เห็นใจประชาชน นายกฯ ญี่ปุ่นเตรียมขึ้นค่าแรง หวังกระจายรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจ

Kishida Fumio นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นผู้นำที่พยายามผลักดันนโยบายทุนนิยมใหม่ (New Capitalism) ด้วยการ หันมาให้ความสำคัญกับคนตัวเล็กตัวน้อย คนที่ขาดแคลนโอกาสในสังคมมากขึ้นเพื่อกระจายความมั่งคั่งให้ทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำและทำให้สังคมเกิดความเท่าเทียมมากขึ้น หลัง Kishida ขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ของญี่ปุ่นเมื่อปลายปี 2021 ที่ผ่านมาถือว่ารับเผือกร้อนขณะเข้าดำรงตำแหน่งแท้ๆ เพราะเป็นช่วงที่โควิดกำลังระบาดอย่างหนักหน่วงและความนิยมต่อผู้นำคนก่อนหน้านั้นอยู่ในช่วงขาลงอย่างมาก

Japan PM try to raise wages

Kishida ระบุว่า เขาจะชูนโยบายทุนนิยมใหม่นี้เพื่อลดช่องว่างระหว่างกลุ่มคนร่ำรวยและคนยากจน ล่าสุด เขาเจรจากับบริษัทยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นเพื่อหาทางขึ้นเงินเดือน ขึ้นค่าแรงให้คนทำมาหากินในญี่ปุ่น ทั้งนี้ก็เพื่อกระจายรายได้ให้มากขึ้นและสร้างกลุ่มคนชนชั้นกลางขึ้นมาใหม่

นายกฯ ญี่ปุ่นเคยกล่าวไว้ว่า “ผมจะทำทุกอย่างที่เป็นไปได้ เพื่อสร้างบรรยากาศให้บริษัทต่างๆ ขึ้นค่าแรงให้ประชาชน” ค่าแรงในญี่ปุ่นนั้นไม่ได้ปรับขึ้นมาต่อเนื่องยาวนานราว 30 ปีแล้ว ต่างจากสหรัฐฯ​ และยุโรปต่างก็ขึ้นค่าแรงกันไปหมดแล้ว Kishida หวังขึ้นค่าแรงให้คนทำงานในอัตรา 3% ขณะที่องค์กรด้านแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศตัดสินใจจะเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงราว 4%

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจจาก Reuters ระบุว่า นโยบายที่ตั้งใจจะขึ้นค่าแรงให้คนญี่ปุ่นนั้น นักเศรษฐศาสตร์ราว 80% มองว่ามันไม่น่าจะส่งผลในการกระจายความมั่งคั่งได้ แม้นายกฯ ญี่ปุ่นมีเจตนาดีที่ต้องการกระจายความมมั่งคั่งและช่วยส่งเสริมให้รายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น แต่จากสถานการณ์ที่โควิดกำลังระบาดอยู่เช่นนี้ เป็นไปได้ว่าถ้าขึ้นค่าแรงแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่จะนำเงินส่วนที่เพิ่มขึ้นไปเก็บออม มากกว่าจะนำมาใช้จ่าย

ญี่ปุ่น Japan
Image by Jason Goh from Pixabay

เศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ปี 2022 นี้ นักเศรษฐศาสตร์ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจลง จากเดิมที่คาดว่า ไตรมาสนี้ GDP จะขยายตัวที่ 4.9% ก็มีการปรับลดลงมาเหลือ 4.5% นักวิเคราะห์มองว่าการแพร่ระบาดของ Omicron ที่กระจายวงกว้างอย่างรวดเร็วนี้น่าจะส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นด้วย

ที่มา – NHK, Yahoo Finance, HRM Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา