แม้ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน แต่การเจรจาควบรวมกิจการระหว่าง ทรู กับ ดีแทค คงทำให้ผู้ใช้เครือข่ายของทั้งคู่หวั่น ๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง Brand Inside จึงรวบรวม ข้อดี-ข้อเสีย ของการควบรวมกิจการครั้งนี้มาให้อ่านกัน
ข้อดีคือ เงินลงทุนมากขึ้น โครงข่ายย่อมดีขึ้น
ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องการเงินลงทุนสูง ดังนั้นการร่วมมือกันย่อมทำให้มีเงินลงทุนมากขึ้น และขยายโครงข่ายได้ดีกว่าเดิม
“การแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมหนักหน่วงอย่างต่อเนื่องเนื่อง และการขยายโครงข่าย รวมถึงลงทุนเรื่องเทคโนโลยี และบริการต่าง ๆ เป็นเรื่องจำเป็น ดังนั้นเมื่อร่วมมือกัน เงินลงทุนย่อมมากขึ้น และทำเรื่องทั้งหมดข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภคด้วยบริการที่ดีขึ้น”
ตัวอย่างเงินลงทุนที่น่าสนใจคือ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ ทรู มีแผนลงทุนโครงข่าย 5G พ.ศ. 2563-2565 กว่า 40,000-60,000 ล้านบาท ส่วน บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค พ.ศ. 2563 ลงทุน 8,000-10,000 ล้านบาท ขยายโครงข่าย 5G แต่เม็ดเงินเหล่านี้ไม่รวมค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่หลายหมื่นล้านบาท
ข้อเสียคือ การแข่งขันลดลง บริการก็แย่ลง
ในทางกลับกัน เมื่อผู้เล่นในตลาดน้อยราย การแข่งขันย่อมน้อยลงอัตโนมัติ เช่นเดียวกับกรณี ทรู ควบรวมกิจการกับ ดีแทค จนเหลือผู้เล่นหลักในตลาดเพียง 2 ราย ย่อมมีโอกาสให้ ทรู และ ดีแทค รวมถึงผู้เล่นรายอื่น ลดความจริงจังในการดำเนินธุรกิจ และกลายเป็นฝั่งผู้บริโภคที่ต้องรับผลเสียนี้
“เป็นที่รู้กันว่าธุรกิจโทรคมนาคมเกิดผู้เล่นรายใหม่ได้ยาก ดังนั้นเมื่อผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดเกิดร่วมมือกัน สุดท้ายผู้บริโภคอาจต้องเป็นฝ่ายง้อ ยิ่งการใช้งานโมบายแบงก์กิ้ง การซื้อสินค้าออนไลน์ และธุรกรรมอื่น ๆ บนโทรศัพท์มือถือมีความสำคัญมากขึ้น ถ้าคุณภาพไม่ดี ราคาไม่ถูก อย่างไรผู้บริโภคก็เจอกับผลเสียจากการร่วมมือครั้งนี้”
หากอ้างอิงจากข้อมูล กสทช. พบว่า จำนวนเลขหมายที่มีผู้ใช้งานของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ สิ้นไตรมาส 4 พ.ศ. 2563 เอไอเอส มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดด้วยสัดส่วน 44.35% รองลงมาเป็น ทรู ที่ 33.75% และ ดีแทค 20.18% ดังนั้นหากนำตัวเลขของ ทรู และ ดีแทค มารวมกันจะได้ 53.93% ขึ้นเป็นเบอร์ 1 แทนทันที
ยังไม่มีความชัดเจนว่าสุดท้ายจะออกหน้าไหน
อย่างไรก็ตาม ประวิทย์ ย้ำว่า ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับรูปความร่วมมือระหว่าง ทรู กับ ดีแทค เช่นจะจัดตั้งองค์กรใหม่ร่วมกัน หรือ การควบรวมกิจการกันจริง ๆ ทำให้คาดการณ์เหตุการณ์หลังจากนี้ได้ยาก จึงต้องรอการประกาศชัดเจนของทั้งสององค์กรก่อน
“ต้องรอดูว่าเขาจะร่วมมือกันอย่างไร ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเข้าไปถือหุ้นมากกว่า 30% ในอีกฝ่าย ก็ต้องขออนุญาต กสทช. เพราะมันมีประกาศเดิมของ กทช. กำหนดมาไว้แล้ว คล้ายกับกรณี โลตัส กับ แมคโคร ที่ กขค. เข้ามากำกับดูแล แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายแลกหุ้นกัน หรือตั้งบริษัทใหม่ อันนี้ก็ต้องมาศึกษากันอีกรอบ”
ประกาศฉบับดังกล่าวมีชื่อว่า ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 โดยนิยามการควบรวมไว้หลายแง่มุม เช่น การซื้อกิจการ, การเข้าไปถือหุ้น และการถือหุ้นไขว้ รวมถึงการควบรวมกิจการอันส่งผลให้เกิดการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง
ดัชนี HHI คือหนึ่งในค่าการชี้วัดที่ใช้ตรวจสอบ
ข้อมูลจากประกาศนี้ระบุว่า ดัชนี HHI หรือ Herfindhal-Hirschman Index คือหนึ่งในตัวแปรในการพิจารณาว่า การควบรวมกิจการทำให้เกิดการครอบงำตลาดหรือไม่ ผ่านการหาค่าระดับการกระจุกตัวของตลาด หากค่านี้เกินกว่าเกณฑ์ถือว่าส่งผลลบต่อการแข่งขัน และมีการครอบงำตลาด
ตามประกาศจะใช้ ส่วนแบ่งตลาดของจำนวนยอดขายในการคำนวณ ไม่ใช่ส่วนแบ่งตลาดจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงไม่สามารถนำข้อมูลจากกราฟข้างต้นมาคำนวนได้ แต่หานำมูลดังกล่าวมาทดสอบคำนวนจะพบว่า ดัชนี HHI ที่คำนวณจากส่วนแบ่งจำนวนเลขหมายโทรศัพท์อยู่ที่ 3,453 ในสิ้นไตรมาส 4 พ.ศ. 2563
เมื่อนำส่วนแบ่งของ ทรู กับ ดีแทคมารวมกัน และเข้าสูตรคำนวณ HHI หรือการนำส่วนแบ่งเป็นร้อยละของแต่ละรายมายกกำลังสอง และบวกกัน จะได้ 4,774 และมีค่ามากกว่า 1,800 แสดงให้เห็นว่าตลาดรวมตัวกันหนาแน่น และในประกาศระบุว่า หากตลาดนี้มีค่า HHI มากกว่า 1,800 รวมถึงการควบรวมทำให้ดัชนีมากกว่า 1,800 และเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากกว่า 100 จะชี้ว่าการควบรวมนี้ส่งผลลบต่อการแข่งขัน และถือว่าเป็นการครอบงำตลาด
ส่องการกำกับกรณีควบรวมค่ายมือถือต่างประเทศ
ในต่างประเทศมีการควบรวมกิจการของค่ายโทรศัพท์มือถือ และมีหน่วยงานรัฐเข้ามากำกับดูแลเพื่อป้องกันการครอบงำตลาด และคุ้มครองผู้บริโภคที่อาจได้รับผลเสียจากเหตุการณ์นี้ เช่น ในอิตาลีมีการควบรวมกิจการระหว่าง Wind และ H3G เป็น Wind Tre ทำให้ผู้เล่นในตลาดลดลงจาก 4 เหลือ 3 ราย
ทำให้คณะกรรมาธิการยุโรปเลยเสนอให้ Wind และ H3G มอบคลื่นสัญญาณ,โครงข่ายส่วนหนึ่ง รวมถึงเปิดโรมมิ่งให้ผู้บริการรายที่ 4 เข้ามาในตลาดใช้งาน ก่อนจะได้ Illiad ผู้ให้บริการจากฝรั่งเศสเข้ามาเป็นรายที่ 4 คงตลาดให้มีผู้เล่น 4 รายเช่นเดิม
ส่วนในสหรัฐอเมริกา จากกรณีการควบรวมกันระหว่าง T-Mobile กับ Sprint จนเหลือผู้เล่นในตลาด 3 ราย จากเดิม 4 ราย ทำให้หน่วยงานกำกับกิจการที่นั่นมีความเห็นคล้ายกับที่อิตาลีคือ ส่งเสริมให้เกิดผู้เล่นรายใหม่เพื่อคงอุตสาหกรรมให้มี 4 รายแข่งขันกันเช่นเดิม โดยรายนั้นคือ Dish
อ่านข่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการควบรวมระหว่าง ทรู กับ ดีแทค ได้ที่นี่
- ดีแทค-ทรู ออกแถลงการณ์ชี้แจง ข่าวควบรวมกิจการที่ปรากฎในสื่อ
- ดีแทค ปี 2563 ลูกค้าลดลง 1.8 ล้านเลขหมาย กำไรสุทธิ 5,100 ล้านบาท ลดลง 5.8%
- กลุ่มทรู แต่งตั้ง 3 เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) มุ่งปรับโฉมองค์กรสู่ผู้นำเทคคอมปานียุคดิจิทัล
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา