บริษัทสหรัฐฯ ผลิตเบียร์จากยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรม เผยจะทำให้รสชาติดีขึ้น ดีกว่าใช้สารแต่งกลิ่น

Berkeley Yeast เป็นหนึ่งในบริษัทผู้นำการผลิตยีสต์แบบตัดต่อพันธุกรรมหรือยีสต์ GM เพื่อนำไปทำเบียร์ โดยยีสต์เป็นองค์ประกอบหลักในการกลั่นเบียร์เพราะเป็นตัวเปลี่ยนน้ำตาลจากข้าวบาร์เลย์และธัญพืชให้เป็นแอลกอฮอล์และทำให้มีรสชาติเพิ่มเติม

Charles Denby ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารของ Berkeley Yeast เผยว่า บริษัทพยายามปรับปรุงรสชาติของเบียร์มาตลอด โดยการตัดแต่งและเปลี่ยนแปลงสาย DNA ของยีสต์เพื่อเพิ่มหรือนำยีนส์บางอย่างออก หนึ่งในสินค้าของบริษัทก็คือยีสต์ Tropics ที่ได้รับการดัดแปลงเพื่อให้มีรสชาติของเสาวรสและฝรั่ง

Denby กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของยีสต์ดีต่อผู้ผลิตเบียร์มากกว่าการพึ่งพาการเพาะปลูกและจัดกหาลูกพีช ที่ต้องอาศัยทั้งน้ำและปุ๋ยในการเพาะปลูก รวมทั้งยังดีกว่าการใช้สารแต่งกลิ่น

นอกจากใช้ยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อเพิ่มรสชาติ ยังใช้เพื่อนำรสชาติที่ไม่ต้องการออกได้อีกด้วย ขณะที่บริษัทกล่าวว่า มียีสต์อีกชนิดหนึ่งที่สามารถผลิตเบียร์เปรี้ยวแบบเบลเยี่ยมได้โดยใช้เวลาแค่นิดเดียวเมื่อเทียบกับกระบวนการปกติ

ในสหรัฐอเมริกาที่กฎหมายควบคุมอาหารดัดแปลงพันธุกรรมหรืออาหาร GM ไม่ได้เข้มงวดเท่าไรนัก ปัจจุบันมีบริษัทผลิตเบียร์ 3 แห่งแล้วที่ใช้ยีสต์ GM ของ Berkeley Yeast ได้แก่ Temescal, Alvarado Street และ Cellarmaker ส่วนในต่างประเทศ Denby กล่าวว่ากำลังศึกษาเรื่องกฎหมายควบคุมอาหารและเครื่องดื่ม GM

Omega Yeast Labs เป็นอีกหนึ่งบริษัทผู้ผลิตยีสต์ GM ที่ในช่วงกลางปีที่ผ่านมาได้ประกาศว่า ค้นพบยีนส์เฉพาะที่ทำให้เบียร์ขุ่นได้แล้ว และบริษัทจะใช้เทคโนโลยีดัดแปลงยีนส์ที่เรียกว่า Crispr/Cas9 ที่ทำให้นักวิจัยสามารถลบยีนส์นี้ออกจากสายพันธุกรรมของยีสต์ซึ่งจะป้องกันไม่ให้เบียร์ขุ่น

Ian Godwin ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การเพาะปลูกและผู้อำนวยการของ Queensland Alliance for Agriculture and Food Innovation กล่าวว่า การที่ผู้ผลิตเบียร์ในสหรัฐอเมริกาใช้ยีสต์ที่มาจากการดัดแปลงพันธุกรรมเป็นความลับที่คนในอุตสากรรมรู้กันหมด แต่ผู้บริโภคมักไม่รู้ข้อเท็จจริงเพราะเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมมักจะอยู่ในหน้าข่าวที่นำเสนอในแง่ลบ

Lagunitas Brewing บริษัทผู้ผลิตเบียร์ที่มี Heineken เป็นเจ้าของเผยว่า บริษัทยังไม่มีแผนที่จะใช้ยีสต์ GM แต่ก็กำลังทำการทดลองอยู่ Jeremy Marshall ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเบียร์ของบริษัทกล่าวว่า ที่จริงแล้วยีสต์ก็จะถูกกรองออกอยู่ดี และไม่มีส่วนประกอบที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมถูกผสมลงไปในผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย มีเพียงแค่สารแต่งกลิ่นที่เป็นเอนไซม์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตเบียร์รายอื่นไม่ได้ผลิตเบียร์ที่มาจากการตัดต่อพันธุกรรมเลย เพราะนักดื่มจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีนี้ บริษัทจึงต้องหาวิธีอื่นแทน

ตัวอย่างเช่น Carlsberg หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดในโลกสัญชาติเดนมาร์กมีนโยบายมายาวนานว่าจะไม่ใช้การดัดแปลงพันธุกรรมในกระบวนการพัฒนาส่วนผสมที่ใช้ผลิตเบียร์ไม่ว่าจะเป็นบาร์เลย์ ฮอปส์ (เป็นหนึ่งในพืชที่ใช้ต้มเบียร์) และยีสต์ รวมทั้งไม่ใช้ในกระบวนการการทำคราฟต์เบียร์ด้วย

แทนที่จะใช้ยีสต์ GM บริษัท Carlsberg หันมาพัฒนาการเพาะปลูกข้าวบาร์เลย์และฮอปส์สายพันธุ์ใหม่ ๆ ให้ทนต่อความร้อนและความแห้งแล้งได้ดีขึ้นแทนโดยอาศัยการผสมเกสรแบบดั้งเดิม โดยปัจจุบันเบียร์ลาเกอร์ของบริษัทที่วางขายทั่วไปก็ได้ใช้ข้าวบาร์เลย์สารพันธุ์ใหม่ที่เพาะปลุกง่ายขึ้นและรักษาความสดใหม่ได้ยาวนานขึ้นเรียบร้อยแล้ว

ที่มา – BBC

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา