“ลาไปดื่มเหล้ากับเทพเจ้า, ลาไปต้มเบียร์” ชวนย้อนดูสิทธิแรงงานอียิปต์โบราณ ผ่านบันทึกการเข้างาน

สิทธิแรงงาน อาจดูเป็นประเด็นร่วมสมัยที่เกิดขึ้นในยุคหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่อันที่จริงแล้วยังสมัยอียิปต์โบราณ อย่างน้อยๆ ก็ช่วง New Kingdom (1550-1070 ก่อนคริสตกาล) แรงงานก็ค่อนข้างมีสิทธิและได้รับสวัสดิการหลายๆ อย่างจากรัฐไม่แพ้ในยุคปัจจุบันเลย

Brand Inside ขอชวนไปย้อนดูสิทธิแรงงานในยุคอียิปต์โบราณผ่านบันทึกบนเครื่องปั้นดินเผาอายุ 3,300 ปี

สิทธิแรงงาน

ชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาชิ้นนี้ถูกค้นพบเมื่อปี 1823 ที่หมู่บ้าน Deir el-Medina (ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานมรดกโลกจาก UNESCO) ซึ่งเป็นหมู่บ้านของแรงงานก่อสร้างสุสานฟาโรห์ ซึ่งอยู่ในเขตเมืองทีบส์ (Thebes) ของอียิปต์โบราณถูกบันทึกการเข้างานหยุดงานเป็นอักษรเฮียราติก คาดว่าบันทึกดังกล่าวจะอยู่ในช่วงปีที่ 40 รัชสมัยฟาโรห์ Ramses ที่ 2 ประมาณ 1,250 ปีก่อนคริสกาล

บันทึกการลาหยุดงานที่มีก็อย่างเช่น

  • ลาไปดื่มเหล้ากับเทพคอนชู [เทพแห่งดวงจันทร์] (Drinking with Khonsu)
  • ลาไปต้มเบียร์ (Brewing beer)
  • ลาไปบูชาเทพเจ้า (Offering to the God)
  • ลาเพราะลูกสาวประจำเดือนมา (His daughter was bleeding)
  • ลาไปพันมัมมี่ศพพ่อแม่
  • ลาไปดองศพ
Courtesy of British Museum (CC BY-NC-SA 4.0)

นอกจากการลาที่นับว่าค่อนข้างแหวกสำหรับปัจจุบัน ก็ยังมีการลาปกติทั่วไป เช่น ลาป่วย ลาเพราะแมงป่องต่อยหรือลาเพราะไปทำงานส่วนตัวให้หัวหน้า (อันนี้อาจจะไม่ค่อยปกติเท่าไหร่ในยุคนี้) 

การบันทึกการลาหยุดลาป่วยของงาน นับเป็นเรื่องปกติในยุคนั้น โดยแรงงานที่พักอาศัยในหมู่บ้าน Deir el-Medina นับเป็บแรงงานทักษะสูง เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีหน้าที่สร้างสุสานให้กับฟาโรห์ใน Valley of the King ในช่วงที่เรียกว่า New Kingdom 

แรงงานในช่วงนั้นจะได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ซึ่งมักอยู่ในรูปของอาหารอย่างขนมปังและเบียร์ ที่สำคัญคือยังมีสวัสดิการจากภาครัฐลักษณะใกล้เคียงกับความเป็นรัฐสวัสดิการในปัจจุบันด้วย เช่น การให้ที่พัก การซักผ้าหรือบริการบดธัญพืชต่างๆ ให้ ที่สำคัญคือแรงงานกลุ่มนี้ยังได้รับสวัสดิการแบบ paid leave หรือลาป่วยโดยที่ยังได้รับเงินเดือน โดยภายในหมู่บ้านจะมีหมอที่คอยตรวจโรคและคอยจ่ายยา (พืชสมุนไพรต่างๆ ) รักษาให้ด้วย

สิทธิแรงงาน
Panoramic, The Valley of the artisans, Deir el-medina (shutterstock – Holger Kirk)

อีกประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับแรงงานจากหมู่บ้าน Deir el-Medina คือเป็นแรงงานกลุ่มแรกที่มีการบันทึกในประวัติศาสตร์ว่ามีการสไตรค์ ประท้วงหยุดงาน เรียกร้องค่าแรงที่ถูกจ่ายล่าช้าในช่วงรัชสมัยฟาโรห์ Rames ที่ 3 (ราว 1159 ปีก่อนคริสกาล) เนื่องจากก่อนหน้านี้ อียิปต์ต้องทำสงครามกับกลุ่มชาวเล (sea people) ที่เข้ามารุกราน ทำให้เกิดปัญหาแรงงานเริ่มมีไม่พอ เพราะถูกเกณฑ์ไปทำสงครามและเสียชีวิต, ค่าใช้จ่ายในการทำสงครามที่มหาศาลและการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งนักประวัติศาสตร์คาดว่าเป็นสาเหตุของการสไตรค์หยุดงานข้างต้น

แม้ในท้ายที่สุด เป้าหมายของการประท้วงจะเปลี่ยนจากการเรียกร้องค่าแรงกลายเป็นการประท้วงการคอร์รัปชันและความไม่เป็นธรรมอื่นๆ จากภาครัฐ แต่การสไครค์ครั้งนั้นก็เป็นการริเริ่มให้กลุ่มแรงงานของอียิปต์โบราณรับรู้ว่าตัวเองก็มีอำนาจในการเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐ รวมถึงเป็นการจุดประกายให้เกิดการสไตรค์อื่นๆ หลังจากนั้นอีกด้วย

อ้างอิง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
อุดมสิน ศรีสุชินวงศ์ | นักข่าว นักเขียน สนใจอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและธุรกิจในแวดวงเทคโนโลยี