สรุปประเด็น: สงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบไทยอย่างไรบ้าง? เจาะประเด็นร้อนกับ KResearch

ชาติตะวันตกทั้งรัฐและเอกชนตอบโต้ครั้งใหญ่ หลัง รัสเซีย บุกยูเครน เรื่องนี้กระทบไทยแค่ไหน เมื่อผนวกกับเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นจากโควิด? ไปหาคำตอบกับ KResearch

จากสถานการณ์ที่รัสเซียรุกรานเข้าไปในหลายพื้นที่ของยูเครนจนทำให้ชาติตะวันตกและพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนออกมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจรัสเซียกันยกใหญ่ 

คำถามสำคัญคือ ประเด็นการเมืองโลกที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในตอนนี้ จะทำให้เศรษฐกิจโลกที่เดิมทีก็บอบช้ำจากการระบาดของโควิดหลายระลอกเป็นทุนเดิมอย่างไรบ้าง?

Brand Inside พาผู้อ่านไปคุยกับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) มองภาพปัญหาด้านการเมืองโลกที่เกิดขึ้น และไขคำตอบว่าอะไรคือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อโลกและไทย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุน

รัสเซีย โดนโต้กลับหนักแค่ไหน?

คุณธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด แบ่งมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจออกเป็น 3 รูปแบบ คือ มาตรการระดับบุคคล ระดับประเทศ และการแซงก์ชันเต็มรูปแบบ 

รัสเซีย
คุณธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

มาตรการส่วนใหญ่ที่เราเห็นกัน ณ ตอนนี้ คือ มาตรการระดับบุคคล (Specially-Designated Nationals and Blocked-Persons List) ซึ่งหมายถึงการตอบโต้โดยมุ่งเน้นไปยัง บุคคล บริษัท เป็นรายๆ ไป เช่น 

  • ตัดธนาคารรัสเซีย 4-5 แห่งออกจากระบบ SWIFT 
  • BP ถอนหุ้นออกจากบริษัทพลังงานรัสเซีย 
  • ยกเลิกบริการ Google Pay และ Apple Pay ในรัสเซีย โดยเพ่งเล็งไปที่ธนาคารรัสเซีย 
  • จำกัดการเข้าถึงเนื้อหาข่าวของสำนักข่าวที่ใกล้ชิดรัฐบาลรัสเซียบน Facebook

การตอบโต้อาจยกระดับไปถึงระดับประเทศ (Comprehensive Sanctioned Countries List) หมายถึงการที่ประเทศประกาศคว่ำบาตรธุรกรรมกับประเทศหนึ่งๆ และการแซงก์ชันเต็มรูปแบบ (Full Financial Sanction) ซึ่งต้องได้เสียงสนับสนุนจากสหประชาชาติก่อนเหมือนในกรณีของอิหร่าน  

รัสเซีย ทำสงคราม ผลกระทบย้อนเข้าตัวเองขนาดไหน?

หลายคนคงได้เห็นผ่านตากันมาบ้างกับภาพประชาชนรัสเซียแห่ไปต่อคิวที่ธนาคารหรือตู้ ATM เพื่อถอนเงินสดมาเก็บไว้ในมือ หรือไม่ก็พยายามแลกเงินเป็นสกุลอื่นๆ ที่ไม่ใช่รูเบิลของรัสเซีย 

(Photo by Sean Gallup/Getty Images)

สาเหตุของนี้คือ ความเชื่อมั่นในเงินรูเบิลแทบหดหาย มูลค่าร่วงกว่า 30% จนรัฐบาลต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาเป็น 20% เพื่อชะลอการถอนเงินเอาไว้ นอกจากนี้ ดัชนีตลาดหุ้นรัสเซียยังร่วงลงไปกว่า 45% จนต้องปิดการซื้อขาย แถมหุ้นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในรัสเซียก็ยังร่วงลงมากว่า 70% 

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง การค้นหาคำว่า ‘Emigration’ ในกูเกิล หรือแปลให้เข้ากับบริบทไทยๆ คือ ‘ย้ายประเทศ’ ก็โตขึ้นถึง 5 เท่า 

คุณณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด พูดถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รัสเซียจะได้รับว่าจะต้องเจอกับเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากเดิมที่เคยมองเอาไว้ว่ารัสเซียจะโตได้ 2.8% ในปี 2022 ล่าสุดมีการคาดการณ์เอาไว้ว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะถดถอยได้ถึง -5% เลยทีเดียว

เงินเฟ้อ ท่องเที่ยว การค้า กระทบไทยหมด

“No one wins a war” คือคำที่จะอธิบายภาพของผลกระทบของความรุนแรงทางการทหารได้จริงๆ เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นในโลกที่ประเทศต่างๆ ถูกเชื่อมร้อยเข้าด้วยกันจากการพึ่งพากันทางเศรษฐกิจ คือการที่ทุกคนต้องเผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำร่วมกัน

แม้แต่ในเอเชียซึ่งถือว่าห่างไกลจากประเด็นปัญหานี้ก็ยังต้องเจอกับมรสุมเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

คุณณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

คุณณัฐพรชี้ว่า “สิ่งที่ชัดๆ ตั้งแต่ยังไม่มีวิกฤติรัสเซีย-ยูเครนคือเรื่องเงินเฟ้อ ยิ่งมาถึงตอนนี้ราคาพลังงานพุ่งสูง เช่น น้ำมันดิบเบรนท์วิ่งไปเกือบจะ 110 ดอลลาร์/บาร์เรล คิดว่าถึงจะรบกันจบราคาน้ำมันคงไม่ได้ย่อลงมาถึง 70-80 ดอลลาร์/บาร์เรลอย่างที่เป็นมาก่อนหน้านี้”

ในกรณีของไทย เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นจากการระบาดเต็มตัว ก็ต้องมาเจอภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้นตามราคาพลังงานก็ยิ่งบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนเข้าไปอีก

นอกจากนี้ การค้าคืออีกหนึ่งอย่างที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คุณณัฐพรชี้ว่า “หากลองมองย้อนไปยังแพทเทิร์นการส่งออกไปยังประเทศอิหร่านที่โดนแซงก์ชันก่อนหน้านี้ พบว่าการส่งออกจะหายไปประมาณ 50% ดังนั้น การส่งออกของเราไปยังรัสเซียก็อาจจะหายไปประมาณ 50% เช่นกัน”

สัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังรัสเซียจริงๆ ไม่ได้เยอะ โดยอยู่ที่ 0.4% ของการส่งออกทั้งหมด แต่สิ่งที่จะกระทบหนักๆ คือการนำเข้า เพราะสินค้าอันดับ 1 ที่ไทยนำเข้าจากรัสเซียคือน้ำมัน และยังมีแร่ Palladium ที่เป็นส่วนประกอบของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์

Sawasdee House

South China Morning Post ยังเสนอประเด็นเอาไว้ว่าสงครามครั้งนี้กระทบการท่องเที่ยวไทย เพราะสงครามครั้งนี้ทำให้ต้นทุนของชาวรัสเซียในการท่องเที่ยวต่างประเทศพุ่งขึ้น ทั้งจากค่าเงินที่อ่อนแอครั้งประวัติศาสตร์ มาตรการตอบโต้ที่ทำให้คนรัสเซียโอนจ่ายเงินได้ลำบากขึ้น ไปจนถึงการยกเลิกเที่ยวบิน

ที่สำคัญคือรัสเซียคือชาติที่มาท่องเที่ยวไทยมากที่สุดเมื่อปี 2019 คิดเป็นตัวเลขคือ 1.5 ล้านคน ซึ่ง KResearch ชี้ว่า จำนวนนี้ถือเป็น 7-8% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่มายังประเทศไทย

ผลกระทบต่อนักธุรกิจและนักลงทุน

คุณธัญญลักษณ์ชี้ว่า สำหรับผู้ที่มีการทำธุรกิจกับคู่ค้ารัสเซีย ควรแน่ใจว่าคู่ค้าสามารถจ่ายเงินได้ และถ้าเป็นไปได้ก็ควรทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินอื่นๆ ที่ไม่ใช่รูเบิลและหลีกเลี่ยงการทำ Credit Term

ส่วนในมุมของการลงทุน ตลาดการเงินมีความผันผวนสูงมาก ต่อให้ผลกระทบของการลงทุน การค้า หรือความสัมพันธ์ระหว่างไทยและรัสเซียไม่เยอะ แต่ข่าวนี้กระทบโลกพอสมควร และถ้ามองจากปัจจัยพื้นฐานก็จะไปกระทบความผันผวนของค่าเงินยูโร จึงน่าจะเป็นจังหวะที่ตลาด FOREX มีความผันผวนสูง

European Union อียู สหภาพยุโรป
ภาพจาก Shutterstock

ถ้าเราพูดถึงเหตุการณ์วิกฤติหรือเหตุการณ์ที่มีความไม่มั่นคงในเรื่องของความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ สินทรัพย์ Near Cash หรือสินทรัพย์ปลอดภัย ที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดเงินน้อย อาจจะเป็นสิ่งที่ช่วยปรับให้พอร์ตการลงทุนได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนน้อยลง (ทั้งนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจลงทุน)

สรุป

ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้มีความกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่พอสมควร สังเกตได้ว่า แม้รัสเซียจะดำเนินการทางทหารรุกล้ำเข้าไปในเมืองต่างๆ ของยูเครน แต่ก็มีความพยายามเปิดโต๊ะเจรจาอยู่เสมอถึงจะยังไม่เกิดข้อตกลงที่ลงตัวก็ตาม สะท้อนว่าทางฝั่งรัสเซียก็พยายามหาทางลง เลี่ยงปัญหายืดเยื้อที่ยิ่งฉุดรั้งเศรษฐกิจ

และแม้รัสเซียมีข้อต่อรองในด้านพลังงานอยู่ในมือ แต่เอาเข้าจริงการจะนำมาใช้ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะแม้ยุโรปจะพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียมหาศาล แต่ในด้านกลับนั่นหมายความว่ายุโรปคือลูกค้ารายใหญ่ของรัสเซีย และการทหารในยูเครนของรัสเซียก็ต้องใช้ทุนรอนมหาศาล

นี่จึงเป็นสงครามที่ไม่มีใครอยากให้ยืดเยื้อ เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นพันเกลียวเอาไว้ด้วยหลากหลายประเด็นปัญหาที่กระทบถึงผู้คนจำนวนมาก

อ้างอิง – Financial Times (1)(2), Foreign Affairs, South China Morning Post

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา