เริ่มแล้ว สงครามการค้าจะเริ่มกลับมาเดือดเหมือนสมัยทรัมป์อีกรอบไหม เรื่องนี้ต้องรอดูสถานการณ์ต่อไป หลังจากที่ไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาเคยกล่าวไว้ว่าจะใช้เครื่องมือพหุภาคีเพื่อให้จีนให้ความร่วมมือกับประชาคมโลกในมิติต่างๆ ล่าสุด สหรัฐผ่านกฎหมายแบนสินค้าที่บังคับใช้แรงงานอุยกูร์ (Uyghur) จากซินเจียง จีนแล้ว
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ และประเทศโลกตะวันตกต่างเดินหน้าออกมาประกาศต่อต้านการบังคับใช้แรงงานอุยกูร์จากซินเจียงในจีน จนทำให้หลายแบรนด์ต้องออกมาประกาศกันถ้วนหน้าว่าไม่ได้ใช้ฝ้ายหรือวัตถุดิบที่มีการบังคับใช้แรงงานจากจีน จนทำให้จีนต้องออกมายืนยันเช่นกันว่าไม่ได้บังคับใช้แรงงานจากซินเจียง แม้ก่อนหน้านั้นจะมีสื่อต่างประเทศหลายแห่งทำสารคดีเปิดโปงว่าจีนมีการบังคับใช้แรงงานซินเจียงก็ตาม
ล่าสุดทำเนียบขาวเผยแพร่แถลงการณ์การผ่านกฎหมายแบนสินค้าที่มาจากการบังคับใช้แรงงานอุยกูร์ ซินเจียง จีน (Uyghur Forced Labor Prevention Act) โดยเห็นว่าต้องทำให้จีนแสดงความรับผิดต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการละเมิดสิทธิมนุษยชน สหรัฐได้ใช้มาตรการที่เป็นรูปธรรมมาใช้ด้วย ทั้งการจำกัดวีซ่าตามกฎหมายแมกนิตสกี (Magnitsky Act) คือกฎหมายที่สั่งห้ามออกวีซ่า อายัดทรัพย์สิน คว่ำบาตรทางการเงิน ควบคุมการส่งออก จำกัดการนำเข้า สินค้าที่ผลิตโดยการบังคับใช้แรงงานจากชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ในซินเจียง จีน มีหลายเชื้อชาติด้วยกัน ทั้งคาซัค คีร์กิซเหล่านี้จะถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ทั้งหมด ทุกรูปแบบ เพื่อเป็นการต่อต้านการบังคับใช้แรงงาน
ไม่ได้มีแค่สหรัฐอเมริกาประเทศเดียวเท่านั้นที่แบนสินค้าที่มาจากการบังคับใช้แรงงานอุยกูร์จากจีน แต่ยังรวมถึงประเทศในกลุ่ม G7 ด้วยที่มีจุดยืนร่วมกันว่าจะใช้สินค้าในห่วงโซ่อุปทานโลกที่ปลอดการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งรวมถึงสินค้าที่มาจากซินเจียงด้วย
ไม่ใช่แค่ฝ้าย โซลาร์เซลส์ที่สหรัฐแบนเพราะบังคับใช้แรงงานที่ซินเจียง แต่มีเทคโนโลยีด้วย
ล่าสุด รัฐบาลสหรัฐฯ ยังเตรียมเอา 8 บริษัทจีนขึ้นแบล็คลิสต์ด้วย หนึ่งในนั้นก็คือบริษัท DJI ซึ่งเป็นบริษัทผลิตโดรนเจ้าใหญ่ของโลก (บริษัท DJI นี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2006 โดย Frank Wang ที่เกิดในเมืองหังโจว เจ้อเจียง จีน เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง DJI ถือเป็นบริษัทเทคโนโลยีของจีน สำนักงานใหญ่อยู่ที่เซินเจิ้นและกว่างตง ผลิตโดรนเพื่อจัดจำหน่ายให้ทั่วโลกใช้ ปี 2017 เคยถูกกองทัพสหรัฐฯ แบนเนื่องจากเหตุผลด้านความมั่นคง)
DJI กำลังจะถูกติดแบล็คลิสต์จากสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลที่ว่า DJI เข้าไปเกี่ยวพันกับการสอดส่อง สอดแนม จับตาดูชาวมุสลิมชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ โดยกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ จะจัดให้บริษัท DJI และบริษัทอื่นๆ ที่เหลืออยู่ในกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมการทหารจีนที่ถูกติดแบล็คลิสต์ไว้
มาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯ ถือเป็นการลงโทษจีนจากการบังคับใช้แรงงานชนกลุ่มน้อย สิ่งนี้ทำให้บริษัทจีนหลายแห่งกังวลว่าจะได้รับผลกระทบไปด้วย อาทิ บริษัท SenseTime ที่เป็นบริษัทที่ทำซอฟต์แวร์เทคโนโลยีจดจำใบหน้าซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮ่องกง และมีบริษัทประจำอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในหลายประเทศ เตรียมจะ IPO ก็ต้องเลื่อนแผนออกไปก่อน หลังจากที่ FT รายงานว่า สหรัฐฯ เตรียมจะนำบริษัทขึ้นแบล็คลิสต์
บริษัทจีนรายอื่นๆ ที่จะถูกแบล็คลิสต์ อาทิ Megvii, SenseTime, Dawning Information Industry บริษัทซูเปอร์คอมพิวเตอร์รายใหญ่ของจีนและให้บริการคลาวด์ในซินเจียงด้วย, บริษัท CloudWalk Technology บริษัทที่ทำซอฟต์แวร์จดจำใบหน้า, Xiamen Meiya Pico บริษัทที่ทำด้านความมั่นคงไซเบอร์, Yitu Technology บริษัทด้าน AI, Leon Technology ให้บริการคลาวด์, NetPosa Technologies ผู้ผลิตระบบสอดแนม
ทั้ง 8 บริษัทที่ว่ามานี้ถูกขึ้นบัญชีดำแล้ว จะมีการจำกัดไม่ให้บริษัทสหรัฐฯ ส่งออกเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ จากสหรัฐอเมริกาไปยังกลุ่มบริษัทในจีน ด้านทำเนียบขาวและกระทรวงการคลังยังไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ กับเรื่องนี้ ขณะเดียวกัน บริษัท DJI ก็ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น แต่ปีที่ผ่านมาได้ระบุไว้ว่าไม่ได้ทำสิ่งใดตามที่ถูกขึ้นแบล็คลิสต์
นอกจากบริษัทที่ว่ามานี้ สหรัฐ ยังแบนแล็บของจีนเพิ่ม คือ Academy of Military Medical Sciences และสถาบันวิจัยอีก 11 แห่ง ตามด้วยบริษัทวางเคเบิลใต้น้ำด้วย อาทิ HMN International, Jiangsu Hengtong Marine Cable Systems, Jiangsu Hengtong OpticElectric, Shanghai Aoshi Control Technology Co., Ltd, Zhongtian Technology Submarine Cable
ด้าน Zhao Lijian โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ระบุว่า จีนมีแนวคิดด้านความมั่นคงแห่งชาติตรงกันข้ามกับสหรัฐอเมริกาเสมอและไม่เห็นด้วยกับการปราบปรามบริษัทจีนอย่างไม่มีเหตุผลของสหรัฐฯโฆษกจีนยังยืนยันอีกว่า จีนยืนยันเรื่องความจริงเกี่ยวกับประเด็นซินเจียงตลอดมาว่า จีนทำตามสิทธิอันชอบธรรมและไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ที่มา – White House, Congress (1), (2), FT, Nikkei Asia, CNBC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา