ไม่ว่าจะในซีรีส์จีน เกาหลี หรือญี่ปุ่น เราคงได้เห็นฉากที่นักแสดงใส่ชุดนักเรียนกันอยู่บ่อย ๆ ซึ่งชุดนักเรียนเหล่านั้นก็มีเอกลักษณ์ด้านดีไซน์ที่สวยงามแตกต่างกัน
Brand Inside จึงอยากพาไปดูเบื้องหลังว่าชุดนักเรียนประเทศต่าง ๆ ที่คนสวมใส่แพร่หลายในทุกวันนี้มีความเป็นมาอย่างไร รวมถึงพาไปไขข้อสงสัยที่หลายคนยังไม่ได้คำตอบ
ญี่ปุ่น : ชุดนักเรียนดีไซน์กะลาสีมีที่มายังไง?
ช่วงปี 1868 – 1912 (สมัยเมจิ) เป็นยุคที่ญี่ปุ่นอยากปรับประเทศให้ทันสมัยขึ้น จึงดีไซน์ชุดนักเรียนให้คล้ายเครื่องแบบทหารเรือ เพราะในช่วงนั้นเป็นที่รู้กันว่าทหารเรือของญี่ปุ่นมีความสามารถระดับสากล เก่งไม่แพ้ประเทศใดในโลก
กระโปรงสั้น เอกลักษณ์ของชุดนักเรียนญี่ปุ่น
ย้อนไปหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นับตั้งแต่ปี 1946 เป็นต้นไป ทางญี่ปุ่นอยากให้นักเรียนหญิงทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างสะดวกสบายมากขึ้นจึงลดความยาวและปรับไซส์กระโปรงให้พอดีตัว
กระโปรงนักเรียนหญิงส่วนใหญ่จึงถูกปรับให้อยู่เหนือเข่าขึ้นมาประมาณ 15-25 เซนติเมตร และดูเหมือนว่านักเรียนหญิงจะชื่นชอบความยาวระดับนี้ ภายหลังเลยเกิดแฟชันสไตล์ JK ย่อมาจากคำว่า Joshi Kousei (女子高生) หมายถึงแฟชันสไตล์เด็กสาวมัธยมปลายนั่นเอง
สำนักข่าว Asahi ของญี่ปุ่นเคยส่งนักข่าวไปยัง 14 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสำรวจว่านักเรียนหญิงกว่า 2,400 คนมีความคิดเห็นอย่างไรต่อการใส่กระโปรงสั้นบ้าง และคำตอบที่ได้ก็น่าสนใจ เช่น “แม้จะเข้าสู่ฤดูหนาวฉันก็จะไม่เปลี่ยนไปใส่กระโปรงยาว” “ฉันจะใส่กระโปรงที่ยาวขึ้นแค่วันที่มีการตรวจเครื่องแบบเท่านั้น” “ฉันชอบแฟชันที่กระโปรงสั้นเข้ากันได้ดีกับถุงเท้ายาว”
ส่วนนักเรียนชายจะใส่เครื่องแบบ Gakuran (学ラン) ประกอบด้วยหมวก เสื้อคอเต่าแขนยาวแต่งด้วยกระดุมสีทองห้าเม็ด และกางเกงขายาว
บริษัทผลิตชุดนักเรียนรายใหญ่ในญี่ปุ่น
บริษัทผลิตชุดนักเรียนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในจังหวัดโอคายาม่ากว่า 70% เพราะจังหวัดนี้เป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายชั้นดี
ตัวอย่างบริษัทที่มีชื่อเสียง เช่น Sugako School Uniform ที่ผลิตชุดนักเรียนแบรนด์ KANKO มีหน้าร้านกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่น
ส่วนในเว็บไซต์ก็วางขายสินค้าครบครันตั้งแต่หัวจรดเท้า เช่น เสื้อโค้ท เสื้อคาร์ดิแกน เสื้อซับใน โบว์ผูกคอเสื้อ เน็กไท รองเท้า กระเป๋า
ที่น่าสนใจคือทางร้านยังขายอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ เพื่อช่วยให้นักเรียนสะดวกสบายในทุกสถานการณ์ด้วย เช่น เสื้อกันฝนสำหรับฤดูฝน ถุงมือสำหรับฤดูหนาว หมวกกันน็อกสำหรับใครที่ขี่มอเตอร์ไซค์ไปโรงเรียน
เกาหลีใต้ : ชุดนักเรียนที่มาพร้อมความปลอดภัย
ช่วงปี 1886 มีการกำหนดให้ใส่ชุดนักเรียนครั้งแรกในโรงเรียนสตรีอีฮวา เป็นชุดนักเรียนสีแดงที่โดดเด่นง่ายแก่การมองเห็น ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย เพื่อให้หาตัวนักเรียนหญิงได้ง่าย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
ส่วนเครื่องแต่งกายนักเรียนชายจะคล้ายของญี่ปุ่นคือเป็นชุดแขนยาว แต่ต่างตรงที่มีลายสีน้ำเงิน สีแดงบริเวณแขนเสื้อ กางเกง และหมวก
ต่อมาช่วงที่เกาหลีเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น เครื่องแบบนักเรียนทั้งหมดถูกเปลี่ยนให้เหมาะสมสำหรับการระดมกำลังทำสงคราม รัฐบาลจึงนำกางเกง ‘มอมเป’ ซึ่งเป็นชุดแรงงานของสตรีญี่ปุ่นมาใช้เป็นเครื่องแบบนักเรียนหญิง และให้นักเรียนชายสวมเครื่องแบบคล้ายทหาร
แต่หลังจากการปลดปล่อยในปี 1945 ถึง 1960 อิทธิพลของแฟชันตะวันตกก็ทำให้ชุดนักเรียนมีความทันสมัยมากขึ้น แบ่งเป็นชุดนักเรียนประจำฤดูกาลต่าง ๆ เช่น ชุดนักเรียนประจำฤดูร้อน ชุดนักเรียนประจำฤดูใบไม้ผลิ ใบไม้ร่วง และชุดนักเรียนประจำฤดูหนาว
บริษัทผลิตชุดนักเรียนรายใหญ่ในเกาหลี
Skoolooks ไม่ใช่แบรนด์ใหญ่ แต่มีสไตล์ที่น่าสนใจคือการผสมผสานระหว่างแฟชันและชุดนักเรียนเข้าด้วยกัน เพื่อผลักดันให้นักเรียนมีอิสระในการแต่งตัวมากขึ้น จึงได้รับรางวัลใหญ่ด้านความพึงพอใจของลูกค้ามากว่า 11 ปีซ้อน
อีกทั้งทางแบรนด์ Skoolooks ยังก้าวขึ้นมาอยู่ใน BIG 4 สำหรับอุตสาหกรรมชุดนักเรียนเกาหลีได้ แม้จะมีบริษัทใหญ่ครองส่วนแบ่งตลาดไปบ้างแล้วก็ตาม ด้วยจุดยืนที่โดดเด่นและแตกต่าง
จีน : ทำไมต้องใส่ชุดกีฬาไปโรงเรียน ?
เดิมทีทั้งนักเรียนหญิงและชายในจีนจะใส่ชุดกระโปรงยาว ความพิเศษคือผู้ชายจะใส่กางเกงขายาวไว้ข้างในด้วย แต่ความยาวของชุดส่งผลให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ไม่คล่องตัวนัก ในปี 1930 จึงมีการตัดชุดให้สั้นลง และเกิดเทรนด์ที่นักเรียนหญิงนิยมใส่ชุดนักเรียนเดรสสีฟ้ากันทั่วบ้านทั่วเมือง
โดยชุดนี้มีชื่อเรียกว่า Cheongsam แต่เดิมเป็นเครื่องแต่งกายของชนเผ่าแมนจู นักเรียนหญิงยุคนั้นชื่นชอบชุดนี้เพราะใส่แล้วมีส่วนเว้าส่วนโค้งสวยงาม ด้วยดีไซน์ที่เน้นบริเวณช่วงอกและช่วงเอว
แต่ชุดกระโปรงก็ยังคงทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่ทะมัดทะแมงนัก ช่วงปี 1990 เป็นต้นไป จึงมีการพัฒนาชุดนักเรียนโอเวอร์ไซส์ สไตล์ชุดกีฬา ทำจากผ้าโพลีเอสเตอร์ ผลลัพธ์คือด้วยข้อดีด้านความสะดวกสบาย ทั้งนักเรียนชายหญิงจึงสวมใส่มาถึงยุคปัจจุบัน
ผลสำรวจจากเว็บไซต์ The China Boss ยังระบุว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับการใส่ชุดสไตล์กีฬาด้วยหลายเหตุผล เช่น เสื้อกีฬามีขนาดใหญ่ ช่วยลดค่าใช้จ่าย เพราะเด็กใส่ได้หลายปี ทั้งในวิชาทฤษฎีและวิชาพละศึกษา, ความสวมใส่ง่ายทำให้ประหยัดเวลาในการแต่งตัว ลูกหลานจะได้ไม่โฟกัสกับเสื้อผ้าเกินไปจนไม่ใส่ใจการเรียนเท่าที่ควร
บริษัทผลิตชุดนักเรียนรายใหญ่ในจีน
บริษัท Chongqing Litai Clothing Group ไม่ได้โด่งดังแค่ในจีนเท่านั้น แต่ยังส่งออกชุดนักเรียนไปในหลายประเทศ เช่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ด้วยกำลังการผลิตกว่า 12 ล้านชุดต่อปี
นอกจากนี้ เพื่อตอกย้ำความเป็นเบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรมการผลิตชุดนักเรียน ทาง Chongqing Litai Clothing Group ถึงขั้นเคยทำ Exhibition เพื่อจัดแสดงชุดนักเรียนคอลเลคชันต่าง ๆ เลยทีเดียว
ส่วนประเทศไทย เริ่มมีการสวมใส่ชุดนักเรียนครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อปรับภาพลักษณ์ประเทศให้ทันสมัย ถือเป็นช่วงเดียวกับที่ญี่ปุ่นเริ่มมีชุดนักเรียนพอดี ชุดนักเรียนในสมัยนั้นจึงมีลักษณะใกล้เคียงกัน คือเป็นเสื้อคอปกใหญ่ ๆ ผูกคอซอง คล้ายเครื่องแบบกะลาสีเรือ
ในสมัยนั้นประเทศฝั่งตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาหรือเยอรมันก็นิยมเสื้อสไตล์กะลาสีเช่นเดียวกัน ตามเทรนด์ที่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด โอรสพระราชินีวิคตอเรียสวมใส่ชุดกะลาสีแล้วถูกตีพิมพ์ในสื่อต่าง ๆ
ล่าสุดปี 2565 มูลค่าตลาดชุดนักเรียนในไทยอยู่ที่ประมาณ 2,250 ล้านบาท โดยแบรนด์อันดับหนึ่งอย่าง ‘ชุดนักเรียนตราสมอ’ สามารถสร้างรายได้ 380 ล้านบาท ด้วยความเชี่ยวชาญในธุรกิจมายาวนานกว่า 66 ปี
ตามมาด้วยแบรนด์รุ่นน้องอย่าง ‘ชุดนักเรียนน้อมจิตต์’ ที่ทำรายได้กว่า 79 ล้านบาท เรียกได้ว่ามีรายได้ทิ้งห่างกันพอสมควร น่าติดตามต่อไปว่าแบรนด์เครื่องแบบนักเรียนอื่น ๆ จะหาทางวางกลยุทธ์เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดอย่างไรได้บ้าง
ขอบคุณข้อมูลจาก lovefortraveling, zenpop, ramipass, englishdotdotnews, sohu, koreayoumaynotknow, chagokr, blognaver, ifblogtistorykoreayoumaynotknow, namu, thechinaboss, withnews
อ่านเพิ่มเติม
- เปิดเบื้องหลังความสำเร็จธุรกิจบาร์โฮสต์ สร้างรายได้หลายพันล้านบาทต่อปีที่ญี่ปุ่น
- ถอดเคล็ดลับโรงแรม 1,000 ปี มีอยู่จริงที่ญี่ปุ่น !
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา