เก๋ากำลังสอง! ช้างดาว ร่วมมือ ห่านคู่ พัฒนาสินค้าใหม่ภายใต้แนวคิด การแต่งตัวที่เหนือกาลเวลา

ในที่สุด ช้างดาว และ ห่านคู่ สองแบรนด์เครื่องแต่งกายสัญชาติไทยอายุกว่า 70 ปี ได้ลงนามพัฒนาสินค้าร่วมกันเสียที เพราะก่อนหน้านี้ รองเท้าแตะช้างดาว กับเสื้อยืดห่านคู่ มักถูกสวมใส่คู่กันโดยผู้บริโภคอยู่บ่อยครั้ง

แม้ยังไม่มีรายละเอียดว่ารูปแบบสินค้าจะออกมาเป็นอะไร แต่ผู้บริหารของทั้งสองแบรนด์เผยความลับเล็ก ๆ ว่า ช้างดาวจะไปอยู่บนห่านคู่ และห่านคู่จะไปอยู่บนช้างดาว ต่อยอดจากที่ทั้งคู่ก่อตั้งปี 2496 เหมือนกัน

ถ้าอยากรู้คำตอบคงต้องรอวันที่ 29 มี.ค. ที่ทั้งสองแบรนด์จะแถลงข่าวร่วมกัน ดังนั้นก่อนถึงวันดังกล่าว Brand Inside อยากชวนผู้อ่านมารู้จักกับ ช้างดาว และห่านคู่ กันให้มากขึ้น

ไล่ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของ ช้างดาว และห่านคู่, เส้นทางการเติบโตของทั้งสองธุรกิจ รวมถึงการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจไปอยู่ในมือคนรุ่นใหม่ หากพร้อมแล้วก็ย้อนอดีตไปกับสองแบรนด์ไทยสุดเก๋ากันเลยครับ

ช้างดาว ห่านคู่

ช้างดาว รองเท้าคู่คนไทย

หากย้อนประวัติของ ช้างดาว คงต้อนย้อนไปปี พ.ศ. 2496 ที่ตอนนั้น บริษัท ผลิตยางนันยาง (ไทย) จำกัด เริ่มเดินสายการผลิตรองเท้าผ้าใบในประเทศไทยชื่อ นันยางตราช้างดาว มี ซู ถิง ฟาง หรือ วิชัย ซอโสตถิกุล กับ บุญสม ซอโสตถิกุล ภรรยา เป็นเจ้าของ และควบคุมการผลิตทุกขั้นตอน หลังเคยนำเข้ารองเท้าผ้าใบจากสิงคโปร์มาขายก่อน

จากนั้นปี 2499 สินค้าใหม่ รองเท้าแตะตราช้างดาว รุ่น 200 ถูกพัฒนาขึ้น ช่วงแรกมี 2 สีคือ สีน้ำตาล และสีน้ำเงิน ขายราคาคู่ละ 15 บาท ฮิตติดตลาดอย่างรวดเร็ว เพราะด้วยความทนทาน และสวมใส่สบาย จนรองเท้าแตะรุ่นนี้ขายมาถึงปัจจุบัน และเป็นหนึ่งในสินค้าสำคัญของบริษัท

ทั้งรองเท้าผ้าใบ และรองเท้าแตะ ต่างเป็นสองสินค้าหลักของบริษัทตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่อาจปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มากขึ้น เช่นการทำสีใหม่ หรือการทำให้รองเท้าผ้าใบสวมใส่สบายกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีการนำวิธีผลิตแบบดั้งเดิมมาผลิตรองเท้าผ้าใบเช่นกัน

ช้างดาว

ผู้บริหารรุ่นที่ 3 กับการดูแลธุรกิจ

ถึงตอนนี้ นันยาง อยู่ในมือผู้บริหารรุ่นที่ 3 ทั้งฝั่งการตลาดที่มี จักรพล จันทวิมล เป็นผู้ดูแล และฝั่งการผลิตที่ควบคุมโดย ชัยพัชร์ ซอโสตถิกุล ทั้งคู่ต่างสร้างสีสันใหม่ ๆ ให้กับนันยางหลายครั้ง เช่น การทำรองเท้าสีพิเศษ และการร่วมมือกับศิลปินต่าง ๆ เพื่อยกระดับแบรนด์ขึ้นไปอีกขั้น

อย่างไรก็ตาม ขาสำคัญของรายได้ นันยาง คือ การจำหน่ายรองเท้านักเรียน ซึ่งช่วงสองปีที่ผ่านมา การระบาดของโรค โควิด-19 ทำให้นักเรียนต้องเรียนที่บ้าน และไม่มีความจำเป็นต้องซื้อรองเท้าใหม่ ทำให้ นันยาง ต้องคิดท่าใหม่ ๆ เพื่อคงรายได้สำคัญนี้ไม่ให้หายไปไหน

สำหรับรายได้ บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ธุรกิจขายส่งรองเท้า รายงานผลประกอบการ 3 ปีล่าสุดกับกระทรวงพาณิชย์ดังนี้

  • 2563 รายได้รวม 1,297 ล้านบาท กำไรสุทธิ 30 ล้านบาท
  • 2562 รายได้รวม 1,243 ล้านบาท กำไรสุทธิ 32 ล้านบาท
  • 2561 รายได้รวม 1,106 ล้านบาท กำไรสุทธิ 27 ล้านบาท

ห่านคู่ เสื้อยืด เสื้อกล้าม ขวัญใจคนไทย

ต่อกันด้วยแบรนด์ ห่านคู่ เสื้อยืด และเสื้อกล้าม ที่อยู่คู่คนไทยมายาวนาน โดย ห่านคู่ ก่อตั้งปีเดียวกับ นันยาง หรือปี 2496 โดย จือฮ้ง แซ่ฉั่ว หรือ เจือ ธนสารสมบัติ ขาย เสื้อยืด, เสื้อกล้าม และกางเกงในยืด ก่อนปี 2499 จะจัดตั้ง บริษัท โรงงานไทยแลนด์นิตติ้ง จำกัด เพื่อผลิต และจำหน่ายแบรนด์ห่านคู่อย่างจริงจัง

การผลิต และการทำตลาดค่อย ๆ ขยายตัว จนปี 2532 ห่านคู่ สามารถมีช่องทางจำหน่ายครอบคลุมทั่วประเทศไทย และเริ่มมองการขยายออกไปในตลาดต่างประเทศมากขึ้น แต่เวลานั้นก็ไม่ง่าย เพราะเริ่มมีแบรนด์จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดมากขึ้น จูงใจคนไทยไปได้จำนวนหนึ่ง

แต่ด้วยเอกลักษณ์ และคุณภาพของเสื้อ ห่านคู่ ทำให้แบรนด์นี้มียอดขายเติบโตแบบเงียบ ๆ และประคองธุรกิจได้เรื่อยมา จนปัจจุบัน ห่านคู่ อยู่ในมือ คุณากร ธนสารสมบัติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานไทยแลนด์นิตติ้ง จำกัด  ผู้บริหารรุ่นที่ 3 เช่นเดียวกับ นันยาง

ห่านคู่

เป็นแค่เสื้อยืด เสื้อกล้าม สีขาวคงไม่พอ

ในทางกลับกัน การที่ ห่านคู่ ขายแค่เสื้อยืด และเสื้อกล้ามสีขาวเหมือนในอดีตคงไม่เพียงพอในยุคนี้ ทำให้แบรนด์ผลิตเสื้อสีอื่น รวมถึงเสื้อที่มีคุณสมบัติต่าง ๆ เช่น ระบายเหงื่อได้ดี หรือมีไซส์ใหญ่พิเศษให้เลือก เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อสร้างสีสัน เช่นการทำเสื้อร่วมกับ ร้านอาหาร บาร์บีคิว พลาซ่า, ร้านขายเสื้อผ้า Carnival รวมถึงการเปลี่ยนตัวเองมาตัดเย็บหน้ากากอนามัยเพื่อเพิ่มรายได้อีกช่องทาง ถือเป็นการปรับตัวที่น่าสนใจของ ห่านคู่

สำหรับรายได้ บริษัท โรงงานไทยแลนด์นิตติ้ง จำกัด รายงานผลประกอบการ 3 ปีล่าสุดกับกระทรวงพาณิชย์ดังนี้

  • 2563 รายได้รวม 467 ล้านบาท กำไรสุทธิ 81 ล้านบาท
  • 2562 รายได้รวม 606 ล้านบาท กำไรสุทธิ 119 ล้านบาท
  • 2561 รายได้รวม 584 ล้านบาท กำไรสุทธิ 112 ล้านบาท

สรุป

ความร่วมมือกันระหว่างสองแบรนด์เก่าแก่น่าสร้างสีสันให้ นันยาง และ ห่านคู่ไม่น้อย เพราะความร่วมมือแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ ดังนั้นต้องรอดูว่าสินค้าที่ผลิตออกมาร่วมกันจะสร้างรายได้ และเป็นกระแสมากแค่ไหน ซึ่งก็หวังว่าทั้งสองแบรนด์นี้จะประคองธุรกิจจนเป็นธุรกิจไทยอายุ 100 ปีได้ในอนาคต

อ้างอิง // นันยาง, ห่านคู่

อ่านข่าวเกี่ยวกับ นันยาง และห่านคู่ เพิ่มเติมที่นี่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา