เรื่องการใช้กัญชายังคงเป็นประเด็นร้อนแรง หลังจากปลดล็อคเสรีแต่ยังไม่มีมาตรการรองรับใดๆ ความน่าเป็นห่วงและกังวลใจสำหรับผู้คนส่วนใหญ่ก็คือเด็กและเยาวชนกับการใช้กัญชาหรือผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้น มีใครเข้ามดูแลในมิตินี้มากน้อยเพียงใด วานนี้ กทม. ประกาศให้โรงเรียนเป็นเขตปลอดกัญชา กัญชง ครู เจ้าหน้าที่และบุคลากรในโรงเรียนสามารถตรวจสอบอาหาร เครื่องดื่ม ไม่ให้มีกัญชง-กัญชาเจือปนได้ พร้อมมาตรการรับมือ 9 ข้อ วันนี้ กระทรวงสาธารณสุขภายใต้การนำของอนุทิน ชาญวีรกูล ก็ประกาศให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุมเช่นกัน
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ หลังมีการปลดล็อคกัญชาเสรี มีทั้งข่าวผู้เสพกัญชาเสียชีวิต ไปจนถึงผู้บริโภคที่ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เนื่องจากไม่สามารถซื้อต้นกล้ากัญชาได้ จนทำให้ทางมหาวิทยาลัยฯ ต้องยุติการขายและจัดระเบียบการจัดสรรเพื่อจัดจำหน่ายใหม่ ล่าสุด ประกาศจากสาธารณสุขระบุให้ กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุมแล้ว
โดย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารสุข ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 โดยที่พิจารณาเห็นว่ากัญชา เป็นสมุนไพรที่มีค่าต่อการศึกษาหรือวิจัย มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 มาตรา 44 มาตรา 43 (3) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย จึงออกประกาศไว้ ดังนี้
- ให้กัญชา หรือสารสกัดจากกัญชา ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis เป็นสมุนไพรควบคุม
- อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ยี่สิบปีขึ้นไป สามารถครอบครองใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายสมุไพรควบคุมตามข้อ 1 ได้ ยกเว้นการกระทำดังต่อไปนี้ (1) การใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะโดยการสูบ (2) การใช้ประโยชน์กับสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร (3) การจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร
- อนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย สามารถใช้ประโยชน์จากสมุนไพรควบคุมตามข้อ 1 ให้กับผู้ป่วยของตน
- อนุญาตให้ผู้ป่วยตามข้อ 3 สามารถครอบครอง ขนย้าย ดูแล เก็บรักษา ใช้ประโยชน์ในปริมาณที่จ่ายให้สำหรับการใช้ประโยชน์เป็นเวลาสามสิบวัน
- ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วนัถัดจากวันประกาสในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ที่มา – อนุทิน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา