อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้การต้อนรับมุน ซึงฮยอน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคาราวะเพื่อแนะนำตัวหลังเข้ารับตำแหน่ง โดยผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่าไทยและเกาหลีใต้มีความสัมพันธ์ระดับเมืองหลายด้านด้วยกัน มีโครงการที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้
กรุงโซลมีความสามารถด้านการจัดการคมนาคม ระบบการจัดการรถโดยสารเชื่อมโยงกับระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน มีประสิทธิภาพช่วยแก้ไขปัญหาจราจรได้ ไทยก็เรียนรู้ประโยชน์จากโครงการคลองชองเกชอนและนำบางส่วนมาประยุกต์เพื่อพัฒนาต่อยอด ด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย อาทิ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องปัญหาฝุ่น PM 2.5 น้ำเสียและการบริหารจัดการขยะที่เกาหลีน่าจะมีประสบการณ์จัดการที่ดี แทนที่จะส่งคณะของ กทม. ไปศึกษาดูงาน อาจให้ผู้เชี่ยวชาญเกาหลีมาเมืองไทยแล้วหาคำตอบน่าจะมีประโยชน์มากกว่าเนื่องจากเห็นสภาพจริงเพื่อหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมกับเมือง
ส่วนการจราจรก็เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ เช่นการจัดการรถโดยสารประจำทางหรือรถเมล์ การใช้ระบบ ITMF (Intelligent Traffic Management System) เป็นระบบควบคุมการไหลของรถในเมือง ซึ่งคาดว่าเกาหลีใต้น่าจะมีการใช้อยู่และอาจเป็นความร่วมมือของเมืองในอนาคตได้ กทม. ยังสนใจว่าชาวเกาหลีใต้มาอาศัยในไทยเป็นจำนวนมาก มีทั้งทำธุรกิจ มีกิจการ มีครอบครัว หากมีโอกาสก็อยากพบปะหารือในประเด็นที่กรุงเทพมหานครสามารถสนับสนุนการทำธุรกิจให้มีความสะดวกขึ้น ปรับปรุงเรื่องที่ควรแก้ไขและส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยในอนาคตมากขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ยังเชิญสถานทูตเกาหลีประจำไทยร่วมปลูกต้นไม้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้นของกรุงเทพฯ รวมทั้งร่วมผลักดัน Soft Power ซึ่งเป็นพลังสำคัญมาก เนื่องจาก Soft Power ไม่มีพรมแดน ขอเชิญให้นำภาพยนตร์เกาหลีใต้มาร่วมฉายในเทศกาล Movie Festival ที่กำหนดจัดขึ้นเดือนหน้าและเชิญชาวเกาหลีใต้ที่อาศัยอยู่ในไทยมาร่วมแสดงกิจกรรมดนตรีในสวนกับกรุงเทพมหานครเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกันด้วย
ด้านเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีกล่าวว่า ช่วงก่อนสถานการณ์โควิดระบาด มีนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้เดินทางเข้าไทยมากกว่า 1.9 ล้านคนต่อปีและหลังจากประกาศผ่อนคลายมาตรการต่างๆ นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ก็เริ่มเดินทางเข้ามามากขึ้น โซลมีประชากรประมาณ 10 ล้านคน งบประมาณกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐม มีศักยภาพในการร่วมมือกับเมืองต่างๆ ในฐานะนักการทูตจึงมองหาความร่วมมือกับนานาประเทศและพร้อมให้ความร่วมมือกับ กทม. เช่นกัน
กรุงเทพฯ ได้ลงนามความสัมพันธ์กับเมืองในสาธารณรัฐเกาหลี 3 แห่ง ดังนี้
- ข้อตกลงว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง (Sister City Agreement) กับกรุงโซล เพื่อแลกเปลี่ยนด้านการจัดการเมือง เทคโนโลยีสารสนเทศ เศรษฐกิจ คมนาคม สิ่งแวดล้อม การวางผังเมือง การจัดการภัยธรรมชาติ และด้านวัฒนธรรม
- ข้อตกลงสถาปนาความสัมพันธ์ฉันมิตร (Agreement on the Establishment of a Friendship City Relationship) กับนครปูซานเพื่อแลกเปลี่ยนด้านการบริหาร เศรษฐกิจ วัฒนธรม สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาเยาวชน การศึกษา การท่องเที่ยว
- ความตกลงการสถาปนาความสัมพันธ์ฉันมิตร (Agreement of Establishment of Friendly Relations) กับเมืองแตกูเพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอและสับสนุนการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างเจ้าหน้าที่คู่ภาคี การแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจ การจัดการการขนส่ง การปกป้องสิ่งแวดล้อม การศึกษา กิจกรรมเยาวชนและการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน การท่องเที่ยว ความหลากหลายทางวัฒนธรรม การกีฬา การฝึกอบรมและการดูแลสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายระดับรัฐบาลของภาคีแต่ละฝ่ายและพันธกรณีระหว่างประเทศ
- เกาหลีใต้ ราชาแห่ง Soft Power ส่งออกวัฒนธรรมอาหารผ่านซีรีส์ สร้างยอดขายมหาศาล
- นี่แหละ Soft Power! Squid Game มีคนดูกว่า 130 ล้านคนทั่วโลก สร้างมูลค่าบริษัทกว่า 3 หมื่นล้านบาท
ที่มา – กทม.
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา