จะซื้อรถต้องมีที่จอดก่อน! ส่องกฎหมายประเทศในเอเชีย ย้อนร้อยกรณีจอดรถขวางทางเข้าบ้านคนอื่น

เมื่อไม่กี่วันมานี้ เกิดกรณีความขัดแย้งเรื่องการจอดรถบนขวางทางเข้าบ้านจนวิดีโอที่คู่กรณีถกเถียงกันถูกเผยแพร่ลงในโซเชียลมีเดียจนเกิดการตั้งคำถามเรื่องความเหมาะสม

กรณีจอดรถขวางทางพื้นที่ของผู้อื่นไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เรื่องรถและที่จอดรถเป็นปัญหาหนักที่กวนใจใครหลายคนมาตลอดแม้ว่าอาจจะไม่ใช่ปัญหาคอขาดบาดตายอย่างเรื่องปากท้อง

ยิ่งในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมาณรถยนต์ส่วนตัวมีมากเกินกว่าพื้นที่ถนนจะรับไหวจนภาพการจอดรถซ้อนคันทั้งตามท้องถนนในพื้นที่ชุมชน ที่จอดรถในห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงที่จอดรถในบริเวณหมู่บ้านและที่พักอาศัย 

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) เผยรายงานว่า เมืองควรมีสัดส่วนพื้นที่ถนนต่อพื้นที่ทั้งหมดของเมืองไม่ต่ำกว่า 20%-25% แต่ในกรุงเทพฯ สัดส่วนของพื้นที่ถนนและพื้นที่เมืองมีอยู่แค่ 7% เท่านั้น 

ปัญหามีรถแต่ไม่มีที่จอดรถไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยที่เดียว ลองมาดูญี่ปุ่นที่มีกฎหมายแก้ปัญหาจอดรถขวางทางมาตั้งแต่ปี 1962 และฟิลิปปินส์ที่ยังคงเป็นร่างกฎหมายแต่ก็ถือว่าก้าวนำไทยไปอีกก้าว รวมทั้งสิงคโปร์ที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมพื้นที่การจราจรหนาแน่น

ญี่ปุ่น – “Shako shomei sho” ใบรับรองว่ามีที่จอดรถ

หากอยู่ในประเทศไทยแล้วอยากจะมีรถสักคัน สิ่งที่ต้องมีก็คงจะเป็นความสามารถในการจ่ายเงินซื้อรถ แต่ในญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีเงินเพียงพอ ก็ไม่สามารถซื้อรถยนต์ได้หากไม่มี “Shako shomei sho” หรือใบรับรองว่ามีที่จอดรถ

แม้ว่าจะเป็นประเทศผู้นำการผลิตรถยนต์เจ้าใหญ่อย่าง Toyota, Honda หรือจะเป็น Isuzu แต่ภายใต้กฎหมาย 1962 Garage Act ผู้ที่ต้องการจะซื้อรถยนต์ส่วนตัวหรือผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์และต้องการย้ายที่อยู่อาศัยจะต้องมีใบรับรองว่ามีที่จอดรถที่ออกโดยสำนักงานตำรวจในท้องถิ่น โดยกฎหมายกำหนดว่าที่จอดรถจะต้องอยู่ภายในระยะทาง 2 กิโลเมตรนับจากที่พักอาศัย

ที่จอดรถในเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ส่วนเอกสารที่จำเป็นสำหรับการขอใบรับรองที่จอดรถ ก็อย่างเช่น แผนที่ที่จอดรถและสถานที่โดยรอบที่มีตราประทับรับรอง นอกจากใบรับรองว่ามีที่จอดรถแล้ว หากต้องการจะเช่าหรือซื้อรถยนต์อย่างถูกกฎหมายในญี่ปุ่นก็จำเป็นจะต้องมีใบขับขี่ของญี่ปุ่นหรือใบขับขี่สากลที่มีอายุเกิน 3 เดือนและได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ที่จอดรถที่ได้รับการรับรองไม่จำเป็นว่าผู้ซื้อหรือเจ้าของรถยนต์จะต้องเป็นเจ้าของที่จอดรถนั้น ๆ จะเป็นที่จอดรถให้เช้าก็ได้ เมื่อได้รับใบรับรองว่ามีที่จอดรถแล้ว จึงจะสามารถนำใบรับรองไปยื่นต่อผู้ขายรถยนต์เพื่อซื้อรถยนต์ได้

ส่วนใหญ่แล้วที่จอดรถในญี่ปุ่นจะต้องเสียค่าช่าที่เป็นรายเดือน โดยค่าเช่าที่จอดรถจะแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ ขณะที่การจอดรถบริเวณริมถนนเป็นไปได้ยากมากที่จะไม่เสียค่าปรับและถูกล็อกล้อ ส่วนการจอดรถซ้อนคันแบบในประเทศไทยเรียกได้ว่าแทบเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ ระบบขนส่งสาธารณะของญี่ปุ่นถือว่าครอบคลุมและมีประสิทธิภาพอย่างมากจนการใช้รถยนต์ไม่ได้เป็นวิธีหลักที่คนใช้ในการเดินทาง

บรรยากาศบนรถไฟฟ้าญี่ปุ่นที่เป็นการขนส่งสาธารณะหลักที่คนนิยมใช้กัน

ฟิลิปปินส์ – No Garage, No Registration Act

หลังจากดูญี่ปุ่นที่มีกฎหมายใบรับรองที่จอดรถมาตั้งแต่ปี 1962 มาแล้ว ลองมาดูร่างกฎหมายของฟิลิปปินส์กันบ้าง ที่แม้ตอนนี้จะยังไม่ได้เป็นกฎหมายบังคับใช้จริง แต่ก็อาจเป็นตัวอย่างให้ไทยได้เพราะมีสภาพการคมนาคมคล้ายกัน

ฟิลิปปินส์เป็นอีกประเทศที่คนใช้รถยนต์เป็นหลักเพราะระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ จนปริมาณรถยนต์มีมากและพื้นที่จอดรถไม่เพียงพอ ภาพการจอดรถริมถนนจนกินพื้นที่ถนนเข้ามาที่เราเห็นในกรุงเทพฯ ก็เห็นได้ในฟิลิปปินส์เช่นเดียวกัน

รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องจอดรถริมถนนและในที่ห้ามจอด เมื่อปีที่แล้ว Lord Allan Velasco สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของฟิลิปปินส์ได้เสนอร่างกฎหมาย House Bill No.31 หรือ No Garage, No Registration Act

การจราจรติดขัดบนถนนในกรุงมะนิลา เมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์

ร่างกฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์ที่อาศัยหรือมีธุรกิจอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ อย่างเช่น กรุงมะนิลา แองเจลลิส ดาเบา จะต้องยื่นเอกสารแสดงหลักฐานว่ามีที่จอดรถซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบโรงจอดรถหรือพื้นที่จอดรถให้เช่าก็ได้เพื่อซื้อรถยนต์และยื่นขอทะเบียนรถกับกรมการขนส่งทางบกของฟิลิปปินส์ 

ภายใต้กฎหมาย No Garage, No Registration Act หากผู้ใดปลอมแปลงทะเบียนรถยนต์จะถูกระงับไม่ให้จดทะเบียนรถยนต์ในชื่อของตนเองเป็นระยะเวลา 3 ปี และต้องจ่ายค่าปรับ 50,000 เปโซหรือราว 31,000 บาท

รถไฟฟ้าในกรุงมะนิลา

ร่างกฎหมายในลักษณะนี้เคยถูกยื่นต่อรัฐสภาในปี 2016 และ 2019 แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากที่มีการยื่นร่างกฎหมาย No Garage, No Registration Act ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวฟิลิปปินส์ บางคนก็มองว่าร่างกฎหมายนี้ควรได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา ขณะที่บางคนมองว่าสาเหตุที่คนอยากจะซื้อรถยนต์ส่วนตัวกันก็เป็นเพราะระบบขนส่งสาธารณะของฟิลิปปินส์ที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ 

กรณีของฟิลิปปินส์อาจเหมือนกับสภาพการเดินทางในประเทศไทยมากกว่าญี่ปุ่น เพราะการขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพยังขาดแคลนทำให้คนเลือกใช้รถยนต์เป็นหลักเพราะสะดวกกว่า 

สิงคโปร์ – Electronic Road Pricing ค่าธรรมเนียมเดินทางบนเส้นทางที่รถแน่น

นอกจากกฎหมายขอใบรับรองว่ามีที่จอดรถก่อนจะซื้อรถของญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์แล้ว ทางฝั่งสิงคโปร์ก็มีกฎหมายจูงใจให้คนหลีกเลี่ยงการใช้รถยนต์เพื่อมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะเช่นเดียวกัน

ในปี 1998 สิงคโปร์ได้บังคับใช้กฎหมาย Electronic Road Pricing ที่ให้รัฐบาลเก็บค่าธรรมเนียมจากรถยนต์ที่เดินทางผ่านพื้นที่ที่การสัญจรแออัด ภายใต้กฎหมายนี้ทำให้สิงคโปร์มีระบบอัตโนมัติที่สามารถคำนวณอัตราค่าธรรมเนียมของรถยนต์แต่ละคนโดยคิดจากพื้นที่ เวลาที่เดินทาง ประเภทยานพาหนะและอัตราความเร็วของรถยนต์

หน้าจอแสดงค่าธรรมเนียมที่เก็บจากผู้ขับรถยนต์ภายใต้กฎหมาย Electronic Road Pricing

กฎหมาย Electronic Road Pricing ช่วยลดความหนาแน่นของการจราจรในพื้นที่ที่การจราจรแออัด รวมทั้งทำให้สามารถคำนวณระยะเวลาในการเดินทางได้แม่นยำขึ้น อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้บังคับใช้เพื่อแก้ปัญหาจากกฎหมาย Area Licensing Scheme ที่บังคับเก็บค่าธรรมเนียมในลักษณะเดียวกันสำหรับพื้นที่ที่รถยนต์หนาแน่นในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนวันจันทร์-วันเสาร์ แต่ระบบที่ยังไม่มีมาตรฐานทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น ผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางในพื้นที่แออัดหลายครั้งอย่างรถส่งของก็จะต้องเสียค่าบริการหลายรอบ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังสร้างแรงจูงใจให้คนใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้นผ่านราคารถยนต์และค่าธรรมเนียมการขอใบรับรองรถยนต์ หรือ COE ที่เมื่อรวมกันแล้วแพงกว่าราคารถยนต์ปกติมาก ใบ COE คือใบอนุญาติให้เป็นเจ้าของและขับรถยนต์ได้ในระยะเวลา 10 ปี

ราคารถยนต์ในสิงคโปร์ถือเป็นราคาที่แพงที่สุดในโลก Budget Direct เว็บไซต์ด้านการเงินของสิงคโปร์เผยว่าโดยเฉลี่ยแล้ว รถยนต์ในสิงคโปร์มีราคาสูงกว่าในสหรัฐอเมริกาถึง 5 เท่า ในปี 2022 กรมการขนส่งทางบกของสิงคโปร์เผยว่า ราคาเฉลี่ยของใบ COE สำหรับรถยนต์ทั่วไปอยู่ที่ 53,407 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 1.8 ล้านบาท

รถเมล์สาธารณะในสิงคโปร์

ยกตัวอย่าง รถยนต์ Mercedes-AMG E53 ที่มีราคาในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 75,000 ดอลาร์หรือราว 2.56 ล้านบาท แต่ในสิงคโปร์มีราคาอยู่ที่ 368,652 ดอลลาร์ หรือราว 12.57 ล้านบาทเมื่อราวกับค่าธรรมเนียมออกใบ COE แล้ว

การซื้อรถยนต์ยังต้องเสียภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถยนต์เพิ่มเติม รวมถึงค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมที่ขึ้นอยู่กับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งมีการกำหนดโควต้าขอขอใบรับรองรถยนต์จากกรมการขนส่งทางบกของสิงคโปร์ทำให้มีการประมูลใบรับรองด้วย

ที่มา – AutoJosh, Parking Reform Atlas, Vietnam Posts English, CNN Philippines, Manila Bulletin, Moneymax, Yugatech, UDDC, Singapore Business, CMAP, Business Insider

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา