กลับเมกาอีกราย! Carl’s Jr. ยุติการดำเนินธุรกิจในไทยสิ้นเดือน มี.ค. 2565 เหตุแบกต้นทุนไม่ไหว

ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดต่างชาติยังวิกฤต ล่าสุด บริษัท อาร์แอนด์อาร์ เรสทัวรองท์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ถือสิทธิ์ร้าน Carl’s Jr. (คาร์ลซ จูเนียร์) ในประเทศไทย ประกาศปิดร้านทุกสาขาภายในสิ้นเดือน มี.ค. 2565 เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว

carl's jr.
ภาพจาก Carl’s Jr. Thailand (Nana)

Carl’s Jr. เหลือแค่ 2 สาขา ก่อนปิดหมดสิ้นเดือน มี.ค.

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมร้านอาหาร เปิดเผยว่า บริษัท อาร์แอนด์อาร์ เรสทัวรองท์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ถือสิทธิ์ร้าน Carl’s Jr. (คาร์ลซ จูเนียร์) ในประเทศไทย จะปิดให้บริการทุกสาขาภายในสิ้นเดือน มี.ค. 2565 ปัจจุบันเหลือสาขาเปิดให้บริการเพียง 2 แห่งคือ สาขาฮอลิเดย์อินน์ กรุงเทพฯ สุขุมวิท กับอีกหนึ่งแห่งที่เมืองพัทยา

“บริษัทพยายามประคองธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 แต่สุดท้ายร้าน Carl’s Jr. ไม่สามารถไปต่อได้ เนื่องจาก CKE Restaurants Holdings บริษัทเจ้าของแฟรนไชส์ Carl’s Jr. บังคับให้ใช้วัตถุดิบจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนไม่ได้” แหล่งข่าวเผย

ทั้งนี้ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ประเทศไทยค่อนข้างเข้มงวดเรื่องการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกา เพราะเวลานั้นโรคโควิด-19 ระบาดอย่างหนักที่นั่น จนหลากหลายสินค้าติดอยู่ที่ระบบตรวจ หนึ่งในนั้นคือเนื้อวัวที่บริษัท อาร์แอนด์อาร์ เรสทัวรองท์ กรุ๊ป จำกัด จะนำเข้ามาใช้ดำเนินธุรกิจ Carl’s Jr.

10 ปีที่ทำตลาดในไทยก่อนลาจาก

Carl’s Jr. เปิดสาขาแรกในประเทศไทยเดือน มิ.ย. 2555 ที่ เซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยาบีช และเปิดสาขาในกรุงเทพเพิ่มเติมภายหลัง เช่น สาขาอโศก และนานา โดยช่วงต้นปี 2564 ทางร้านมี 6 สาขา และหลังจากปิดสาขาทั้งหมด จะมีการจ่ายค่าชดเชยพนักงาน และย้ายพนักงานบางส่วนไปทำงานในธุรกิจอื่น

6 สาขาข้างต้นประกอบด้วย

  • คาร์ลซ จูเนียร์ สาขา นานาสแควร์ ชั้น G
  • คาร์ลซ จูเนียร์ สาขา อาคารมิดทาวน์อโศก ชั้น G
  • คาร์ลซ จูเนียร์ สาขา โรงแรมฮอลิเดย์ อินท์ ซอยสุขุมวิท 22 ชั้น G
  • คาร์ลซ จูเนียร์ สาขา ซอยสุขุมวิท 11สาขาพัทยา ชลบุรี
  • คาร์ลซ จูเนียร์ สาขา Terminal 21 ชั้น 3
  • คาร์ลซ จูเนียร์ สาขา เซ็นทรัลพลาซ่าพัทยาบีช ชั้น 3

“จุดเริ่มต้นของการนำ Carl’s Jr. เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยคือ เจ้าของบริษัทเรียนที่สหรัฐอเมริกา และมีความชื่นชอบเบอร์เกอร์ของร้านนี้ จึงติดต่อนำเข้ามาเปิดในไทย ซึ่งช่วงแรกก็ไปได้ค่อนข้างดี แต่เมื่อโรคโควิด-19 ระบาด ทุกคนต้องประหยัด และมีตัวแปรเรื่อง Work From Home เข้ามา ทำให้เราทำธุรกิจลำบาก”

สำหรับ บริษัท อาร์แอนด์อาร์ เรสทัวรองท์ กรุ๊ป จำกัด นอกจากทำธุรกิจร้าน Carl’s Jr. ยังซื้อแบรนด์ร้านอาหาร Koi Restaurant ร้านอาหารญี่ปุ่นแนวฟิวชั่นจากสหรัฐอเมริกา มีสาขาใน Trump Tower มาให้บริการในไทยช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาด แต่สุดท้ายบริษัทตัดสินใจปิดร้านนี้ไปเช่นกัน

Carl’s Jr. ในไทยขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

อ้างอิงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า บริษัท อาร์แอนด์อาร์ เรสทัวรองท์ กรุ๊ป จำกัด มีผลประกอบการ 3 ปีล่าสุดที่ส่งงบให้กระทรวงพาณิชย์ดังนี้

  • ปี 2563 รายได้รวม 39 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 43 ล้านบาท
  • ปี 2562 รายได้รวม 57 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 46 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้รวม 53 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 40 ล้านบาท

ปีแรกที่ทำธุรกิจ หรือปี 2555 ทางบริษัทเคยเปิดเผยว่าจะใช้งบประมาณการตลาดกว่า 80 ล้านบาท เพื่อสร้าง Carl’s Jr. ให้เป็นที่รู้จัก พร้อมวางแผนขยายสาขาถึง 9 แห่ง เน้นพื้นที่กรุงเทพ โดยนอกจากเบอร์เกอร์ ยังมีไก่ทอด และของทานเล่นเป็นอีกเมนูทางเลือก ส่วนราคาเบอร์เกอร์จะค่อนข้างพรีเมียม กล่าวคือราคา 100-250 บาท/ชิ้น

ขณะเดียวกันช่วงต้นปี 2564 Carl’s Jr. ในไทยมียอดขายเดลิเวอรีเติบโตขึ้นกว่า 19% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยเฉพาะ Carl’s Jr. สาขา อาคารมิดทาวน์อโศก ยอดดิลิเวอรี่ปรับขึ้นกว่า 90% แต่สุดท้ายยอดขายที่เพิ่มขึ้นกลับจุนเจือยอดขายหน้าร้านที่หายไปไม่ได้ และโซเชียลมีเดียของร้านไม่เคลื่อนไหวมาตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2564

ในทางกลับกัน CKE Restaurants Holdings เจ้าของแฟรนไชส์ร้านอาหารจากสหรัฐฮเมริกา Carl’s Jr. และ Hardee’s มีสาขาที่บริหารเอง และขายสิทธิ์แฟรนไชส์กว่า 3,800 แห่ง ในสหรัฐอเมริกา และอีก 43 ประเทศทั่วโลก โดยในอาเซียน Carl’s Jr. ยังมีสาขาที่ประเทศสิงคโปร์อยู่

สรุป

เป็นที่น่าเสียดายว่าแบรนด์ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดจากสหรัฐอเมริกาต้องจากประเทศไทยไปอีกราย แสดงให้เห็นถึงตลาดธุรกิจ QSR หรือ Quick Service Restaurant ในไทยไม่ง่าย และก็น่าลุ้นว่า จะมีร้านไหนต้องโบกมือลาตาม A&W และ Carl’s Jr. อีกหรือไม่

อ้างอิง // Thai PR 1, 2, Thairath

อ่านข่าวเกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหารเพิ่มเติมได้ที่นี่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา