ทีมกฎหมาย กลุ่มซีพี ทีมกฎหมายชั้นนำของวงการ ย้อนรอยผลงานเด่นตั้งแต่ออเรนจ์ ถึงดีลฟุตบอลโลก

ทีมกฎหมาย กลุ่มซีพี ถือเป็นหนึ่งในทีมที่เก่งกาจในฝั่งเอกชน เพราะสามารถฝ่าฝันอุปสรรคต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามายังบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กลุ่มซีพี

Brand Inside จึงรวม 5 ผลงานเด่นของทีมกฎหมาย กลุ่มซีพี ที่ใช้ข้อกฎหมายแก้ปัญหา ตั้งแต่ดีลซื้อหุ้นออเรนจ์ในราคา 1 บาท จนถึงอ้างกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เหนือกว่ากฎ กสทช. จนถ่ายฟุตบอลโลกผ่าน IPTV ไม่ได้

กลุ่มซีพี

ซื้อหุ้น ออเรนจ์ คืนแค่ 1 บาท

ปี พ.ศ. 2545 แบรนด์ ออเร้นจ์ เครือข่ายโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่จากยุโรป เข้ามาให้บริการในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยเบื้องหลังของ ออเร้นจ์ เริ่มจาก เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ต้องการบุกตลาดโทรคมนาคม จึงควบรวมกิจการบริษัท ไวร์เลส คอมมูนิเคชั่นส์ เซอร์วิส จำกัด หรือ ดับบลิวซีเอส

แต่ด้วยทำธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตรมาตลอดคงไม่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ จึงเชิญ ออเร้นจ์ ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจากยุโรปมาเป็นพันธมิตรเพื่อบุกตลาด ทั้งนี้ ออเร้นจ์ ทำได้ดีแค่ช่วงแรก เพราะอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องลงทุนสูง และเวลานั้นการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมไม่ใช่เรื่องง่าย

ประกอบกับช่วงปี พ.ศ. 2547 บริษัทแม่ของออเร้นจ์ในยุโรปเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายเป็นเน้นลงทุนในกลุ่มยุโรป ทั้งปีเดียวกัน เทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่น เปลี่ยนชื่อเป็น ทรู คอร์ปอเรชั่น เพื่อรีแบรนด์ใหม่ จึงเจรจาซื้อหุ้นจาก ออเร้นจ์ 819 ล้านหุ้น คิดเป็น 39% ของบริษัท ในราคาเพียง 1 บาท พร้อมรีแบรนด์จาก ออเร้นจ์ เป็น ทรู มูฟ

กลุ่มทรู

ชนะคดี เลอแปง บานาน่า

ในปี 2558 มีบทความในเว็บไซต์โอเคเนชั่น ที่มีชื่อบทความหนึ่งชื่อว่า “โตเกียวบานาน่าไทย แบบมีกล้วยอยู่จริง ๆ ที่แลกมาด้วยน้ำตา” ซึ่งผู้ผลิตกำลังที่จะเตรียมวางขายในร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven และอ้างว่า ซีพี ออลล์ เป็นคนลอกสูตรมาจากผู้ผลิตรายนี้

ต่อมา กลุ่มซีพี ออกมาแถลงข่าวว่า บริษัทไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร เนื่องจากมีทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเลอแปง บานาน่า มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาตั้งแต่ปี 2557 ก่อนหน้าที่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะวางขาย จนเกิดการฟ้องร้องผู้เผยแพร่บทความดังกล่าว

สุดท้าย ผู้เขียนบทความ ยอมรับว่า ได้ข้อมูล และเนื้อหาบทความมาจากบุคคลอื่น โดยไม่ทราบว่าเป็นความจริงหรือไม่ พร้อมขอโทษ กลุ่มซีพี ต่อหน้าศาล ทำให้ทางกลุ่มแสดงน้ำใจด้วยการถอนคำร้องทุกข์ไม่ติดใจดำเนินคดีอาญา และไม่ติดใจเรียกค่าเสียหายจากผู้เขียน

กลุ่มซีพี

ควบรวม โลตัส ไม่ผูกขาด

กลุ่มซีพี ชนะประมูลซื้อกิจการโลตัสในไทย และมาเลเซีย โดยขณะนั้นทางกลุ่มมีกิจการร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น และร้านขายส่งชั้นนำ แม็คโคร ดังนั้นการซื้อกิจการต้องการรับการอนุมัติจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ซึ่งสุดท้ายทางคณะกรรมการฯ ได้อนุมัติให้ กลุ่มซีพี ควบรวมกิจการโลตัสได้

ทางคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าให้เหตุผลว่า การรวมธุรกิจของ กลุ่มซีพี กับ Tesco Lotus ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตรวมธุรกิจ ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็กจะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด

และการรวมธุรกิจดังกล่าวมีความจำเป็นตามควรทางธุรกิจและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้น และอาจส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม

กลุ่มซีพี

เป็นพันธมิตรกับ ดีแทค ผ่านความร่วมมือเท่าเทียม

ปลายปี 2564 เกิดดีลความร่วมมือระหว่าง ทรู กับ ดีแทค และกลายเป็นที่พูดถึงในวงกว้างว่าเป็นการควบรวมกิจการประเภทเดียวกันตามประกาศ กทช. หรือไม่ ซึ่งสุดท้าย กสทช. มีมติเห็นว่า การรวมธุรกิจในกรณีนี้ ไม่เป็น การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศ กทช.

และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 โดยรับทราบการรวมธุรกิจและเมื่อ กสทช. ได้รับรายงานการรวมธุรกิจแล้ว กสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะตามข้อ 12 ของประกาศฉบับปี 2561 โดยก่อนหน้าการตัดสิน กลุ่มซีพี โดยทรู คอร์ปอรเชัน และดีแทค ได้ชี้แจ้งว่า เป็นการควบรวม ไม่ใช่ซื้อกิจการ จึงดำเนินการได้

ทั้งสองบริษัทให้นิยามกิจการใหม่ว่า เป็นความร่วมมืออย่างเท่าเทียม ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันจัดตั้งบริษัทเทคโนโลยี-โทรคมนาคม เพื่อตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการรับมือกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ให้บริการ 5G ที่ครอบคลุม พร้อมคุณภาพเครือข่ายที่ดีขึ้น

กลุ่มซีพี

อ้างกฎหมายลิขสิทธิ์คุมเข้มถ่ายทอดบอลโลก

ล่าสุด กลุ่มซีพี โดย กลุ่มทรู อ้างอิงสิทธิตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาโดยยื่นฟ้องผู้ให้บริการทีวีอินเตอร์เน็ตรายหนึ่งที่ให้บริการผ่านกล่อง AIS PLAYBOX ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศกลาง พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามไม่ให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นการชั่วคราว

และศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ได้มีคำสั่งห้าม บริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด (SBN) ผู้ให้บริการ AIS PLAYBOX แพร่เสียง และแพร่ภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศกาตาร์ อันเป็นการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มทรูในฐานะผู้ได้รับสิทธิอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้ กลุ่มทรู ได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดบนดิจิทัลทีวีร่วมกับดิจิทัลทีวีรายอื่น พร้อมสิทธิพิเศษในการออกอากาศบนเคเบิล ดาวเทียม ไอพีทีวี บนมือถือ OTT และอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นข้อเสนอที่การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้เสนอให้กับผู้ประกอบการเอกชนรายอื่นภายใต้ข้อเสนอเดียวกัน โดยกลุ่มทรู เป็นรายเดียวที่ตอบรับข้อเสนอดังกล่าว

อ้างอิง // CP E-News

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา