สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกเดือน ธ.ค. 2564 ว่า ผู้บริโภคกลับมาจับจ่าย แต่ไม่คึกคักตามคาด ยอดซื้อต่อบิลเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่เกิดจากราคาสินค้าปรับขึ้น วอนรัฐคุมโอมิครอนไม่ให้ระบาด
ค้าปลีกปลายปีไม่คึกคักตามคาด
ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า แม้จะมีการเพิ่มขึ้นของยอดขายสาขาเดิม Same Store Sale Growth (SSSG) แต่เกิดจากความถี่ในการจับจ่าย (Frequency on Shopping) ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่
ส่วนยอดซื้อต่อบิล Spending per Bill หรือ Per Basket Size เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากราคาสินค้าที่ปรับขึ้นเป็นหลัก ไม่ใช่เกิดจากกำลังซื้อที่แท้จริง สะท้อนให้เห็นถึงฝั่งค้าปลีกยังต้องการแรงกระตุ้นจากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสริมเรื่องการยกเลิกกิจกรรมข้ามปีของบางพื้นที่ ที่ส่งผลให้การจับจ่ายปลายปีต้องชะงัก
หากเจาะไปที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก หรือ Retail Sentiment Index (RSI) จะพบว่า
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก Retail Sentiment Index (RSI) เดือน ธ.ค. อยู่ที่ 68.4 ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 6 จุด เมื่อเทียบกับดัชนีเดือน พ.ย. ที่ 62.1 สะท้อนถึงมู้ดของการจับจ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ปลายปีนี้ไม่คึกคักเท่าที่ควร
- ดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามภูมิภาค ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมเดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคเมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. โดยเฉพาะ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากมาตรการผ่อนปรนความเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดที่ชัดเจนขึ้น และประชาชนเริ่มท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น
- ดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามประเภทร้านค้าปลีก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเมื่อจำแนกตามประเภทร้านค้าปลีกเทียบเดือน พ.ย. และเดือน ธ.ค. พบว่า เพิ่มขึ้นทุกประเภทร้านค้า ยกเว้นห้างสรรพสินค้า เนื่องจากผู้บริโภครอความหวังจากโครงการ ช้อปดีมีคืน ที่ควรเกิดในปลายปี 2564 แต่เลื่อนเป็นต้นปี 2565 แทน
ทั้งนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้สำรวจความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมในปี 2564 พบว่า ยอดขายหลักของร้านค้าต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมาจากมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายของภาครัฐเป็นหลัก โดยทุกฝ่ายค่อนข้างกังวลต่อการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน เพราะอาจส่งผลให้ภาครัฐจะกลับมาประกาศมาตรการการควบคุมอย่างเข้มงวดอีกครั้ง
ดังนั้นเพื่อให้ภาพรวมอุตสาหกรรมยังเติบโต สมาคมผู้ค้าปลีกไทยมีข้อเสนอถึงภาครัฐดังนี้
- ยกระดับความพร้อมของระบบสาธารณสุข อาทิ เร่งการกระจายการฉีดวัคซีน เสริมชุดตรวจ ATK ที่มีคุณภาพและราคาเข้าถึงได้ เตรียมยาที่ใช้รักษา และสำรองเตียงผู้ป่วยหนัก
- มีมาตรการเชิงรุกสำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดให้มีการควบคุมอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม หากมีการระบาดในแต่ละพื้นที่ รัฐควรมีการปิดเฉพาะพื้นที่ที่เป็นคลัสเตอร์เท่านั้น
- ช่วยภาคเอกชนและประชาชนลดค่าใช้จ่าย โดยช่วยลดค่าน้ำ ค่าไฟ ลดเงินสมทบประกันสังคม ภาษีป้าย รวมถึงดอกเบี้ยเงินกู้จากสถาบันการเงิน ดอกเบี้ยบัตรเครดิต ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ไม่มีการค้ำประกัน และพิจารณา ลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการทั้งที่เกี่ยวข้องกับโควิดทางตรงและทางอ้อม
- ผลักดันโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เพื่อเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อาทิ ช้อปดีมีคืน ควรทำเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ครั้งต่อปี เพื่อสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบรวมกันกว่าแสนล้านบาทตลอดปี
“เห็นได้ว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวมากนัก การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่องของภาครัฐถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ที่สำคัญการลดการแพร่ระบาดของโอมิครอนให้กระจายอยู่เพียงในวงจำกัด และกระทบต่อเศรษฐกิจที่กำลังขยับตัวดีขึ้นให้น้อยที่สุด” ฉัตรชัย กล่าว
อ้างอิง // สมาคมผู้ค้าปลีกไทย
อ่านข่าวเกี่ยวกับค้าปลีก และโอมิครอนเพิ่มเติมที่นี่
- สมาคมผู้ค้าปลีกไทย คาด ช้อปดีมีคืน ปี 2565 ทำเงินสะพัด 40,000-50,000 ล้านบาท
- Index Living Mall บุกอินโดนีเซีย ผนึกพันธมิตร เตรียมเปิดค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ครบวงจร 2 สาขา
- Omicron ทำเศรษฐกิจโลกไม่แน่นอน ไทยอาจ GDP โตถึง 3.7% ต้องรอดูไวรัสและวัคซีน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา