หลังจากที่ Facebook page คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและประธานอนุกรรมการ Coding แห่งชาติ โพสต์ข้อความเตรียมหารือร่วมมือกับเกาหลีเหนือ ทั้งด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรม จนเป็นที่ตั้งคำถามจากแฟนเพจและผู้พบเห็นมากมายว่า ทำไม เหตุใดไทยจึงเลือกทำความร่วมมือในมิตินี้กับเกาหลีเหนือ จนในที่สุด เพจต้องลบสเตตัสดังกล่าว
ไทยกับเกาหลีเหนือ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี) เริ่มแลกเปลี่ยน ติดต่อกันด้านการค้าและกีฬาตั้งแต่ปี 2515 จากนั้นไทยและเกาหลีเหนือเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตและแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูตระหว่างกันตั้งแต่ 8 พฤษภาคม 2518 (นับถึงวันนี้ก็กินระยะเวลาเกือบ 50 ปีแล้วหรือประมาณ 47 ปี) ถือว่าเป็นความสัมพันธ์อันยาวนานที่หากจะคิดร่วมมือกันหลากมิติมากขึ้นก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพียงแต่เกาหลีเหนือมักจะถูกมองข้ามเนื่องจากภาพลักษณ์ที่ดูเผด็จการและถูกโลกตะวันตกคว่ำบาตรต่อเนื่อง เราจึงไม่ค่อยได้เห็นใครเปิดเผยความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับเกาหลีเหนืออย่างชัดเจน เปิดเผยนัก
ข้อความจากเพจดังกล่าว ปรากฎดังนี้
#คุณหญิงโค้ดดิ้ง ส่ง ทปษ. ยกแม่แบบคณะ กก. Coding แห่งชาติ ร่วมหารือทูตเกาหลีเหนือ/ ความร่วมมือด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ทปษ. และ ปธ. ยุทธศาสตร์นโยบาย รมช.ศธ. (ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) ในฐานะ ปธ. อนุกรรมการ Coding แห่งชาติ ด้านการสร้างความตระหนักรู้ สื่อสารและประชาสัมพันธ์ฯ เข้าร่วมหารือกับ เอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือ (นายคิม เช พง (H.E. Mr. Kim Je Bong) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีประจำประเทศไทย (เกาหลีเหนือ) ในหลากหลายมิติ ด้านการศึกษา การเกษตรด้านอุปกรณ์การแพทย์ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม บนมิติ Coding for all ณ สถานทูตเกาหลีเหนือประจำประเทศไทย
#คุณหญิงโค้ดดิ้ง
#ครูกัลยา
#คณะกรรมการCodingแห่งชาติ
ตัวอย่างความคิดเห็นของประชาชนที่พบเห็นความร่วมมือดังกล่าว
Coding คืออะไร?
วสันต์ ลิ่วลมไพศาล Co-Founder เว็บไซต์ Blognone อธิบายให้เราฟังเกี่ยวกับคนทำงาน coding ว่า เป็นงานที่คนแปลงความต้องการของคนทั่วไปให้คอมพิวเตอร์เข้าใจ กล่าวคือคอมพิวเตอร์ทำงานได้รวดเร็วมาก มันไม่เข้าใจภาษาคน การ coding คือการแปลงความต้องการของคนให้เป็นภาษาคอมพิวเตอร์
เช่น ใน Excel ก็สามารถทำ coding ได้ หรือการใช้ภาษา Blockly ให้เป็นข้อมูลภาพ หรือการทำข้อมูลจำนวนมาก เช่น คนไทยที่มีรายได้ 5,000 บาทต่อเดือนมีใครบ้างกว่าจะเก็บข้อมูลและประมวลผลใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ถ้ามีข้อมูลรายได้อยู่แล้วและนำเข้าคอมพิวเตอร์ เช่น ข้อมูลจากประกันสังคม ก็สามารถทำข้อมูลประมวลผลออกมาได้เร็ว
เมื่อพูดถึงประเทศที่ส่งออกโปรแกรมเมอร์เก่งๆ จำนวนมากก็คืออินเดีย ขณะที่อเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้เราก็รู้อยู่แล้วว่าเขาเป็น 1st class เพราะมีธุรกิจจำนวนมาากในโลกเทคโนโลยี เราใช้ Line จากญี่ปุ่น เราเล่นเกมจากเกาหลีใต้ เป็นต้น ตัวอย่างอินเดียมีการส่งออกแรงงานกลุ่มนี้เยอะ นอกจากนี้ก็ยังมียุโรปตะวันออกด้วย อย่างเช่น บริษัทเกมที่ใหญ่มากแห่งหนึ่ง เช่น CD Projekt จากโปแลนด์ เป็นต้น
Google จัดแข่งเขียนโปรแกรม เขาก็มีการวัดกันว่า คนเข้าร่วมมากน้อยเพียงใด เราก็จะพบว่า อินเดียมีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ข้อมูลจาก Google Code Jam Stats พบว่ามีคนเข้าร่วมงานจากทั่วโลกอยู่ที่ 37,398 คน มีคนเข้าร่วมจากประเทศอินเดียเป็นจำนวนมากที่สุด ซึ่งก็เป็นเพราะว่าอินเดียมีโปรแกรมเมอร์เก่งๆ เยอะ และยังมีคนสายไอทีเป็นจำนวนมากด้วย รองจากอินเดียคือสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ บังคลาเทศ รัสเซีย ไต้หวัน ฝรั่งเศส และแคนาดา
นอกจากนี้ ประเทศที่ทำ Coding ได้คะแนนมากที่สุด (นี่เป็นอันดับคะแนนที่ยังไม่สรุปผล) ถูกจัดลำดับดังนี้ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย ฝรั่งเศส และสิงคโปร์
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ทั้งการเข้าร่วมการแข่งขันเขียนโปรแกรมและคะแนนที่ถูกจัดอันดับไม่ได้ระบุชื่อประเทศเกาหลีเหนือ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศเกาหลีเหนือไม่ได้เก่งหรือไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ เพียงแต่อาจจะไม่ได้เข้าร่วมเท่านั้น
เกาหลีเหนือ แม้ทรัพยากรจำกัด แต่ก็มีข่าว Hacker ออกมาต่อเนื่อง
วสันต์ระบุว่าเกาหลีเหนือ เป็นประเทศที่มีทรัพยากรจำกัดแต่ก็ลงทุนเกี่ยวกับด้านนี้มากเช่นกัน เราจะเห็นข่าวเกี่ยวกับ hacker อยู่เรื่อยๆ และมักจะมีการอ้างถึงว่า hacker เกี่ยวข้องกับเกาหลีเหนือ แต่เราก็ไม่เคยมีหลักฐานอย่างชัดเจน แต่ก็มีรายงานเปิดเผยให้เห็นบ่อยๆ ว่า ปัญหา security ด้านนี้ ด้านนั้น มีเกาหลีเหนือมาเกี่ยวข้องอยู่เรื่อยๆ ซึ่งรัสเซียก็มีประเด็นเช่นกัน
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การผูกสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ โดยปกติที่มักจะโดนคว่ำบาตรต่อเนื่องยาวนาน ทำให้มีรายชื่ออยู่ในลิสต์ว่าไทยไม่สามารถส่งออกสินค้าบางประเภทไปได้โดยตรง คำถามที่ต้องตอบคือประเทศที่โดนคว่ำบาตรอยู่ เราจะร่วมมืออย่างเป็นทางการได้อย่างไร
ยกตัวอย่างจากสถานการณ์ที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบันคือรัสเซีย เป็นประเทศที่โดนคว่ำบาตรหลังบุกยูเครน จะมีรัฐบาลแถบประเทศตะวันตกระบุว่า ธุรกิจบางประเภทนั้นถูกห้ามไม่ให้ทำการค้าขายด้วย หรือเกาหลีเหนือถ้าอยู่ในช่วงที่โดนคว่ำบาตรอยู่ ก็จะถูกห้ามทำการค้าขายร่วมด้วยเช่นกัน
สินค้าเทคโนโลยีหลายตัวก็จะถูกห้ามส่งออกไปเกาหลีเหนือเช่นกัน แล้วไทยจะผูกสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือได้อย่างเปิดเผยชัดเจนได้มากถึงระดับใด? ประเด็นนี้คงต้องสืบค้นข้อมูลต่อไปว่า สหรัฐฯ หรือประเทศแถบตะวันตกคว่ำบาตรเกาหลีเหนืออยู่ที่ระดับใดแล้วเพราะที่ผ่านมาก็ถูกคว่ำบาตรมาโดยตลอด อีกทั้งช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรก็เพิ่งจะประณามเกาหลีเหนือไปด้วย กรณีที่มีการทดสอบยิงขีปนาวุธ ถือว่าเป็นการกระทำที่ยั่วยุ ปลุกปั่น
เกาหลีเหนือภายใต้เปลือกการปกครองเผด็จการ อาจมีกองทัพ Hacker ฝีมือระดับพระกาฬที่นี่
Bloomberg เคยรายงานถึงกองทัพแฮกเกอร์ของเกาหลีเหนือนี่แหละที่จะทำให้ท่านผู้นำ Kim Jong Un อยู่ในอำนาจได้ดี ซึ่งบลูมเบิร์กเองก็อ้างข้อมูลจาก U.S. Cybersecurity & Infrastructure Security Agency ไว้ว่า เกาหลีเหนือมีทีมสนับสนุนในการทำภารกิจไซเบอร์ที่มุ่งร้ายหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐอื่น
ตัวอย่างเช่น การมุ่งเป้าไปยังธนาคารทั่วโลก โจรกรรมความลับด้านการป้องกันประเทศ ข่มขู่เอาเงินจากการเรียกค่าไถ่จากเหยื่อ (ransomware) แฮกเกอร์โจรกรรมเงิน ฟอกเงินผิดกฎหมาย โจรกรรมเงินผ่านคริปโต
มีการประเมินเม็ดเงินจากอาชญากรรมไซเบอร์พบว่า เงินที่เกาหลีเหนือได้นี้คิดเป็น 8% ของเศรษฐกิจประเทศในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา ถือเป็นเม็ดเงินที่มีจำนวนน้อยกว่าช่วงที่คิม จองอึนขึ้นครองอำนาจใหม่ๆ เฉพาะแค่ปี 2022 นี้ก็เพิ่งมีข่าวช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า เกาหลีเหนือแฮกเหรียญคริปโตเพื่อใช้เป็นทุนพัฒนาโครงการขีปนาวุธหลายสิบล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2021 องค์การสหประชาชาติก็เคยออกมาแฉว่าเกาหลีเหนือโจรกรรมทางการเงินตั้งแต่ปี 2019 ถึงพฤศจิกายนปี 2020 ไปแล้วราว 314 ล้านเหรียญสหรัฐ
สรุป
ถ้าย้อนกลับไปสืบค้นข้อมูลย้อนหลัง คาดว่าน่าจะเผยสถิติการโจมตีทางไซเบอร์และการโจรกรรมทางการเงินจากเหล่าแฮกเกอร์จากเกาหลีเหนือได้อีกเป็นจำนวนมาก เกาหลีเหนืออาจเป็นม้านอกสายตาของหลายคนทั่วโลกหากคิดจะร่วมมือด้านไซเบอร์ด้วย เนื่องจาก ประเทศที่เป็นพันธมิตรกันส่วนใหญ่ก็มักจะมีแนวทางหรือระบอบการปกครองคล้ายๆ กันและมีการผูกสัมพันธ์ พึ่งพาอาศัยกันต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งแน่นอนว่าไทยกับเกาหลีเหนือก็มีความสัมพันธ์ยาวนานเกือบ 50 ปีแล้ว
ประชาชนส่วนใหญ่อาจแปลกใจทำไมไทยเลือกกระชับสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ ทั้งที่ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยในโลกยังมีอีกมาก แต่ไทยเลือกสานสัมพันธ์กับประเทศที่มักจะโดนคว่ำบาตรอย่างสม่ำเสมอและมีท่าทีแข็งกร้าว ดุดันเช่นเกาหลีเหนือ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมประชาชนจึงข้องใจกับความสัมพันธ์ดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่าหากดูความสามารถด้านไซเบอร์ของเกาหลีเหนือที่ปรากฎผ่านสื่อบ่อยๆ อาจเข้าใจได้ว่าเพราะประเทศนี้ก็มีฝีมือและมีความเชี่ยวชาญไม่น้อยหน้าใครเช่นกัน
แต่การสานสัมพันธ์ดังกล่าวอย่างเปิดเผยของไทยเช่นนี้ก็อาจทำให้ไทยถูกมองว่าไทยก็ไม่ได้มีภาพลักษณ์ต่างจากเกาหลีเหนือนัก ดังภาษิตที่ว่า คบคนเช่นใด เป็นคนเช่นนั้น หรือเป็นไปตามงานวิจัยที่เคยเปิดเผยว่า ผู้คนมักจะเป็นดังค่าเฉลี่ยของคนที่อยู่รายล้อมรอบตัวเราอย่างน้อยห้าคน เป็นต้น
ที่มา – Facebook เพจ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช, รัฐบาลไทย, PRD, MFA, Vstrimaltis, The Guardian, Bloomberg, CISA, AP
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา