ต้องบอกว่า งานนี้ตลาดทุเรียนไทยมีหนาว สั่นสะเทือนแน่นอน เพราะคนจีนมีทุเรียนเป็นผลไม้สุดโปรด สั่งนำเข้าจากไทยแต่ละครั้งมหาศาลหลายแสนตัน ถ้าจีนผลิตเองได้ ปัญหาเรื่องการขนส่งโลจิสติกส์ การคาดการณ์วันล่วงหน้าสำหรับการสุกในระยะที่ไปถึงจีนแล้วได้ทานในรสชาติที่อร่อย สุกกำลังดีจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป เพราะปลูกได้เอง ปลูกเอง ขายเอง ซื้อกินภายในประเทศเอง ก็อาจนำไปสู่การลดการส่งออกทุเรียนจากไทยได้
ล่าสุด เกษตรจีนชาวจีนบริเวณมณฑลม้าวหมิง กว่างตง ปลูกทุเรียนพันธุ์มูซานคิงและพันธุ์หนามดำที่นำต้นกล้าไปจากมาเลเซียสำเร็จแล้ว เริ่มปลูกครั้งแรกเมื่อปี 2561 เพิ่งประสบความสำเร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 คาดว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนตุลาคม 2565
พื้นที่สำหรับปลูกทุเรียนทั้งสองสายพันธุ์นั้น ตั้งอยู่บริเวณตำบลกวนจู เมืองม้าวหมิง เป็นพื้นที่ของเติ้ง ยู่เฉียง ที่มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 125 ไร่ แบ่งเป็นปลูกลิ้นจี่และไม้กฤษณา 83 ไร่ ส่วนพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 41 ไร่ ปัจจุบัน มีต้นกล้าที่ติดตาต่อกิ่งแล้วจำนวน 20,000 ต้น คาดว่าจะเติมตาต่อกิ่งจนครบ 2 แสนต้นในอนาคต
ก่อนที่จะเริ่มปลูก เติ้งเชิญผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรจีนตอนใต้ (South China Agricultural University) จากกว่างโจว รวมทั้งได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจากมาเลเซีย เติ้ง ยู่เฉียงระบุว่า พื้นที่ทดลองเพาะปลูกทุเรียนนี้มีหลายสายพันธุ์ด้วยกัน แต่มีแผนจะพัฒนาสายพันธุ์มูซานคิงและหนามดำจากมาเลเซียเท่านั้นเพราะเป็นพันธุ์ที่มีมูลค่าสูง
จีนบริโภคทุเรียนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศเดียวที่ได้รับอนุญาตนำเข้าทุเรียนสดเข้าประเทศจีนได้ ปี 2553-2562 ปริมาณการบริโภคทุเรียนนในจีนเพิ่มขึ้นกว่า 16%
สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนระบุตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2564 จีนนำเข้าทุเรียนจำนวน 809,200 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4,132 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 140,488 ล้านบาท เป็นมูลค่าและปริมาณที่สูงเป็นประวัติการณ์ ทุบสถิติการนำเข้าสูงสุดของปี 2562 ที่นำเข้าทั้งสิ้น 604,500 ตัน ทุบสถิติมูลค่านำเข้าสูงสุดที่ 2,305 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 78,370 ล้านบาท
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ความต้องการบริโภคทุเรียนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ต้นทุนค่าขนนส่งที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้ราคานำเข้าทุเรียนปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ปี 2563 ราคานำเข้าทุเรียนในจีนเฉลี่ยที่ราคา 4 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 136 บาทต่อกิโลกรัม
ปี 2564 ราคานำเข้าทุเรียนปรับเพิ่มเป็น 5.11 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 173 บาทต่อกิโลกรัม ยิ่งมีโควิดที่เป็นปัญหาในการขนส่งและขั้นตอนพิธีการศุลกากรที่เข้มงวดทำให้ราคานำเข้าทุเรียนขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก
พื้นที่ที่นำเข้าทุเรียนมากที่สุดคือมณฑลกว่างตง เขตปกครองตนเองกวางซีจ้วงและเมืองฉงชิ่ง เฉพาะ 11 เดือนของปี 2564 ก็นำเข้าปริมาณมหาศาล 2 แสนตัน
5 อันดับแรก เมืองที่นำเข้าทุเรียนจากไทยมากที่สุด
- กว่างตง 2.33 แสนตัน มูลค่า 1.09 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 3.9 หมื่นล้านบาท
- กวางซีจ้วง 2.18 แสนตัน มูลค่า 1.228 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 4.4 หมื่นล้านบาท
- ฉงชิ่ง 1.24 แสนตัน มูลค่า 597 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 2.1 หมื่นล้านบาท
- เจ้อเจียง 7.8 หมื่นตัน มูลค่า 432 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 1.55 หมื่นล้านบาท
- ยูนนาน 6.5 หมื่นตัน มูลค่า 321 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 1.1 หมื่นล้านบาท
เมืองที่สั่งนำเข้าทุเรียนน้อยที่สุด 5 อันดับ
- ส่านซี 976.3 ตัน มูลค่า 4.53 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 162 ล้านบาท
- ไห่หนาน 963.4 ตัน มูลค่า 4.98 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 175 ล้านบาท
- ปักกิ่ง 572.3 ตัน มูลค่า 2.85 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 102 ล้านบาท
- เฮยหลงเจียง 96.7 ตัน มูลค่า 5.4 แสนเหรียญสหรัฐหรือ 19.4 ล้านบาท
- กานซู่ 13.2 ตัน มูลค่า 7 หมื่นเหรียญสหรัฐหรือ 2.5 ล้านบาท
ปี 2563 ไทยส่งออกทุเรียนอันดับ 1 ของโลก ปริมาณการส่งออกทุเรียน 6.21 แสนตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.35 แสนตัน เทียบกับปี 2562 ส่งออกทุเรียนไปจีนคิดเป็น 93% ของปริมาณการส่งออกทุเรียนทั่วโลก ปี 2564 ถือเป็นปีทองของทุเรียนไทยทั้งปริมาณและมูลค่าในการส่งออกสู่จีนสูงเป็นประวัติการณ์คือนำเข้าทุเรียนกว่า 8 แสนตัน มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท
ไทยมีพันธุ์ทุเรียนเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมกว่า 20 สายพันธุ์ แต่ส่งออกมายังจีน 3 สายพันธุ์ คือทุเรียนหมอนทอง ทุเรียนชะนี ทุเรียนก้านยาว โดยทุเรียนหมอนทองมีสัดส่วนในตลาดจีนมากที่สุดเกือบ 90% เมืองที่นำเข้าทุเรียนของจีนส่วนใหญ่ตั้งอยูทางตอนใต้เพราะเป็นเมืองหน้าด่านและติดชายแดน แต่เมืองทางตอนเหนือก็มียอดการบริโภคเติบโตต่อเนื่อง
- ทุเรียนมาเลย์ มาแรง! ชาวจีนทุ่มซื้อพันธุ์ “มูซัง คิง” ภายใน 1 ชั่วโมง 60 ตัน 458 ล้านบาท
- จีนกระชับความสัมพันธ์มาเลย์ฯ ทุ่มซื้อทุเรียนไม่พอ เตรียมซื้อน้ำมันปาล์ม 1.7 ล้านตันถึงปี 2023
ที่มา – Asean Thai, DITP
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา