกัน และถึงจะเจอการแข่งขันในตลาดทั้งแบรนด์ใหญ่ แบรนด์เล็ก แต่ KFC โดย CRG ไม่ได้เก็บมาคิด ผ่านการเน้นยกระดับตัวเองในฐานะผู้นำตลาดมากกว่า
ไม่ขึ้นราคาแม้ปัญหาต้นทุนยังกระทบต่อเนื่อง
ในทางกลับกัน ต้นทุนของการทำธุรกิจ เช่น วัตถุดิบ, ค่าแรง และค่าสาธารณูปโภค กลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ขึ้นราคาต่อเนื่องนับตั้งแต่การเริ่มต้นของสงครามรัสเซียยูเครน และถึงจะเริ่มปรับลงมาแล้ว แต่ยังไม่กลับมาถึงจุดเดิมก่อนเกิดสงครามดังกล่าว
- KFC ไทยมีหลักพันสาขา แต่มีแฟรนไชส์ 3 ราย แล้ว KFC ที่บริหารโดย CRG แตกต่างกับเจ้าอื่นอย่างไร?
- KFC, Pizza Hut, Heineken, ค่ายเพลงยักษ์ เดินหน้าระงับการทำธุรกิจในรัสเซีย
ส่วนเรื่องพนักงาน KFC ที่บริหารโดย CRG มีพนักงานทุกรูปแบบราว 6,000 คน ทำให้บริษัทต้องปรับตัวด้วยการคุมต้นทุนอื่น ๆ เช่น สาขาสแตนด์อโลนจะติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อลดค่าใช้จ่ายเรื่องไฟฟ้า หรือการเจรจากับคู่ค้าต่าง ๆ ด้วยการซื้อสินค้าให้มากขึ้น เพื่อให้ได้ราคาสินค้าเท่าเดิม เพราะไม่ต้องการขึ้นราคาเมนูต่าง ๆ
“ปีนี้เราต้องสู้กับ Cost Inflation รวมถึงเรื่อง Consumer Spending ที่ยังกลับมาไม่เต็มที่ ซึ่งเรามองว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในร้านจะช่วยแก้ไขปัญหา และสร้างการเติบโตในอนาคตได้ ยิ่งตอนนี้เทคโนโลยีไม่ใช่แค่ Nice to Have แต่คือ Foundation ของทุกธุรกิจแล้ว”
อ้างอิง // CRG
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา