เงินเฟ้อแตะ 4% สูงสุดรอบ 14 ปี น้ำมันพุ่ง อาหารแพง คนรัสเซีย นทท.หลักของไทยมาเที่ยวไม่ได้

KKP Research ประเมิน ไทยอาจเจอเงินเฟ้อเกิน 4% สูงสุดในรอบ 14 ปี เศรษฐกิจช้ำหนักจากน้ำมันพุ่ง อาหารแพง นักท่องเที่ยวหลักอย่างรัสเซียมาไทยไม่ได้

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ออกรายงาน “ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ” ประเมินความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนกำลังกลายเป็นความเสี่ยงใหญ่ของเศรษฐกิจโลกและไทย 

โดยเหตุการณ์นี้ยังมีความไม่แน่นอนสูงมากและผลลัพธ์ของสงครามในครั้งนี้มีความเป็นไปได้ 3 ทาง คือ 

  1. รัสเซียบุกเข้ายึดกรุงเคียฟและโค่นล้มรัฐบาลยูเครนสำเร็จจนบังคับให้ประเทศตะวันตกตัดการซื้อพลังงานจากรัสเซีย 
  2. การเจรจาหยุดยิงระหว่างยูเครนและรัสเซียประสบความสำเร็จและไม่มีการยกระดับมาตรการคว่ำบาตร 
  3. สงครามยืดเยื้อเป็นเวลานานและแผ่ในวงกว้าง 

สงครามยืดเยื้อดันเงินเฟ้อเกิน 4%

KKP Research ประเมิน สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนอาจทำเศรษฐกิจไทยชะลอ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นแรงที่สุดในรอบมากกว่า 10 ปี โดยผลกระทบจากสงครามจะกระทบเศรษฐกิจไทยใน 3 ช่องทางหลัก 

1. การส่งออกของไทยอาจขยายตัวได้น้อยกว่าที่ประเมินไว้ ผลกระทบทางตรงที่ไทยจะได้รับคือผลจากการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลง โดยแม้ว่าสัดส่วนการส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครนจะต่ำ คือ รวมกันประมาณ 0.7% ของการส่งออกทั้งหมด

European Union อียู สหภาพยุโรป
ภาพจาก Shutterstock

แต่การส่งออกไปยังยุโรปที่มีสัดส่วนกว่า 10% จะได้รับผลกระทบหากเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัว อย่างไรก็ตามผลกระทบที่น่ากังวลมากที่สุดจะเกิดจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ จากการหยุดชะงักของการค้าระหว่างไทยกับรัสเซียและยูเครน ส่งผลกระทบให้บางภาคการผลิตต้องหยุดกิจการ โดยกลุ่มสินคานำเข้าหลัก ได้แก่ ปุ๋ยเคมีและธัญพืช 

2. อัตราเงินเฟ้อในปี 2022 อาจปรับตัวสูงขึ้นเกิน 4% ตามราคาน้ำมันดิบโลก ความขัดแย้งในครั้งนี้จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ KKP Research ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือของปีจะสูงขึ้นเกิน 110 ดอลลาร์สหรัฐในช่วง บนสมมิฐานว่าประเทศตะวันตกจะมีการลดการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์จากรัสเซียลงบางส่วน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีสูงขึ้นเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจากที่เคยคาดไว้ที่ 85

และคาดว่ายังมีโอกาสที่ราคาน้ำมันเฉลี่ยจะสูงเกิน 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลในสถานการณ์ที่สงครามมีความรุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาด KKP Research ประเมินว่าเมื่อนับรวมกับปัญหาราคาอาหารสดและอาหารนอกบ้านที่แพงขึ้นก่อนหน้านี้ จะทำให้เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2022 ของไทยสูงขึ้นเกิน 4% สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2008 หรือสูงที่สุดในรอบ 14 ปี และจะส่งผลกลับมากระทบการบริโภคให้ชะลอตัวลง 

3. นักท่องเที่ยวอาจเดินทางมาน้อยกว่าที่ประเมินไว้ เกิดจากนักท่องเที่ยวรัสเซียที่จะเดินทางมาได้น้อยลง โดยในช่วงที่ต้นปี 2022  นักท่องเที่ยวรัสเซียเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาไทยมากที่สุด คิดเป็นประมาณเกือบ 10% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะเพิ่มต้นทุนการเดินทางระหว่างประเทศและทำให้อุปสงค์ต่อการท่องเที่ยวลดลง

travel

นอกจากนี้ ผลกระทบทางอ้อม ที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องและจะเป็นความท้าทายสำคัญต่อนโยบายเศรษฐกิจของไทย คือ ดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีโอกาสขาดดุลอีกครั้งในปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและไทยนำเข้าน้ำมันในสัดส่วนสูง ประกอบกับนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาได้น้อยกว่าที่คาดไว้จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดมีโอกาสขาดดุลเพิ่มเติม ในขณะที่แม้เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวลงเล็กน้อย

KKP Research ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐ ฯ จะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐ ฯ จะยังห่างออกจากกันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกดดันสำคัญจะเกิดขึ้นต่อค่าเงินบาทที่อาจผันผวนและอ่อนค่าลงได้ในระยะสั้น 

ผลกระทบเงินเฟ้อต่อคนไทย

แน่นอนว่าเงินเฟ้อที่พุ่งสูงกระทบชีวิตของคนไทยแน่นอน ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 5.28% วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค ก.พ. 2564 เทียบ ก.พ. 2565 สูงสุดที่สุดในรอบ 13 ปี มีสาเหตุหลักจากสินค้ากลุ่มพลังงาน รวมถึงอาหารและเครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนและราคาวัตถุดิบ

หมายความว่า ณ ตอนนี้ คนไทยเจอภาระการครองชีพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากราคาอาหารและพลังงาน

โดยราคาสินค้าหมวดต่างๆ เพิ่มขึ้น ดังนี้

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคของสินค้าชนิดอื่น สามารถเข้าถึงได้ที่ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค กุมภาพันธ์  2565 โดยกระทรวงพาณิชย์

สรุป

แม้ว่าสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ยังมีหลายทางออกที่เป็นไปได้ KKP Research ประเมินว่าในปัจจุบันมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่สถานการณ์จะเข้าสู่กรณีที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยได้ 

และเหตุการณ์นี้นับเป็นอีกหนึ่งแรงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะ Stagflation อย่างชัดเจนเช่นเดียวกับที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ และสร้างความท้าทายสำคัญต่อนโยบายการเงินไทยในระยะต่อไปที่ต้องดูแลทั้งเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนไปพร้อม ๆ กัน

ที่มา – KKP Research, กระทรวงพาณิชย์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา