ทรู เคยควบรวมกิจการอะไรมาก่อน ดีแทค บ้าง?

ทรู

บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ ทรู เพิ่งประกาศศึกษาการควบรวมกิจการ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค แต่จริง ๆ แล้ว ทรู เคยควบรวมกิจการคู่แข่งมาแล้วก่อนหน้านี้ กิจการเหล่านั้นมีอะไรบ้าง มาย้อนรอยดูกัน

ทรู
ทรู กับการซื้อหุ้น ออเร้นจ์ เพื่อลุยตลาดเองด้วยแบรนด์ ทรู มูฟ

ออเร้นจ์ กับการซื้อหุ้นคืนทั้งหมดแค่ 1 บาท

กิจการแรกที่ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น เคยควบรวมต้องย้อนไปสมัย เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น ชื่อเดิมของบริษัท โดยช่วงปี พ.ศ. 2545 แบรนด์ ออเร้นจ์ เครือข่ายโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่จากยุโรป เข้ามาให้บริการในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

เบื้องหลังของ ออเร้นจ์ เริ่มจาก เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ต้องการบุกตลาดโทรคมนาคม จึงควบรวมกิจการบริษัท ไวร์เลส คอมมูนิเคชั่นส์ เซอร์วิส จำกัด หรือ ดับบลิวซีเอส แต่ด้วยทำธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตรมาตลอดคงไม่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ จึงเชิญ ออเร้นจ์ ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจากยุโรปมาเป็นพันธมิตรเพื่อบุกตลาด

อย่างไรก็ตาม ออเร้นจ์ ทำได้ดีแค่ช่วงแรก เพราะอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องลงทุนสูง และเวลานั้นการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อสัญญาณไม่ดี ถึงราคาถูกผู้บริโภคก็คงไม่ใช้ ประกอบกับช่วงปี พ.ศ. 2547 บริษัทแม่ของออเร้นจ์ในยุโรปเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายเป็นเน้นลงทุนในกลุ่มยุโรปเพียงอย่างเดียว

อาจเป็นเรื่องบังเอิญ หรือตั้งใจ เพราะในปีเดียวกัน เทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่น ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ทรู คอร์ปอเรชั่น เหมือนในปัจจุบัน เพื่อรีแบรนด์ใหม่ทั้งหมด สร้างความเป็นหนึ่งเดียวด้วยแบรนด์ ทรู รวมถึงยังเจรจาซื้อหุ้นจากฝั่ง ออเร้นจ์ 819 ล้านหุ้น คิดเป็น 39% ของบริษัท ในราคาเพียง 1 บาท พร้อมรีแบรนด์จาก ออเร้นจ์ เป็น ทรู มูฟ

ถือเป็นการปิดฉากยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจากยุโรปที่เข้ามาสร้างความแปลกใหม่ในตลาดไทยด้วยสโลแกน พูดกันมากขึ้น ฟังกันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น และอาจบอกได้ว่า ทรู ได้ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในตลาดโทรคมนาคมจาก ออเร้นจ์ ไม่มากก็น้อย ก่อนจะถูกควบรวม และกลายเป็น ทรู มูฟ เอช ในปัจจุบัน

ทรู
ทรู ซื้อหุ้นจากฝั่ง ไอบีซี และผู้ถือหุ้นใหญ่ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น ทรูวิชั่นส์

ไอบีซี และจุดเริ่มต้นของ Pay TV เบอร์ 1

อีกกรณีที่น่าสนใจคือ ทรูวิชั่นส์ เพราะก่อนจะยิ่งใหญ่ และเป็นเบอร์ 1 ในตลาดโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก หรือ Pay TV บริษัทต้องผ่านวิกฤตมากมาย ปรับโครงสร้างองค์กรอยู่หลายรอบ และหนึ่งในนั้นคือการควบรวมคู่แข่งจากที่เคยร่วมมือกันในช่วงเวลาสั้น ๆ ด้วย

จุดเริ่มต้นของ ทรูวิชั่นส์ มาจาก เครือเจริญโภคภัณฑ์ ต้องการบุกตลาดโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก โดยให้บริษัทในเครืออย่าง เทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้รับผิดชอบ และเมื่อปี พ.ศ. 2536 ได้เริ่มออกมาทำตลาดหลังได้ใบอนุญาตจาก อ.ส.ม.ท. ใช้ชื่อทำตลาดว่า ยูทีวี ชูจุดเด่นส่งสัญญาณผ่านสายเคเบิล ฝนตก ลมแรง แค่ไหนภาพก็ชัด

แต่ก่อนหน้า ยูทีวี ทำตลาด มี ไอบีซี ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ต่างกันที่ ไอบีซี ใช้จานดาวเทียมในการรับส่งสัญญาณ ซึ่งการแข่งขันในตลาดนี้ดุเดือด สองฝ่ายต่างใช้เนื้อหาที่หลากหลายมาจูงใจ แต่พอเข้าปี พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ทั้งสองฝ่ายต่างประสบปัญหาทางการเงิน และเปลี่ยนจากศัตรู เป็นมิตร

เบื้องต้น พ.ศ. 2541 ฝั่ง ไอบีซี เป็นผู้เสนอซื้อกิจการ ยูทีวี ผ่านการแลกหุ้น และเป็นชื่อเป็น ยูบีซี แต่ไม่นานนัก ฝั่ง ไอบีซี ตัดสินใจขายหุ้นที่มีอยู่ในธุรกิจนี้ทั้งหมดให้กับ ฝั่ง ยูทีวี จากนั้นปี พ.ศ. 2549 กลุ่มเอ็มไอเอช ผู้ถือหุ้นใหญ่ใน ยูบีซี ขณะนั้น ขายหุ้นทั้งหมดให้ฝั่ง ยูทีวี กลายเป็นฝั่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้กิจการกลับมา

การซื้อหุ้นครั้งนั้นตามมาด้วยการทยอยซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อย และเปลี่ยนชื่อทำตลาดเป็น ยูบีซี-ทรู สอดคล้องกับการรีแบรนด์ของ บมจ. ทรู คอร์ปอรเชั่น เมื่อปี พ.ศ. 2547 และในปี พ.ศ. 2550 เปลี่ยนชื่อเป็น ทรูวิชั่นส์ เรียกว่าควบรวมกันเสร็จก็เหนื่อยเอาการ เพราะมีทั้งเหตุการณ์เปลี่ยนศัตรูเป็นมิตร และการทยอยซื้อหุ้นคืนในภายหลัง

ทรู
ทรู ซื้อกิจการ ฮัชท์ ติดเครื่องการให้บริการมือถือให้ทันคู่แข่ง

ซื้อ ฮัทช์ เสริมแกร่งธุรกิจ ทรู มูฟ

ต่อจาก ออเร้นจ์ และ ไอบีซี อีกแบรนด์ที่ ทรู ควบรวมคือ บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส จำกัด หรือ ฮัทช์ โดยการควบรวมครั้งนี้เป็นการเข้าซื้อกิจการตรง ๆ ด้วยมูลค่า 4,350 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2553 เพื่อเสริมความแข็งแกร่งเรื่องโครงข่าย เพราะถึง ทรู มูฟ จะลุยตลาดแค่ไหน ก็วิ่งไม่ทัน เอไอเอส และ ดีแทค สักที

เนื่องจากการจะพยายามขยายโครงข่ายให้เร็วต้องใช้เวลา และเงินทุนมหาศาล ดังนั้นการใช้เงินเพื่อซื้อเวลาจึงคุ้มค่ากว่า และชัดเจนไปกว่านั้นคือ เทคโนโลยีที่ ฮัทช์ ให้บริการตอนนั้นคือ CDMA แต่หลังจากซื้อกิจการมา ทรู ไม่เคยให้บริการบนเทคโนโลยีดังกล่าวเลย แสดงให้เห็นว่าต้องการโครงข่ายเท่านั้น

ขณะเดียวกัน การซื้อกิจการนี้ยังช่วยให้ ทรู เร่งทำตลาด 3G (เทคโนโลยีใหม่ในยุคนั้น) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมเป็นรายแรกในประเทศไทย เพราะการประมูลคลื่น 3G เพิ่งล่มไปเมื่อกลางปีเดียวกัน ติดเครื่องจำนวนผู้ใช้งาน ทรู มูฟ เอช ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

แม้ดีลนี้จะมาพร้อมกับข้อถกเถียงในวงการโทรคมนาคมว่ามีอะไรแอบแฝงไว้หรือไม่ เพราะตามมาด้วยการเช่าโครงข่าย กสท โทรคมนาคม เพื่อให้บริการ 3G+ ไปทั่วประเทศ แต่สุดท้ายหน่วยงานกำกับกิจการติดสินออกมาว่าไม่ผิด และกลายเป็นกรณีศึกษาในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยที่น่าสนใจ

ทรู ดีแทค
การเซ็นบันทึกความร่วมมือระหว่าง ทรู กับ ดีแทค เพื่อรวมกิจการกัน

ควบรวมกิจการ ดีแทค คือล่าสุด

แม้ยังไม่ประกาศควบรวจสำเร็จ เพราะอยู่เพียงแค่เซ็นบันทึกความร่วมมือ หรือ MOU เพื่อศึกษาการควบรวมกิจการ แต่การที่ ทรู และ ดีแทค เดินหน้าเรื่องนี้ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่ ทรู จะควบรวม ดีแทค เหมือนกับที่ทำกับคู่แข่งก่อนหน้านี้เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร ขึ้นเบอร์ 1 ในตลาดทันที

อ้างอิง // RYT9, ผู้จัดการ, positioning, ทรู

อ่านข่าวเกี่ยวกับ ทรู และ ดีแทค เพิ่มเติมได้ที่นี่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา