ไหนบอกแค่ทำงานตาม JD รู้ตัวอีกทีทำครอบจักรวาล Say No กับงานอย่างไรให้ดูดี

ตอนสมัครงานบอกให้ทำอย่างหนึ่ง แต่พอทำจริง ๆ โอ้โห มากมายมหาศาล!!

ตอนสัมภาษณ์งานคุยกันไว้ดิบดีว่าขอบเขตงานของเราอยู่ตรงนี้ แค่ทำส่วนของตัวเองให้ดีก็พอ แต่พอเข้ามาทำงานได้สักพัก สิ่งที่เขียนใน Job Description ก็ไม่มีความหมาย กลายเป็นว่าต้องทำงานควบหลายหน้าที่

“ช่วย ๆ กันหน่อยนะ”
“ฝากดูอันนี้ที”
“ช่วยดูอันนั้นหน่อย”

หัวหน้าพูดขนาดนี้ จะปฏิเสธตรงๆ ก็คงจะดูไม่ดี 

ยิ่งทำงานเก่ง ยิ่งเป็นงาน ยิ่งตกเป็นเป้าเพราะทำให้หัวหน้าเข้าใจไปเองว่าชอบความท้าทาย ชอบหาโอกาสใหม่ ๆ แถมยังทำได้ดีอีกต่างหาก นานวันกลายเป็นว่า งานตัวเองก็ทำได้ไม่ดี งานนอก JD ที่รับปากไว้ก็ไม่เสร็จ พอจะ Say No ก็กลัวจะกลายเป็นแล้งน้ำใจ สุดท้ายก็กลายเป็นคนขี้เกียจในสายตาเพื่อนร่วมงาน

คนส่วนใหญ่ไม่กล้าปฏิเสธงานเพราะกลัวผลที่ตามมา บางคนก็ยอมทำงานเพราะหวังว่าจะได้ผลตอบแทนอาจเป็นเงินเดือนที่มากขึ้น โบนัส หรือความไว้ใจจากหัวหน้า บางทีก็เป็นงานที่ทำให้ได้พิสูจน์ตัวเอง ทำสิ่งที่ท้าทาย ไม่จำเจ แต่ก็มีงานที่ควรปฏิเสธไปเหมือนกัน แต่การปฏิเสธก็ต้องใช้ศิลปะมากกว่าพูดไปตรง ๆ ว่า “นี่ไม่ใช่งานใน JD ของฉันนะ”

เมื่องานนอก JD เริ่มเบียดบังชีวิต เมื่อไรที่ควร Say No ไปเลยดี

เมื่องานนั้นบดบังงานหลักที่ต้องรับผิดชอบ

ถ้างานใหม่ที่ที่ถูกขอให้ทำไม่ได้เกี่ยวข้องกับขอบเขตความรับผิดชอบแม้แต่นิดเดียว ทั้งยังบดบังเวลาที่จะทำงานหลักให้มีคุณภาพได้ แถมไม่ได้ทักษะและผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับแรงกายแรงใจที่เสียไป เหมือนอยู่ทีม Product แต่ดันถูกขอให้ทำงาน Marketing ก็คงถึงเวลาจะต้องปฏิเสธแล้ว

ศิลปะในการ Say No กับงานประเภทนี้ แทนที่จะเผาสะพานแบบตัดบท ให้เปลี่ยนเป็นการให้เหตุผลตามตรงว่า ถ้าเราช่วยงานนี้ งานหลักของเราก็จะมีปัญหา แถมเพื่อนในทีมก็อาจจะต้องมาเป็นเดอะแบกเพื่อทำงานให้เราขณะที่เราต้องใช้เวลาไปกับงานใหม่ ศิลปะในการปฏิเสธงานแบบนี้มีงานวิจัยรับรองว่า จะทำให้เราดูเป็นคนที่ใส่ใจและมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเองมากขึ้น

เมื่องานนั้นเป็นของคนอื่น

ในภาษาอังกฤษมีสำนวนว่า “Stay In Your Lane” ที่หมายถึงการโฟกัสกับงานของตัวเองแทนที่จะไปทำงานของคนอื่นหรือของทีมอื่นในโลกการทำงานที่แสนจะซับซ้อน

ในยุคที่การทำงานไม่ใช่แค่งานใครงานมัน แต่เป็นการร่วมมือกันระหว่างทีมทำให้บางทีก็เผลอทำงานของคนอื่นไปโดยรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง อย่างเซลล์ที่ไป ๆ มา ๆ กลายเป็นคอลเซนเตอร์คอยตอบปัญหาลูกค้า หรือคนในทีมที่เผลอไปทำงานที่บริหาร วางทิศทางของทีมแแทนหัวหน้า ถ้ารู้ตัวแล้วก็สามารถปฏิเสธไปว่าการที่มาทำงานข้ามทีมกับแบบนี้ก็ยิ่งทำให้เกิดความสับสน งานติดขัด ไม่ราบรื่นเท่าที่ควร

ทั้งนี้ ถ้ามองว่าการทำงานเพิ่มเติมช่วยให้มีส่วนร่วมกับบริษัทมากขึ้นและทำให้สามารถเติบโตในหน้าที่การงานได้ ก็ยังทำต่อไปได้ แต่ก็ควรวางแผนให้ชัดเจนและตอบคำถามกับตัวเองให้ได้ว่างานที่กำลังทำอยู่ให้อะไรกับเรา และการทำงานหนักขึ้นไปให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าหรือไม่ซึ่งความคุ้มค่านี้ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนไปอีก

เมื่องานนั้นดูจะไม่จบไม่สิ้นสักที

ก่อนรับปากทำโปรเจคใหม่ ถามเพื่อให้แน่ใจก่อนว่างานนี้เกี่ยวข้องกับอะไร ต้องทำงานร่วมกับทีมไหนบ้าง แล้วต้องทำงานนี้ไปถึงเมื่อไรกว่าโปรเจคนี้จะเสร็จสมบูรณ์ ต้องเข้าประชุมที่สุดแสนจะยาวนานบ่อยครั้งแค่ไหน

ถ้าเป็นงานใหญ่ที่ดูไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีแผนงานที่ชัดเจน อาจจะต้องเสนอตัวช่วยงานสเกลที่เล็กลงมาแทน อาจจะเข้าร่วมประชุมเพื่อระดมไอเดียหรือช่วยเสนอแผนงาน แต่ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมงานเริ่มตั้งแต่ต้นจนจบงาน

การ Say No อย่างมีศิลปะในสถานการณ์แบบนี้ทำได้ด้วยการขอบคุณที่หัวหน้าให้โอกาสได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ พร้อมอธิบายไปว่าตัวเราอาจไม่มีความพร้อม ไม่ถนัดพอที่จะทำให้โปรเจคที่น่าสนใจนี้บรรลุเป้าหมายได้

เมื่องานนั้นดูไม่สมเหตุสมผล

ลองจินตนาการว่าหัวหน้าสั่งให้เราคิดแผนธุรกิจที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเลยภายใน 2 วัน ก็คงจะต้องปฏิเสธดีกว่าทุ่มหมดหน้าตักเพื่อฝืนทำงานที่ไม่น่าจะทำได้จริงภายในเดดไลน์ที่กระชั้นชิดขนาดนี้ 

ถ้าเจอแบบนี้ อาจ Say No ด้วยการประนีประนอมว่า เราคงไม่สามารถจะทำรายงานนี้ให้เสร็จภายใน 2 วันได้หรอก แต่เราสามารถทำดราฟต์แรกให้เสร็จภายในอีก 2 วันได้นะ หรืออาจปรับเปลี่ยนเวลาให้ยืดหยุ่นมากขึ้นด้วยการบอกหัวหน้าว่า เรารู้ว่างานนี้มีความสำคัญ แต่ถ้าจะให้ส่งงานในอีก 2 วันก็เร็วเกินไป ขอเลื่อนเวลาไปอีกซัก 1-2 วันได้ไหม

อีกวิธีที่ทำได้ก็อาจเป็นการแนะนำคนที่มีความเชี่ยวชาญและน่าจะทำงานนั้นออกมาได้ดี อาจจะพูดว่า นี่ไม่ใช่งานที่เราถนัด แต่จะส่งอีเมลรายชื่อคนที่ถนัดในเรื่องนี้และน่าจะช่วยงานนี้ได้ไปให้หัวหน้า

ในโลกของการทำงานที่ต้องคีพลุคการเป็นมือโปรตลอดเวลา การปฏิเสธงานก็อาจทำให้รู้สึกผิดกับตัวเอง รู้สึกผิดกับทีมโดยเฉพาะเมื่อทุกคนต่างมีงานล้นมือ ในความเป็นจริงเราไม่สามารถ Say No กับงานทุกอย่างที่อยู่นอกความรับผิดชอบได้อย่างสบายใจ แต่การปฏิเสธงานไปบ้างถ้ามีเหตุผลที่สมควรจะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น ไม่ต้องคิดวนเวียนในหัวว่าจะเอาเวลาที่ไหนไปทำงานที่กองพะเนินให้เสร็จทันเวลา

ที่มา – HBR, HBR 2, Washington Post

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา