กทม. ประกาศมาตรการเฝ้าระวังปัญหาจากการใช้กัญชา กัญชงในโรงเรียน สังกัดกรุงเทพฯ

หลังจากที่ก่อนหน้านี้อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เคยพูดถึงเรื่องเสรีกัญชาว่า เรื่องกัญชานั้นก็ต้องระวังนิดนึง พอเปิดเสรีแล้วก็เป็นห่วงกลุ่มเปราะบางเหมือนกันเพราะว่าอาจจะไม่เข้าใจโดยเฉพาะกับการใช้กับอาหาร เดี๋ยวจะดูแนวคิดว่าจะดูแลโรงเรียนอย่างไรเพื่อให้ปลอดจากกัญชา หลังจากนั้นก็เริ่มมีประกาศมาตรการเฝ้าระวังออกมา

BMA-cannabis-measure

ด้าน ผศ. ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยเรื่องกัญชาเสรีว่า จะให้โรงเรียนมีสิทธิ์ตรวจตราหรือขอทราบประเภทอาหาร-ขนม หรือสิ่งใดๆ ก็ตามที่มีความสุ่มเสี่ยงทำให้กัญชาแอบแฝงหรือเจือปนเข้าสู่สถานศึกษาหรือโรงเรียนได้ ซึ่งเด็กและเยาวชนที่อายุไม่เกิน 18-20 ปี ทางการแพทย์ยังไม่แนะนำให้ใช้กัญชา โรงเรียนในสังกัด กทม. ทั้ง 437 โรงเรียนจะมีครูพยาบาล มีบุคคลากรทำหน้าที่ดูแลอาหาร ขนมสวัสดิการต่างๆ ที่จะเข้าสู่โรงเรียน ต้องจัดการกำกับไม่ให้มีกัญชาในอาหารหรือไม่ให้มีการเอากัญชาหรือผลิตภัณฑ์กัญชาใดๆ เข้ามาอยู่ในสภาพแวดล้อมของโรงเรียน

ผศ. ทวิดา ระบุ ขอให้ประชาชนระมัดระวังการใช้ ใช้อย่างรู้เท่าทันในปริมาณที่เหมาะสมและปลอดภัย เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงทั้งในด้านการแพทยื สาธารณสุข สุขภาพและเศรษฐกิจ

ผศ. ทวิดา กมลเวชช
ภาพจาก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

สำหรับมาตรการและการเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชาหรือกัญชงในนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ดังนี้

  1. ให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ “ปลอดกัญชาหรือกัญชง”
  2. งดจำหน่ายอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชงภายในโรงเรียนสังกัด กทม.
  3. ห้ามโฆษณาอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชงภายในโรงเรียนนสังกัด กทม.
  4. ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาภายในโรงเรียนสังกัด กทม. ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างแก่นักเรียนและกวดขัน ดูแลนักเรียนมิให้มีการบริโภคกัญชาหรือกัญชง
  5. ให้โรงเรียนสังกัด กทม. มุ่งเน้นให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงและอันตรายจากกัญชาหรือกัญชง แก่นักเรียนด้วยการบูรณาการเข้ากลุ่มสาระการเรีนรู้และกิจกรรมต่างๆ ในการเรีนการสอนทุกระดับ
  6. ให้โรงเรียนสังกัด กทม. มีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายและจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมนักเรียนตามความถนัดหรือความสนใจ โดยสอดแทรกและเน้นย้ำเรื่องพิษภัยของกัญชาหรือกัญชง
  7. ให้โรงเรียนสังกัด กทม. ประชาสัมพันธ์เรื่องโทษของการใช้กัญชาหรือกัญชงที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของนักเรียน
  8. ประสานความร่วมมือ แจ้งนโยบายการเฝ้าระวังปัญหาฯ แก่ผู้ปกครอง ชุมชน รวมทั้งผู้ประกอบการร้านค้ารอบโรงเรียน เฝ้าระวังไม่ให้มีการจำหน่าย อาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชง
  9. ให้ผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนสังกัด กทม. ประสานความร่วมมือกับสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักการศึกษา และสำนักงานเขตเพื่อบูรณาการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชาหรือกัญชงในโรงเรียนสังกัด กทม. อย่างใกล้ชิด ลงประกาศ ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2565

ที่มา  – กทม. (1), (2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา