สัปดาห์ที่ผ่านมาหลายคนอาจได้เห็นข่าว SeaX Ventures กองทุนสตาร์ตอัพสัญชาติไทยในเครือ Rise ที่ประกาศเงินลงทุนก้อนใหม่ ทำให้ขนาดกองทุนเพิ่มเป็น 1.5 พันล้านบาท พร้อมรายชื่อผู้บริหารระดับสูงขององค์กรชั้นนำในไทยหลายแห่งที่เข้ามาร่วมลงทุนด้วย
Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ Managing Partner ของกองทุน SeaX Ventures และซีอีโอของ RISE ถึงที่มาที่ไปและเป้าหมายของ SeaX รวมถึงบทบาทที่แตกต่างกับ RISE แต่ยังมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน
นายแพทย์ศุภชัย ระบุว่าเป้าหมายสูงสุดของเขาคือการผลักดันให้เกิด GDP ของประเทศเพิ่มขึ้นอีก 1% ซึ่งการทำงานที่ผ่านมาของ RISE นิยามตัวเองว่าเป็น “สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร” ถือเป็นการสร้างการเติบโตจากภายในประเทศเป็นหลัก เป็นการสร้างคน พัฒนาคนสำหรับกิจการยุคใหม่ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยผลักดัน
ส่วน SeaX นั้นเป็นส่วนที่เน้นการเติบโตจากภายนอกประเทศ เพราะออกไปลงทุนในสตาร์ตอัพทั่วโลก เพื่อมองหาโซลูชันใหม่ๆ มาช่วยยกระดับบริษัทและองค์กรในไทย
ตัวของ SeaX Ventures เป็นกองทุนสัญชาติไทยที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องในสหรัฐอเมริกา เป้าหมายของ SeaX ต่างจากกองทุน venture capital ทั่วไปที่เน้นผลตอบแทนทางการเงิน (financial return) เป็นหลัก เพราะยังต้องตอบโจทย์เรื่องการช่วยเพิ่ม 1% ของ GDP ไทยให้ได้ ธีมการลงทุนจึงเน้นที่ผลตอบแทนเชิงกลยุทธ์ (strategic return) ด้วย ลงทุนในสตาร์ตอัพที่บริษัทใหญ่ๆ ของไทยสามารถนำโซลูชันไปใช้งานต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นการลดรายจ่าย ลดต้นทุน หรือการเพิ่มรายได้ สร้างธุรกิจใหม่
นายแพทย์ศุภชัย ระบุว่าต้องขอบคุณผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ ที่เชื่อมั่นใน SeaX และเข้ามาร่วมลงทุน มุมมองของเขาคือหาก SeaX ลงทุนในสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์น เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ ทำผลตอบแทนได้ 10 เท่าย่อมเป็นเรื่องดี แต่ด้วยธีมการลงทุนเชิงกลยุทธ์ ไม่ต้องรอสถานะเป็นยูนิคอร์นก็ได้ หากนำโซลูชันของสตาร์ตอัพเหล่านี้มาลดต้นทุนของบริษัทใหญ่ๆ ในไทยที่มีมูลค่าระดับหมื่นหรือแสนล้านบาทได้สัก 5% ก็ถือว่าคุ้มค่ามากแล้ว
ที่ผ่านมา SeaX เน้นลงทุนในสตาร์ตอัพฝั่งอเมริกาเป็นหลัก โดย 70% ของ portfolio เป็นบริษัทสหรัฐ แต่ในกองที่สองจะเริ่มหันมาลงทุนในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ตัวอย่างบริษัทที่ลงทุนได้แก่ด้านไบโอเทคอย่าง Nirvamed, Epinoma, Qvin บริษัทด้านเทคโนโลยีอาหาร Revel และบริษัทด้านบล็อคเชน Band Protocol, Solana, Alex
นายแพทย์ศุภชัย ยกตัวอย่างการลงทุนในบริษัทด้าน AI ของประเทศจีนชื่อ AIFI ที่สร้างร้านค้าไร้มนุษย์ (autonomous retail store) เพื่อแข่งกับร้าน Amazon Go โดยบอกว่ามีวิธีหารายได้ที่ต่างจากสตาร์ตอัพทั่วไป เนื่องจากการลงทุนร้านค้าไร้มนุษย์แบบ Amazon Go ต้องมีต้นทุนค่าฮาร์ดแวร์ที่สูงมาก บริษัทค้าปลีกไม่น่าอยากลงทุนจ่ายเงินมากๆ ตั้งแต่แรก แต่วิธีคิดของ AIFI คือมองว่านำมาช่วยลดต้นทุนพนักงานเฝ้าร้าน ที่อาจอยู่ราว 5% ของต้นทุนร้านค่าปลีก หากเปลี่ยนเป็นร้านไร้มนุษย์แทน ต้นทุนของโซลูชันไอทีอาจอยู่เพียง 2-3% ของต้นทุนทั้งหมด ก็ทำให้บริษัทค้าปลีกประหยัดต้นทุนไปได้มากแทน
นายแพทย์ศุภชัย ยังบอกว่า SeaX ยังช่วยเสริมเรื่องการลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ ที่มักมี corporate venture capital (CVC) ของตัวเองอยู่แล้ว แต่ข้อจำกัดของ CVC คือมักเป็นที่สนใจของสตาร์ตอัพในอุตสาหกรรมเดียวกันเท่านั้น อาจเข้าไม่ถึงสตาร์ตอัพสายอื่นๆ ที่น่าสนใจและอาจช่วยสนับสนุนธุรกิจได้ การที่ SeaX เป็นกองทุนไม่สังกัดบริษัทใหญ่จึงมีอิสระมากกว่า และอาจร่วมลงทุนกับ CVC ไปทั้งคู่ก็ได้เช่นกัน
รายชื่อบริษัทและกลุ่มธุรกิจที่ร่วมสนับสนุนและลงทุนผ่าน SeaX ได้แก่
- นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)
- นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
- นายชาย ศรีวิกรม์ กรรมการ Gaysorn Group
- นางสาวอนุษฐา เชาว์วิศิษฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด
- นายโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์ กรรมการบริหารบริษัท ดับเบิ้ลเอ (1991) จำกัด (มหาชน)
- นายนาถ ลิ่วเจริญ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CDG GROUP
- นายวิบูลย์ ตวงสิทธิสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทนันยางเท็กซ์ไทล์
- นายเรืองชาย สุพรรณพงศ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการองค์กร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด
- นายวีรวัฒน์ องค์วาสิฏฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน)
- นายณัฐพล วิมลเฉลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน)
นักลงทุนสถาบันจากองค์กรชั้นนำ อาทิ เช่น
- กองทุน สิงห์ เวนเจอร์ส
- บริษัท วัชรพล จำกัด (ไทยรัฐ)
- บริษัท ที.เค.เอส. เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)
- บริษัท โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
- บริษัท บีซีเอช เวนเจอร์ส จำกัด ในกลุ่มบริษัทเบญจจินดา
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา