เปิดเบื้องหลัง… จากรองเท้าแตะช้างดาวสู่ “รองเท้า KHYA (ขยะ)” 

นันยางปิ๊งไอเดียสุดกรีน เอารองเท้าแตะที่เป็นขยะมาแปรสภาพเป็นโปรเจ็คต์รองเท้า KHYA (ขยะ) เพื่อปลุกจิตสำนึกคนไทยลดขยะทางทะเล ตั้งเป้ายอดขาย 2,000 คู่

เอาขยะจากทะเล มาเพิ่มมูลค่าให้รองเท้าแตะ

ท่ามกลางปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งเรื่องขยะพลาสติก และขยะทางทะเลที่ล้นประเทศไทย ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ก็ได้เห็นทิศทางของแบรนด์ใหญ่ๆ ต่างมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความสำคัญแตกต่างกันออกไป

ล่าสุด “นันยาง” แบรนด์รองเท้านักเรียนขวัญใจวัยเก๋าได้ปิ๊งไอเดียในการนำเอาขยะทะเลมาทำเป็นรองเท้าคู่ใหม่ โดยที่เป็นส่วนผสมของขยะ กับรองเท้าแตะช้างดาว สินค้าดาวเด่นของนันยางนั่นเอง

โปรเจ็คต์นี้มีชื่อว่า “รองเท้า KHYA (ขยะ)” เป็นความร่วมมือกันระหว่าง “รองเท้าแตะช้างดาว” จากนันยาง และ “ทะเลจร” แบรนด์ Upcycling วัสดุจากทะเลซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร

เบื้องหลังของโปรเจ็คต์นี้ “จักรพล จันทวิมล” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ได้บอกว่า

“ได้วางแผนคิดโปรเจ็คต์นี้มากว่า 1 ปีแล้ว มองเห็นว่าขยะในประเทศไทยเยอะ โดยเฉพาะปัญหาขยะทะเลเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ ซึ่งพบว่านอกจากพลาสติกแล้ว รองเท้าโดยเฉพาะรองเท้าแตะ มักถูกพบเป็นขยะทะเลจำนวนมาก นันยางในฐานะผู้ผลิตรองเท้าได้เห็นถึงปัญหาดังกล่าว ก็เห็นว่าจะเข้ามาช่วยอะไรได้บ้าง หรือเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ซึ่งรองเท้า KHYA (ขยะ) เกิดจากการ Upcycled ขยะทะเลที่เป็นรองเท้าแตะให้กลายเป็นรองเท้าแตะคู่ใหม่”

โปรดักชั่นการผลิตมากกว่าช้างดาว 3 เท่า

อย่างที่บอกว่ารองเท้า KHYA (ขยะ) เป็นส่วนผสมของรองเท้าแตะช้างดาว กับขยะรองเท้าแตะ โดยที่พื้นรองเท้าจะเป็นของช้างดาวที่คุ้นเคยกันดี ส่วนด้านบนจะเป็นการนำเอาขยะที่เป็นรองเท้าแตะมาผ่านกระบวนการผลิตใหม่ จะมีสีสันสดใสกว่ารองเท้าแตะช้างดาวทั่วไป

นันยางได้ตั้งราคาขายของรองเท้า KHYA (ขยะ) ไว้ที่ 399 บาท จากรองเท้าแตะช้างดาวปกติมีราคา 99 บาท

แน่นอนว่ามีราคาที่แพงกว่ากันถึง 4 เท่าตัว เพราะด้วยความตั้งใจให้เป็น Limited Edition อีกทั้งยังไม่ได้วางจำหน่ายทั่วไป ยังต้องสั่งผลิตเป็นออเดอร์ไป

อีกเหตุผลที่สำคัญก็คือกระบวนการผลิตของรองเท้าแตะคู่นี้ไม่ได้มาง่ายๆ มีต้นทุนที่สูงกว่า และกระบวนการผลิตที่มากกว่ารองเท้าแตะช้างดาวถึง 3 เท่า

จักรพลเอ่ยปากเลยว่า “ขยะไม่ได้ราคาถูกๆ นะครับ” กระบวนการผลิตรองเท้า KHYA (ขยะ) ต้องทำการเก็บขยะเป็นเวลา 2 เดือน ต้องใช้แรงงานมากกว่า และกระบวนการผลิตมากกว่ารองเท้าแตะช้างดาว 3 เท่า ทำให้ไลน์การผลิตของช้างดาวสะดุดไปด้วย

ถ้าให้เล่ากระบวนการโดยละเอียด นันยางจะได้รับขยะรองเท้าแตะมาจากกลุ่มอาสาสมัคร Trash Hero ที่รวมตัวกันเก็บขยะทะเล และคัดแยกประเภทขยะ และส่งต่อขยะรองเท้าจำนวนมากไปยังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นที่ทำการชั่วคราวของกลุ่มทะเลจรเพื่อเตรียมวัตถุดิบขั้นแรก จากนั้นจะส่งต่อมาที่นันยางเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตแบบจำนวนมาก (Mass Production)

กว่าจะมาเป็นรองเท้า KHYA (ขยะ) 1 คู่ เกิดจากเก็บขยะทะเลประมาณ 5 กิโลกรัม ถ้า 200 คู่ เท่ากับการเก็บขยะ 1 ตัน

ปลุกจิตสำนึกให้คนไทยลดขยะทางทะเล

จุดมุ่งหมายของการผลิตรองเท้า KHYA (ขยะ) เพื่อเป็นโครงการตัวอย่าง และแทนสัญลักษณ์ที่ใช้สื่อสารกับผู้คนในสังคมพร้อมเชิญชวนให้ตระหนักถึงปัญหาขยะทะเล การมองเห็นคุณค่าของขยะ การนำขยะมาเพิ่มมูลค่า และเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีการของตนเองได้ตามความถนัด

เพราะปัจจุบันปัญหาขยะส่งผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมไปทั่วโลก โดยที่สหประชาชาติมีการประเมินว่าแต่ละปีมีพลาสติกประมาณ 8 ล้านตันถูกพัดออกสู่มหาสมุทร และมีเศษพลาสติกเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารของสัตว์ทะเล ซึ่งประเทศไทย เวียดนาม จีน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย รวมกันทิ้งขยะลงทะเลคิดเป็น 60% ของขยะทั้งหมด

ประเทศไทยปล่อยขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทรมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก หรือ 1.03 ล้านตัน/ปี และคนไทยสร้างขยะประมาณ 27 ล้านตัน/ปี เทียบเท่าช้าง 5.56 ล้านตัว หรือ 73,000 ตัน/วัน หรือ 1.1 กิโลกรัม/คน/วัน

จักรพลบอกอีกว่า จากการที่เก็บขยะริมชายหาดนอกจากพบขยะพลาสติก สิ่งหนึ่งที่พบเยอะที่สุดก็คือรองเท้าแตะ เพียงระยะเวลาไม่นานสามารถเจอได้เป็นล้านๆ ข้าง ที่สำคัญคือใช้เวลาย่อยสลายนาน ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ซึ่งรองเท้าแตะส่วนใหญ่จะทำมาจากวัสดุโฟมยาง EVA หรือ Ethylene Vinyl Acetate (ไวนิลอะซิเตทเอทิลีน)

แนวทางของรองเท้า KHYA (ขยะ) จึงเป็นแบบ Upcycling นำทรัพยากรที่ใช้แล้วมาหมุนเวียนกลับมาใช้ให้เป็นวัสดุใหม่ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่

รองเท้า KHYA (ขยะ) จะจำหน่ายในราคา 399 บาท (รวมค่าจัดส่งในประเทศไทย) วางจำหน่ายแบบสั่งจองล่วงหน้าเท่านั้น ระหว่างวันที่ 14-23 สิงหาคม 2562 ผ่านช่องทางการสั่งจอง 1. เวปไซต์ www.KHYA.net  2. LAZADA  หรือ  SHOPEE 3. ที่ทำการไปรษณีย์ไทย 1,400 สาขาทั่วประเทศ และ 4. THP Contact Center 1545 โดยสินค้าจะจัดส่งให้แก่ผู้สั่งจองได้ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2562

หลังจากที่เปิดให้สั่งเพียงแค่ 9 วัน ก็จะผลิตตามคำสั่งซื้อเท่านั้น จะไม่ผลิตเกิน และไม่ผลิตซ้ำ นั่นคือหมดแล้วหมดเลย โดยรายได้จากการจำหน่ายรองเท้า จะนำไปมอบให้แก่หน่วยงานและโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ต่อไป

สรุป

ถือว่าเป็นอีกแคมเปญน่าสนใจ เป็นการช่วยสิ่งแวดล้อม นำเอาสินค้าที่มีอยู่มีพัมนาให้มีความโดดเด่น แถมยังมีสตอรี่เรื่องราวเพิ่มมูลค่าได้ นอกจากจะได้ช่วยสิ่งแวดล้อม ยังได้แบรนด์เลิฟเพิ่มอีกด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา