คนเกิดน้อย ออกนโยบายกระตุ้นไม่สำเร็จ ก็ต้องหาทางเพิ่มจำนวนแรงงานต่างชาติมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพิ่มจำนวนแรงงานอย่างเดียว แต่ต้องออกนโยบายสนับสนุนให้คนอยากมาใช้ชีวิตด้วย
ผลสำรวจพบ นี่คือครั้งแรกของญี่ปุ่น ที่มีคนสูงวัยที่อายุมากกว่า 80 ปี เกิน 10% ของจำนวนประชากรทั้งหมดแล้ว
ประเทศญี่ปุ่น ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีประชากรสูงวัยมากที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลก รายงานจากรัฐบาลระบุว่า จำนวนประชากรล่าสุดของญี่ปุ่น คนสูงวัยที่อายุมากกว่า 80 ปี มีเกิน 10% จากจำนวนประชากรทั้งหมดที่มีอยู่ราว 125.7 ล้านคนแล้ว หมายความว่ามีคนสูงวัยที่อายุมากกว่า 80 ปีราว 12.5 ล้านคน
ประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่มีอายุเกิน 80 ปี คิดเป็นสัดส่วน 1 ต่อ 10 คน
สัดส่วนประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีมากถึง 29.1%
หลังจากที่อัตราการเกิดของญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำ ต่อเนื่องยาวนานหลายปี ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีบรรยากาศความเก่าแก่มากที่สุดในโลก ถ้าวัดจากสัดส่วนของจำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี พบว่า ปีนี้ทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์มีสัดส่วนราว 29.1% มีการคาดการณ์ว่าญี่ปุ่นจะมีอัตราประชากรลดลงน้อยกว่า 109 ล้านคนภายในปี 2045
ทั้งนี้ การใช้จ่ายงบประมาณด้านประกันสังคมของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ญี่ปุ่นมีหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ขณะเดียวกันก็ขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาว ส่งผลให้อุตสาหกรรมหลายภาคส่วนขาดแคลนแรงงานด้วย อย่างน้อยๆ ก็คือผู้ที่มีหน้าที่เป็นผู้ดูแลผู้สูงวัย ด้านนายกรัฐมนตรี Fumio Kishida ระบุว่า ประเทศมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียความสามารถในการขับเคลื่อนประเทศ หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นจริงจัง
หลังจากญี่ปุ่นพยายามจะเพิ่มอัตราการเกิดแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ต้องรับแรงงานจากต่างชาติจำนวนมากเข้าประเทศ เพื่อจะทดแทนการขาดแคลนแรงงาน ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีเด็กเกิดใหม่ในจำนวนน้อยกว่า 800,000 คนครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 ซึ่งประเทศในเอเชียอีกหลายประเทศก็ประสบปัญหาคนเกิดน้อยลงเช่นกัน เช่น เกาหลีใต้ และจีนที่เริ่มมีการเกิดน้อยลงครั้งแรกในปี 2022 ครั้งแรกในรอบ 60 ปี
อย่างไรก็ดี มีผลสำรวจโดย Kyodo News พบว่า 86% ของท้องถิ่นทั่วประเทศญี่ปุ่นต่างต้องการแรงงานต่างประเทศทั้งนั้น นี่คือแบบสำรวจจาก 47 จังหวัดทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่น ไม่ใช่แค่ความต้องการแรงงานต่างชาติที่พุ่งสูงขึ้น แต่งานหลายภาคส่วนของญี่ปุ่น ขาดแคลนแรงงานจนหัวหน้าหน่วยงานท้องถิ่นของภาครัฐประเทศญี่ปุ่นยังกังวลใจถึงการมีอยู่ของชุมชนด้วย
พวกเขากำลังกังวลว่าในที่สุดแล้ว ชุมชนเหล่านั้นมีความเสี่ยงที่จะสูญหายไป
ถ้าเทียบสัดส่วนความกังวลของหน่วยงานรัฐก่อนหน้า ที่ทำแบบสำรวจไว้ตั้งแต่ปี 2015 ความกังวลนี้อยู่ที่ระดับ 77% แต่ปัจจุบัน ความกังวลดังกล่าวเพิ่มเป็น 84% หมายความว่า ระยะเวลาผ่านไปไม่ได้ทำให้ความกังวลผ่อนคลายลงแต่ยิ่งทำให้กังวลมากขึ้น กังวลว่าบางชุมชนอาจจะหายสาบสูญไปจริงๆ เพราะผู้คนค่อยๆ ล้มหายตายจากไป
ผลสำรวจครั้งล่าสุดที่ทำในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม โดยสถาบันวิจัยของญี่ปุ่น (National Institute of Population and Social Security Research) ได้นำจำนวนประชากรในเดือนเมษายน ปี 2020 มาคาดการณ์ มีการประเมินว่าคนต่างชาติในญี่ปุ่นจะเพิ่มมากขึ้นราว 10% ในปี 2070 ทั้งที่ปี 2020 มีเพียง 2% เท่านั้น
ในปี 2070 ยังคาดการณ์ว่า จำนวนประชากรจะลดลงราว 30% เป็น 87 ล้านคน โดยคนอายุ 65 ปีขึ้นไปจะมีมากเกือบ 40% มีการทำผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง ในประเด็นที่ว่า ควรสนับสนุนให้มีการนำแรงงานต่างชาติเข้าประเทศ มีคนเห็นด้วยและคิดว่าจำเป็น 30% มีคนคิดว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจำเป็นราว 56% มีคนเห็นค้านและไม่เชื่อ ไม่คิดว่าเป็นเรื่องจำเป็น และไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นราว 8% เท่านั้น
มีผู้นำท้องถิ่นราว 16 จังหวัด ลงความเห็นว่า พวกเขาเห็นว่าแรงงานต่างชาตินั้นสำคัญจริงๆ สัดส่วนการยอมรับความคิดเห็นนี้สูงถึง 90% ในขณะที่จังหวัด Shimane (ตั้งอยู่ในภูมิภาคชุโงะคุ (Chūgoku) ริมฝั่งตะวันตกของเกาะฮอนชู) และ จังหวัด Kōchi (ตั้งอยู่ในภูมิภาคชิโกกุ) เห็นด้วย 100% ว่าควรนำแรงงานต่างชาติเข้ามา
ไม่ใช่แค่ต้องการนำแรงงานต่างประเทศเข้าญี่ปุ่นเท่านั้น แต่หน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นราว 63% ยังระบุว่า ตอนนี้ได้พยายามยกระดับการให้ความช่วยเหลือชาวต่างชาติที่มาพำนักอาศัยในญี่ปุ่นเพื่อให้มีความเกี่ยวพันกับท้องถิ่นมากขึ้นแล้ว ด้วยการเปิดให้มีการสอนภาษาญี่ปุ่นมากขึ้น พยายามแปลข้อมูลข่าวสารในท้องถิ่นให้มีหลากหลายภาษาด้วย
นอกจากนี้ ราว 20% ยังระบุว่า ได้จัดหามาตรการกระตุ้นทางการเงินแก่บริษัทต่างๆ ให้จัดจ้างแรงงานต่างชาติมากขึ้น มีโครงการจับคู่ระหว่างธุรกิจและแรงงานต่างชาติด้วย
ผลสำรวจนี้ ดำเนินการโดยการส่งคำถามไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดรวมทั้งหมด 47 จังหวัดทั่วประเทศญี่ปุ่น และหัวหน้าเมืองอีก 1,741 แห่ง ได้รับการตอบรับจากผู้คน 1,682 คน หรือประมาณ 94%
ที่มา – Bloomberg, Japan Today
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา