REIC เผยไตรมาส 2/2023 ดัชนีราคาที่ดินเปล่า ในกรุงเทพฯ เพิ่ม 6.2% แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อน COVID-19

วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC)  เปิดเผยว่า ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา ในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ไตรมาส 2 ปี 2566 มีค่าดัชนีเท่ากับ 376.5 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ลดลง 2.4%  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนายังคงมีทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เห็นการชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกปีนี้เนื่องจากตลาดเริ่มชะลอตัวลงจากปัจจัยลบต่างๆ

โดยบริเวณที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาตามเส้นทางรถไฟฟ้าที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงราคาสูงสุดในไตรมาส 2/2023 นี้ 5 อันดับแรกได้แก่

  1. สายสีเขียว (สมุทรปราการ-บางปู) เพิ่มขึ้น 11.4%YoY
    สายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) เพิ่มขึ้น 11.4%YoY
  2. สายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) เพิ่มขึ้น 4.5%YoY
  3. สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง) เพิ่มขึ้น 3.8%YoY
    MRT เพิ่มขึ้น 3.8%YoY
  4. สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต) เพิ่มขึ้น 3.3%YoY
    สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) เพิ่มขึ้น 3.3%YoY
  5. สายสีแดงเข้ม (หัวลำโพง-มหาชัย) เพิ่มขึ้น 2.4%YoY

ทั้งนี้อัตราการเพิ่มของดัชนีราคาที่ดินในไตรมาส 2/2023 นี้ ยังเป็นการเพิ่มในอัตราที่ที่ต่ำกว่าอัตราค่าเฉลี่ย 5 ปี ในช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 (ปี 2558 – 2562) ซึ่งมีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 14.8%YoY จากไตรมาส 2 ปี 2565 ขณะที่อัตราเฉลี่ยของอัตราการเปลี่ยนแปลงจากไตรมาสก่อนหน้าเพิ่มขึ้นถึง 4.1%QoQ แสดงให้เห็นอัตราเร่งของดัชนีราคาที่ดินในช่วงดังกล่าวที่สูงกว่าปัจจุบัน  

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้ราคาที่ดินเปล่ามีการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง ได้แก่ 

  • เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปี 2023 ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 
  • การยกเลิกการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของ ธปท.
  • ภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงมีอัตราส่วนที่สูงถึง 90% ของ GDP 
  • ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น 

ทั้งนี้หมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถในการซื้อและการผ่อนชำระที่อยู่อาศัยของประชาชนลดลง จึงกระทบต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัยชะลอตัว ดังนั้นผู้ประกอบการจึงชะลอแผนในการเปิดขายโครงการใหม่ในปีนี้ถึงปี 2024 มีผลให้เกิดการชะลอการซื้อที่ดินเปล่าเพื่อรองรับการพัฒนาลงบ้างในหลายทำเล ขณะเดียวกันรัฐบาลได้ประกาศจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มอัตราในปี 2023 จึงทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับแผนการซื้อที่ดินสะสมเพื่อรองรับการพัฒนาโครงการในอนาคต  ส่งผลให้ความต้องการซื้อที่ดินสะสมในตลาดเพื่อเป็น Land Bank ลดลง เพื่อควบคุมภาระต้นทุนจากการถือครองที่ดิน โดยภาระภาษีที่ดินฯ ซึ่งเป็นต้นทุนในการพัฒนาโครงการในระยะต่อไป

ที่มา – ศูนย์ข้อมูลสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา