กสทช. โดนฟ้องร้องจากกรณีการควบรวมของ True และ dtac เพราะแก้ไขกฎหมาย ให้ควบรวมโดยไม่ต้องอนุญาต กสทช. เมื่อปี 61 และเปลี่ยนไปใช้ระบบแจ้งเพื่อทราบแทน
จากกรณีการควบรวบของสองบริษัทโทรคมนาคมอย่าง True และ dtac ล่าสุด มีการยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับการแก้ไขประกาศ กสทช. เกี่ยวกับการควบรวมกิจการ
Brand Inside คุยกับ STATO Public Law สำนักงานกฎหมายด้านคดีปกครองโดยเฉพาะแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยและสรุปข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องในครั้งนี้เอาไว้ ดังนี้
การฟ้องร้องในครั้งนี้มีผู้ฟ้องคดี คือ ณภัทร วินิจฉัยกุล กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ของกสทช. หรือซูเปอร์บอร์ด กสทช. โดยมี STATO Public Law เป็นผู้รับมอบอำนาจ (ทนายความ) ในการสู้คดีครั้งนี้
การแก้ประกาศ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
STATO ให้ข้อมูลว่า จากเดิมผู้ประกอบจะต้องขออนุญาต กสทช. ก่อนจึงจะควบรวมกิจการ ตามประกาศ กสทช. ปี 2553 ล่าสุดมีการแก้ไขประกาศ กสทช. เปลี่ยนมาใช้ระบบแจ้งเพื่อทราบในปี 2560 (มีผลบังคับใช้ปี 2561)
หรือพูดง่ายๆ คือ ถ้ามีกรณีควบรวมกิจการเกิดขึ้น ผู้ประกอบการเพียงแค่แจ้ง กสทช. เพื่อทราบ แล้วก็สามารถควบรวมไปได้เลยแต่ กสทช. อาจจะมีมาตรการเยียวยาภายหลังได้ แต่ไม่ต้องขอคำอนุญาตอีกต่อไป
ทาง STATO ชี้ว่า การแก้ไขประกาศของ กสทช. ปี 2561 มีความไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ เช่น ประกาศในปี 2561 ขัดกับกฎหมายที่มีระดับใหญ่กว่าอย่างพรบ. และยังขัดกับประกาศ กสทช. ปี 2549 ที่ออกแบบเอาไว้ว่าการควบรวมจะต้องใช้ระบบอนุญาต ไม่ใช่แจ้งเพื่อทราบ
นอกจากนี้ STATO ยังระบุอีกว่า การที่ กสทช เป็นหน่วยงานกำกับดูแล มีหน้าที่กำกับดูแลตามกฎหมาย การที่จะแก้ไขหลักเกณฑ์ซึ่งเป็นนโยบายแห่งรัฐนั้น จะต้องกลับไปให้รัฐสภาแก้กฎหมายก่อนไม่ใช่ให้กสทช. ทำโดยลำพัง
ศาลให้เวลา True-dtac เตรียมเอกสารเพิ่ม 30 วัน
STATO ชี้แจงอีกว่า ล่าสุด กสทช. ออกมาแก้ต่างกับศาลปกครองว่า หากมีการควบรวมเกิดขึ้นจริง กสทช. มีอำนาจที่จะกำหนดมาตรการเฉพาะในการสั่งให้ยกเลิกการควบรวม
แต่เอาเข้าจริง ก่อนหน้านี้ กสทช. เคยไปชี้แจ้งต่อกรรมาธิการในสภาว่ามาตรการเฉพาะที่ กสทช. มีอำนาจกำหนดนั้นไม่ได้รวมถึงการสั่งให้ยกเลิกการควบคุม
ซึ่งทาง STATO ระบุว่าการให้คำตอบดังกล่าวต่อศาล เป็นไปเพื่อให้ศาลเข้าใจว่ากรณีการควบรวมไม่ใช่เรื่องฉุกเฉิน ไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง ‘ทุเลา’ (ระงับการควบรวมเอาไว้จนกว่าคดีนี้จะถึงที่สุด)
ศาลจึงให้เวลาทาง True และ dtac เพิ่มเติมอีก 30 วัน ในการเตรียมเอกสารเพิ่มเติม ดังนั้น วันนี้ STATO จึงได้ขอไต่สวนฉุกเฉินอีกรอบเพื่อให้ศาลเห็นถึงความเร่งด่วนของกรณีนี้
STATO Public Law ยังพูดถึงกรณีการควบรวมในครั้งนี้เอาไว้อีกว่า ที่จริงแล้วการควบรวมสามารถเกิดขึ้นได้เพียงแต่ต้องขออนุญาตกันให้ถูกต้อง หรือหากต้องการเปลี่ยนแนวนโยบายแห่งรัฐว่าด้วยการควบรวมจากระบบขออนุญาตเป็นระบบแจ้งเพื่อทราบ ก็จะต้องขอให้สภาแก้กฎหมายในเรื่องนี้เสียก่อน ไม่ใช้ กสทช. ทำไปโดยลำพัง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา