Meta เปิดมาตรการเฝ้าระวังการทุจริตเลือกตั้งปีนี้ จะโฆษณาการเมืองต้องยืนยันตัวตนก่อน 

Meta แสดงจุดยืนสนับสนุนการเลือกตั้ง พร้อมเปิด 5 มาตราการเพื่อความโปร่งใส เผยยังมีการตรวจสอบปัญหาเรื่องบัญชี IO อยู่เรื่อย ๆ 

แคลร์ อมาดอร์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์เผยการดำเนินการ 5 แนวทางของ Meta เพื่อสร้างความโปร่งใสให้การเลือกตั้งของประเทศไทยที่จะจัดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ต่อยอดจากประสบการณ์ในการเลือกตั้งในประเทศอื่นทั่วโลก

แนวทางของ Meta มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความโปร่งใสและป้องกันการแทรกแซงจากต่างประเทศ โดยมี 5 แนวทางหลัก ดังนี้

  • เพิ่มความโปร่งใสในการเผยแพร่โฆษณาและการดูแลเพจ
  • จัดตั้งทีมทำงานเชิงปฏิบัติการด้านการเลือกตั้ง 
  • การจัดการเนื้อหาที่อันตราย
  • การยับยั้งเครือข่ายที่แทรกแซงความโปร่งใส
  • ร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการเลือกตั้งและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของพรรคการเมือง

เพิ่มความโปร่งใสในการเผยแพร่โฆษณาและการดูแลเพจ

Meta ได้กำหนดให้บัญชีผู้ใช้หรือเพจที่ต้องการโฆษณาเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและการเลือกตั้งจะต้องผ่านขั้นตอนขออนุญาตด้วยการยืนยันตัวตนโดยใช้บัตรประชาชนหรือเอกสารระบุตัวตนที่รัฐบาลเป็นผู้ออกให้ก่อน 

เมื่อยืนยันตัวตนสำเร็จ ในโพสต์ที่โฆษณาทางการเมืองจะแสดงข้อความระบุว่า “Sponsored Paid for by” หรือ “ได้รับสปอนเซอร์จาก” แล้วตามด้วยชื่อองค์กรที่เป็นสปอนเซอร์และมีอิทธิพลต่อการโฆษณานั้น ๆ ที่ได้ยืนยันตัวตนในระบบไว้ หากองค์กรที่ยืนยันตัวตนอยู่นอกประเทศไทยจะไม่สามารถยืนยันตัวตนและเผยแพร่โฆษณาได้เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากอิทธิพลต่างประเทศ

ปกติแล้วขั้นตอนการยืนยันตัวตนสำหรับการโฆษณาทั่วไปจะใช้เวลา 48 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม สำหรับการโฆษณาทางการเมืองและการเลือกตั้งจะใช้เวลา 72 ชั่วโมงและจะได้รับการตรวจสอบผ่านทางระบบ AI ที่มีการดึงข้อมูลมาตรวจสอบเป็นระยะเพื่อป้องกันความผิดพลาด

นอกจากนี้ เพื่อสอดรับกับระบบยืนยันตัวตน Meta ยังได้เพิ่มคลังโฆษณา (Ad Library) ที่ผู้ใช้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้เพื่อจัดเก็บข้อมูลการโฆษณาทุกชนิด ทั้งแพลตฟอร์มที่ลงโฆษณา วันและเวลาที่โพสต์ สปอนเซอร์โฆษณา รวมไปถึงงบประมาณที่ใช้โฆษณา กลุ่มเป้าหมายที่เข้าถึง พื้นที่โฆษณาของกลุ่มเป้าหมาย และจำนวนผู้ที่เข้าถึงโฆษณา

สำหรับโฆษณาโดยทั่วไป ผู้ใช้จะสามารถดูข้อมูลได้เมื่อสถานะของโฆษณายังมีการแสดงบนหน้าฟีดของผู้ใช้หรือยัง Active อยู่ ขณะที่โฆษณาการเมืองและการเลือกตั้งจะดูย้อนหลังได้ 7 ปีแม้โฆษณาจะไม่ได้ Active แล้ว

ระบบการยืนยันตัวตนเปิดใช้แล้วในเดือนกันยายนปีที่แล้ว ดังนั้น จะมีข้อมูลโฆษณาเริ่มต้นตั้งแต่เปิดใช้ระบบ ปัจจุบัน ผู้ใช้สามารถเข้าไปดูข้อมูลในคลังโฆษณาได้แล้ว

จัดตั้งทีมทำงานเชิงปฏิบัติการด้านการเลือกตั้ง

Meta ได้จัดตั้งทีมงานที่ดูแลเรื่องการเลือกตั้งทั่วโลก โดยมีทีมงานทั่วโลกกว่า 40,000 คน ที่ทำงานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ การจัดการกับข้อมูลเท็จ และสิทธิมนุษยนชน ทีมงานยังประกอบด้วยคนไทยที่มีความเคยชินกับบริบทสังคมไทยด้วย

การจัดการเนื้อหาที่อันตราย

Meta ได้ใช้นโยบายควบคุมเนื้อหาทั้งคำพูดที่แสดงความเกลียดชัง (Hate Speech) ความรุนแรงและการยุยงทางการเมือง การกลั่นแกล้งและการคุกคาม และการให้ข้อมูลเท็จ โดยหากได้รับการรายงานและมีการตรวจสอบแล้วว่าฝ่าฝืนนโยบายจริง ทาง Meta อาจจัดการกับโพสต์ได้หลายระดับทั้งการปิดกั้นการมองเห็นไปจนถึงการลบโพสต์ พร้อมกับแจ้งเตือนไปยังผู้ที่เผยแพร่เนื้อหาที่ละเมิดต่อนโยบายด้วย 

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว Meta ได้ลบบัญชีที่เผยแพร่เนื้อหาที่เป็นอันตรายกว่า 13,000 ล้านบัญชีจากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก โดยบัญชี 99.3% ถูกตรวจสอบด้วยระบบ AI

ส่วนเรื่องบัญชี IO ทางการเมืองที่เป็นปัญหาอย่างมากในประเทศไทย Meta เผยว่า มีการตรวจสอบอยู่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ และหากตรวจสอบเจอจะมีการบันทึกรายงานไว้ในบันทึกรายไตรมาส 

การยับยั้งเครือข่ายที่แทรกแซงความโปร่งใส

Meta ได้พยายามจัดการกับเครือข่ายที่มีพฤติกรรมสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตนบนโลกออนไลน์ พูดง่าย ๆ ก็คือกลุ่มที่ปลอมเป็นบุคคลอื่นหรือให้ข้อมูลเท็จบางอย่างที่เรียกว่า Coordinated Inauthentic Behavior หรือ CIB 

ร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการเลือกตั้งและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของพรรคการเมือง

อิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่านนโยบายสาธารณะ Facebook ประเทศไทยได้พูดถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอื่นว่า Meta ได้ร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นหน่วยงานกว่า 40 หน่วยงาน เพื่อเปิดตัวโครงการจัดอบรมทักษะและความรู้ออนไลน์ “We Think Digital Thailand” ตั้งแต่ปี 2019 ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมกว่า 32 ล้านคนแล้ว

Meta ยังได้เปิดตัวหลักสูตรพื้นฐานการตรวจสอบข้อเท็จจริงผ่านการเรียนแบบออนไลน์และไม่มีค่าใช้จ่าย โดยร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากล (International Fact Checking Network หรือ IFCN) ที่ให้บริการครอบคลุม 15 ภาษารวมถึงภาษาไทยด้วย

นอกจากนี้ ขณะนี้ยังมีแคมเปญ #โซเชียลด้วยใจ หรือ “Empathy Heroes” เพิ่งเปิดตัวในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยจัดทำสื่อในรูปแบบแอนิเมชันจาก Meta ร่วมกับองค์กร เช่น โคแฟคประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยใช้โซเชียลมีเดียอย่างระมัดระวัง เพื้อเฝ้าระวังการเผยแพร่ข้อมูลเท็จในช่วงการเลือกตั้ง

ที่มา – ข่าวประชาสัมพันธ์จาก Meta 

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา