พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลการวิเคราะห์เบื้องต้นของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อเงินเฟ้อทั่วไปว่า ปัจจุบันในภาพรวมของภาคการผลิตมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายจากการใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในสัดส่วนไม่สูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนรวมจึงเชื่อว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและอัตราเงินเฟ้อไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม การปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานและครอบครัว ขณะเดียวกันจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ และนำไปสู่การสูงขึ้นของภาวะเงินเฟ้อได้
ดังนั้น ปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยอยู่ระหว่าง 328-354 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ย 337 บาทต่อวัน ซึ่งถูกกำหนดจากคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 (มีมติฯ และบังคับใช้เมื่อ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา) และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับอัตราใหม่ของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในปี 2567 ทาง สนค. จึงวิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้น*ในกรณีว่าหากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม (โดยเฉลี่ย 337 บาทต่อวัน) ในอัตราระหว่าง 5% (353.85 บาทต่อวัน) และ 10% (370.70 บาทต่อวัน) จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคการผลิตและบริการในภาพรวม ดังนี้
ในภาคการผลิตที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากโดยต้นทุนจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.12 – 7.75% คือกลุ่มที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายแรงงานค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับต้นทุนรวมทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มสาขาการเกษตร เช่น
- การเพาะปลูกยางพารา
- การเพาะปลูกอ้อย
- การทำสวนมะพร้าว
- การทำไร่ข้าวโพด
- การทำไร่มันสำปะหลัง
- การปลูกพืชผัก
- การทำนา
ในกลุ่มสาขาบริการ ที่จะได้รับผลกระทบมาก เช่น
- การศึกษา
- การค้าปลีก
- การค้าส่ง
- บริการทางการแพทย์
- การบริการส่วนบุคคล (การซักรีด การตัดผม เสริมสวย)
ขณะที่ภาคการผลิตที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบน้อย โดยต้นทุนจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.03 – 0.65%
คือกลุ่มที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายแรงงานค่อนข้างต่ำในกลุ่มสาขาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการผลิต เช่น
- โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม
- อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
- การผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือวิทยุ โทรทัศน์ และการคมนาคม
- การผลิตก๊าซธรรมชาติ
- การผลิตยานยนต์
อย่างไรก็ตามการปรับค่าจ้างในอัตราข้างต้นจะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.41 – 1.77%
ในด้านผลกระทบต่อเงินเฟ้อ พบว่าจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนภาคการผลิตและบริการส่งผลต่อสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อในภาพรวมระดับราคาเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.27 – 1.04% สำหรับสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูงสุด 5 อันดับแรก คือ
- กลุ่มอาหารสำเร็จรูป
- ข้าว
- การสื่อสาร
- ผักสด
- ผลไม้สด
สาเหตุเพราะทั้ง 5 สินค้าและบริการนี้มีสัดส่วนน้ำหนักค่อนข้างสูงในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ และเกี่ยวข้องกับภาคการผลิตที่ใช้แรงงานค่อนข้างเข้มข้น ตัวอย่างเช่น
- กลุ่มอาหารสำเร็จรูป อยู่ในภาคการผลิตภัตตาคารและร้านขายเครื่องดื่ม
- ข้าว อยู่ในภาคการทำนา
- การสื่อสารอยู่ในภาคการผลิต บริการไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ และการสื่อสาร
- ผักสด อยู่ในภาคการผลิตการปลูกพืชผัก
ทั้งนี้ โดยสรุปแล้วการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากเดิม (โดยเฉลี่ย 337 บาทต่อวัน) ตั้งแต่ 5 – 10% จึงส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ดังนี้
- กรณีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 5% หรือ 353.85 บาทต่อวัน หากสถานประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างเฉพาะแรงงานที่จ่ายเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้น 0.41% และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.27%
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างแก่แรงงานทั้งระบบในองค์กร จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้น 0.88% และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.52%
2. กรณีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 10% หรือ 370.70 บาทต่อวัน หากสถานประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างเฉพาะแรงงานที่จ่ายเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้น 0.82% และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.55%
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างแก่แรงงานทั้งระบบในองค์กร จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้น 1.77% และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 1.04%
อย่างไรก็ตาม การส่งผ่านต้นทุนค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งหมดไปยังราคาสินค้าและบริการเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากภาคการผลิตในภาพรวมมีค่าใช้จ่ายจากการใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในสัดส่วนไม่สูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนรวม อีกทั้งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยหลาย อาทิ ภาวะการแข่งขันทางการค้า รสนิยมและกำลังซื้อของผู้บริโภคและสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป
“เชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการมีวิธีบริหารจัดการในหลายรูปแบบ อาทิ การกำหนดนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้าง สวัสดิการ ผลตอบแทน และโบนัสภายในองค์กร การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานเพื่อให้สอดคล้องกับค่าจ้าง การลงทุนด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และเครื่องจักรเพิ่มเพื่อทดแทนแรงงานคน ดังนั้น แม้ต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะส่งผ่านมายังราคาสินค้าและบริการได้ แต่การปรับขึ้นค่าจ้างดังกล่าวจะสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย สร้างความเป็นธรรมให้ระบบการจ้างงาน และสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ซึ่งจะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมในระยะต่อไป” นายพูนพงษ์ กล่าว
หมายเหตุ
*ในบทวิเคราะห์ของ สนค. นี้ใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และจำนวนผู้ใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ใช้ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและกระทรวงแรงงาน
ที่มา สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา