จับตาวิกฤติ NT มีพนักงานกว่า 14,000 คน อายุเฉลี่ย 50 ปี แต่ปี 2027 อยากลดให้เหลือแค่ 7,000 คน

NT หรือ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ ยังอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างองค์กรต่อเนื่อง เพราะอยู่ในภาวะขาดทุน รวมถึงธุรกิจที่ให้บริการอยู่ต่างแข่งขันกับบริษัทเอกชนได้ลำบาก ซึ่งหนึ่งแผนดังกล่าวคือการปรับลดพนักงานจาก 14,000 คน ให้เหลือ 7,000 คน ภายในปี 2027

จุดที่น่าสนใจคือ NT มีอายุพนักงานเฉลี่ยเกือบ 50 ปี โดยมีคนที่อายุมากกว่า 50 ปี อยู่กว่า 4,000 คน และไม่มีการประกาศรับพนักงานใหม่มาระยะหนึ่ง ดังนั้นการให้เออรี่รีไทร์เพื่อปรับลดพนักงานจะทำให้องค์กรขาดผู้บริหารระดับกลาง รวมถึงฝ่ายปฏิบัติการที่จะขับเคลื่อนองค์กรหลังจากนี้

NT จะแก้ปัญหาอย่างไร การทำงานยุคใหม่ในองค์กรเก่าแก่จะเกิดขึ้นหรือไม่ และอนาคตหลังจากนี้ของ NT จะเดินหน้าไปทางไหน พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

NT
ภาพจาก NT

เกษียณ ประเมิน และเออรี่รีไทร์ คือสิ่งที่ต้องทำ

พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบัน NT มีพนักงานประจำทั้งหมด 14,000 คน ไม่รวมพนักงานสัญญาจ้าง ซึ่งจำนวนนี้ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับสถานะธุรกิจในปัจจุบันที่ยังอยู่ในช่วงขาดทุน

NT จึงตั้งแผนลดจำนวนพนักงานลง 40-50% ภายในสิ้นปี 2027 เพื่อควบคุมต้นทุน เพราะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานคิดเป็น 30-40% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกอบด้วยการเกษียณตามระยะเวลาทำงาน, การประเมินประสิทธิภาพที่ได้จากการทำงาน และการเออรี่รีไทร์

“ปี 2023 เราตั้งเป้ายอดเออรี่รีไทร์ไว้ 1,600 คน แต่สุดท้ายทำได้จริง 800 คน เพราะพนักงานมองว่าเดี๋ยวก็จะมีสิทธิประโยชน์ที่ดีกว่าในปีถัดไป เราจึงต้องปรับแผนกันใหม่ เช่น ถ้าอายุเกิน 57 แล้วไม่ยอมเข้าโครงการ ก็จะไม่ให้เข้า และเดินหน้าสู่การประเมินการทำงานว่าทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่”

อายุเฉลี่ยพนักงานเกือบ 50 ปี ทำองค์กรเดินหน้าลำบาก

ปัจจุบัน NT มีอายุเฉลี่ยพนักงานเกือบ 50 ปี และไม่มีการรับพนักงานใหม่มานานแล้ว ดังนั้นหากปรับลดพนักงานจาก 14,000 คน ให้เหลือ 7,000 คน ภายในปี 2027 จะทำให้องค์กรเดินหน้าลำบาก ผ่านการไม่มีพนักงานปฏิบัติการ และผู้บริหารระดับกลางเพียงพอ

“NT จูงใจคนรุ่นใหม่ได้ลำบาก เพราะฐานเงินเดือนเริ่มต้นเราต่ำ กฎระเบียบเยอะ และมีสายงานบังคับบัญชาชัดเจน แต่เราก็ดูอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้พวกเขามาร่วมงาน เช่น การศึกษาเรื่อง Work from Anywhere ผ่านการปรับปรุงอาคารที่มีอยู่หลายแห่งให้ทำงานแบบยุคใหม่ได้”

พันเอก สรรพชัยย์ ยกตัวอย่างการปรับปรุง NT ให้เป็นองค์กรยุคใหม่ เช่น การปรับเป็นโฮลดิ้งขนาดเล็กที่บริหารแค่โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาเพื่อทำตลาดบริการต่าง ๆ คล้ายกับกรณีของธนาคารกรุงไทย ที่มีบริษัทย่อยที่ทำงานได้อย่างอิสระ ไม่ติดเรื่องข้อบังคับ และสายงานบังคับบัญชา

เงินเดือนต้องขึ้น แม้ประสบปัญหาขาดทุน

อีกเหตุผลที่ NT ต้องลดจำนวนพนักงานอย่างเร่งด่วน เพราะแม้จะประสบภาวะขาดทุน แต่องค์กรยังจำเป็นต้องขึ้นเงินเดือนในแต่ละปีให้พนักงานไม่เกิน 5.5% และไม่สามารถต่อรองได้ จึงเป็นอีกเหตุผลที่ค่าใช้จ่ายของพนักงานกินสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมด

“ปกติแล้วถ้ารัฐวิสาหกิจกำไรก็ต้องขึ้นเงินเดือนไม่เกิน 6.5% และถ้าขาดทุนก็ต้องขึ้นไม่เกิน 5.5% มันก็ลำบากถ้าจะบอกว่าไม่ขึ้นเงินเดือนเลยได้หรือไม่ และอาจต้องให้พวกเขารับรู้ว่าเราขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง คล้ายกับกรณีของ บมจ. ทีโอที ที่ขาดทุนต่อเนื่อง จนเจรจาให้พนักงานเข้าใจว่าเราขึ้นเงินเดือนได้แค่ 3% เท่านั้น”

นับตั้งแต่ปี 2021 NT ได้งบประมาณการทำเออรี่รีไทร์ราว 4,000 ล้านบาท/ปี แต่ปี 2021, 2022 และ 2023 ไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย จึงต้องปรับปรุงแผน หรือกลยุทธ์จูงใจให้พวกเขาตัดสินใจเออรี่รีไทร์เพื่อช่วยเหลือองค์กรให้เดินหน้าในอนาคตได้

ครึ่งแรกปี 2023 ขาดทุนสุทธิ 638 ล้านบาท

สำหรับ NT ในครึ่งแรกของปี 2023 บริษัทมีรายได้รวม 42,447 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายรวม 40,900 ล้านบาท EBITDA 10,197 ล้านบาท เบื้องต้นกำไรสุทธิ 1,547 ล้านบาท แต่หากนับรวมค่าใช้จ่ายจากโครงการเออรี่รีไทร์ 851 คน คิดเป็นเงิน 2,185 ล้านบาท จะทำให้ขาดทุนสุทธิ 638 ล้านบาท

รายได้รวมครึ่งแรกปี 2023 จำนวน 42,447 ล้านบาท แบ่งได้เป็น

  • กลุ่มธุรกิจอินฟรา 4,807 ล้านบาท
  • กลุ่มธุรกิจระหว่างประเทศ 1,107 ล้านบาท
  • กลุ่มโมบาย 23,497 ล้านบาท แบ่งเป็นจากบริการรของ NT 1,194 ล้านบาท กับพันธมิตร 22,303 ล้านบาท
  • กลุ่มบรอดแบนด์ 9,289 ล้านบาท ผ่านลูกค้า 1.8 ล้านราย แทบไม่เติบโตจากปีก่อน
  • กลุ่มดิจิทัล 2,032 ล้านบาท
  • อื่น ๆ 9 ล้านบาท

หากเจาะไปที่ธุรกิจโมบายจะพบว่า NT มีจำนวนผู้ใช้บริการราว 2 ล้านเลขหมาย แทบไม่เติบโตจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในไตรมาส 4 ปี 2023 จะเริ่มให้บริการ 5G บนคลื่น 700 MHz เนื่องจากสัญญาใช้คลื่น 850 MHz จะสิ้นสุดปี 2025 จึงจำเป็นต้องย้ายลูกค้าขึ้นมาใช้บริการบนคลื่นใหม่

“ในอดีตธุรกิจโมบายของเราคือ Stars เพราะ 3 เจ้าใหญ่ของตลาดซื้อโฮลเซลลืของเราทั้งหมด ซึ่งเราได้รายได้ส่วนนี้ไปกว่า 10,000 ล้านบาท แต่เมื่อคลื่น 850 MHz มันสิ้นสุดก็ต้องหาว่าธุรกิจอะไรจะสร้างรายได้ให้เรา 10,000 ล้านบาท/ปี ส่วนคลื่น 2600 MHz เราคาดว่าไตรมาส 1 ปี 2024 จะเริ่มให้บริการได้สำหรับลูกค้าองค์กร”

ทั้งนี้ NT วางแผนคาดการณ์ภาพรวมปี 2023 ขาดทุนราว 4,000 ล้านบาท แต่ถึงสิ้นปียังกำไรหากไม่รวมค่าใช้จ่ายเออรี่รีไทร์ ดังนั้นสิ้นปี 2023 มีโอกาสกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง หากไม่มีเหตุการณ์อื่น ๆ เช่น การจัดการเรื่องกฎหมายคดีความ หรือการตัดจ่ายทรัพย์สินต่าง ๆ เพิ่ม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา