Jim Thompson คือแบรนด์ผ้าไหมชั้นนำจากประเทศไทย ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1951 หรือกว่า 70 ปีมาแล้ว ทั้งยังเป็นที่รู้จักในระดับโลกในฐานะแบรนด์ผ้าไหมที่มีการออกแบบ และมีคุณภาพสูง แต่หลังจากนี้ภาพลักษณ์ Jim Thompson จะไม่ได้เป็นแค่ผ้าไหมอีกต่อไป
ล่าสุด Jim Thompson เดินหน้ากลยุทธ์ Beyond Silk ภายใต้ผู้บริหารมืออาชีพ แฟรงก์ แคนเซลโลนี เพื่อยกระดับแบรนด์ Jim Thompson ไปสู่ Global Lifestyle Brand ที่มีทั้งสินค้าแฟชั่น, สินค้าตกแต่งบ้าน, ร้านอาหาร และบริการ, เรื่องราวความเป็นมาของแบรนด์ และงานศิลปะ
ทั้งหมดนี้ แฟรงก์ แคนเซลโลนี ย้ำว่าจะทำให้ Jim Thompson เทียบชั้นกับแบรนด์ระดับโลกที่มีสินค้า และบริการใกล้เคียงกันอย่าง Ralph Lauren และ Armani แล้วตัวองค์กรจะเดินหน้ากลยุทธ์ดังกล่าวให้ไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร Brand Inside อยากชวนมาหาคำตอบไปด้วยกันดังนี้
Beyond Silk คือ Tag Line ใหม่ของ Jim Thompson
แฟรงก์ แคนเซลโลนี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายสินค้าแบรนด์ Jim Thompson เล่าให้ฟังว่า Beyond Silk คือ Tag Line (วลีที่ชี้ให้เห็นภาพรวมของแบรนด์) ใหม่ของแบรนด์ Jim Thompson เนื่องจากปัจจุบันบริษัทได้ปรับเปลี่ยนการทำตลาดจากแค่ผ้าไหม สู่สินค้า และบริการอื่น ๆ
“เราก่อตั้งเมื่อปี 1951 โดย Jim Thompson อดีต O.S.S. (ปัจจุบันคือ CIA ของสหรัฐอเมริกา) ที่รักประเทศไทย รวมถึงผ้าไหมไทย และถึงเขาจะหายสาบสูญไปตั้งแต่ปี 1967 แต่ผ้าไหม และสินค้าของ Jim Thompson ยังทำตลาดเรื่อยมา จนกระทั่งทศวรรษ 2020 บริษัทเริ่มทำตลาดสินค้าอื่น ๆ และก้าวเข้าสู่ความเป็น Beyond Silk”
จากแค่ผ้าไหมที่ต้องนำไปตัดเย็บ ปัจจุบัน Jim Thompson มีการผลิตกลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่น Ready to Wear รวมถึงสินค้าตกแต่งบ้าน เช่น ผ้าม่าน, ร้านอาหาร รวมถึงเปิดให้เข้าชมบ้านของ Jim Thompson ในกรุงเทพฯ เพื่อศึกษาเรื่องราว และรับชมงานศิลปะที่เขาสะสมไว้
หวังเทียบชั้น Ralph Lauren และ Armani
การเดินหน้าสื่อสารเรื่อง Beyond Silk ของ Jim Thompson ทำให้ แฟรงก์ แคนเซลโลนี ตั้งเป้าว่า แบรนด์ Jim Thompson จะก้าวขึ้นสู่ Global Lifestyle Brand รายแรกของภูมิภาคเอเชีย ผ่านการทำตลาดสินค้า และบริการคล้ายคลึงกับ Ralph Lauren ในฝั่งสหรัฐอเมริกา และ Armani ในฝั่งยุโรป
“เรามีแผนระยะ 2-3 ปี เพื่อไปถึงเป้าหมายดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือการลงทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อปรับปรุงพื้นที่บ้าน Jim Thompson เมื่อประกอบกับลูกค้ากว่า 2 ล้านรายที่เข้ามาซื้อสินค้าใน 25 สาขา ทั่วประเทศไทย ผ่านการซื้อเฉลี่ย 7,000 บาท/คน มาจากคนไทย, จีน และญี่ปุ่น ทำให้แบรนด์เราค่อนข้างแข็งแกร่ง”
สำหรับสินค้าหลักที่ Jim Thompson จำหน่ายประกอบด้วย เสื้อผ้าผู้หญิง 27%, ผ้าพันคอ 22%, เสื้อผ้าผู้ชาย 16% และอื่น ๆ และปัจจุบัน Jim Thompson มีฐานสมาชิกราว 70,000 ราย และจะเป็น 1 แสนราย ภายในปี 2024 โดยสินค้าต่าง ๆ จะผลิตที่โรงงานในประเทศไทย 3 แห่ง ผ่านพนักงานรวมกันกว่า 600 คน
หาเงินทุนเดินหน้าแบรนด์โรงแรม และภาพยนตร์
ขณะเดียวกัน Jim Thompson ยังเตรียมเดินรุกธุรกิจโรงแรมเต็มรูปแบบ ผ่านการขายแบรนด์ให้กับองค์กรที่สนใจลงทุน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับหลายกลุ่มทุน เบื้องต้นอาจต้องรอ 3-5 ปีข้างหน้าถึงจะเห็นความชัดเจน ถือเป็นการพัฒนาของแบรนด์ที่เริ่มต้นจากผ้าไหมได้อย่างน่าสนใจ
นอกจากนี้ Jim Thompson ยังอยู่ระหว่างเจรจากับแพลตฟอร์มสตรีมมิงต่าง ๆ เพื่อพัฒนาภาพยนตร์ชุดของ Jim Thompson โดยบริษัทจะลงทุนหรือการวางบทภาพยนตร์ และนำบทเหล่านั้นไปเสนอให้กับแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในการร่วมพัฒนา และโครงการนี้ล่าช้ามาจากกำหนด เนื่องจากมีการประท้วงของสหภาพนักแสดงในสหรัฐอเมริกา
“โรงแรมบูทีค และที่พักอาศัยจะเปิดในกรุงเทพ ส่วนภาพยนตร์ชุดเชื่อว่าจะเห็นได้ในปี 2025 และในแผนการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เรายังเตรียมเปิดตัวแบรนด์ Maison Jim Thompson ที่เป็นสินค้าตกแต่งบ้าน เช่น Tebleware สำหรับลูกค้าทั่วไป รวมถึงปรับปรุงสาขาแฟล็กชิปที่สุรวงศ์ รวมมูลค่าลงทุน 100-150 ล้านบาท”
มีกำไรแล้ว หลังจากขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง
แฟรงก์ แคนเซลโลนี ยืนยันว่า ปัจจุบัน บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด จะมีผลกำไรในปี 2023 แน่นอน หลังจากประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง และต้องปิดหน้าร้าน และร้านอาหารบางแห่งในต่างประเทศเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย โดยตัวแปรสำคัญในการพลิกกลับมากำไรคือการเริ่มเดินหน้ากลยุทธ์ Beyond Silk
“เรากำลังจะเป็นองค์กรที่มีมูลค่ากิจการ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2024 และตอนนี้เรากำลังเน้นเรื่องผลกำไร ซึ่งสิ้นปี 2023 คาดว่าจะมีผลกำไรมากกว่าที่ปี 2017-2019 รวมกัน ผ่านการที่รายได้เริ่มฟื้นตัวกลับมาจากช่วงวิกฤติโควิด-19”
- ตามเทรนด์แบรนด์แฟชั่นซบ Ralph Lauren ยอดขายตก หลังสินค้ากึ่ง Luxury เริ่มไม่ตอบโจทย์ผู้ซื้อ
- เผยโฉม Central Village เอาท์เล็ตใกล้สุวรรณภูมิ ดีเดย์ 31 ส.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อ้างอิงจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด มีรายได้รวมปี 2022 1,259 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56% ขาดทุนสุทธิ 166 ล้านบาท ดีกว่าปีก่อน 77% และบริษัทยังขาดทุนสุทธิมาตั้งแต่ปี 2018 และเคยมีรายได้ลดลงต่ำสุดในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ 735 ล้านบาท ในปี 2564
อ้างอิง // Jim Thompson
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา