ในที่สุด Uniqlo ได้ทำตลาดในประเทศไทยครบ 10 ปี หลังเปิดสาขาแรกเมื่อเดือน ก.ย. 2011 แล้วช่วงเวลา 10 ปีนี้ Uniqlo ต้องเจอกับอะไร หลังจากนี้ต้องปรับกลยุทธ์หรือไม่ Brand Inside อยากชวนมาติดตามไปด้วยกัน
Uniqlo กับการเปิดสาขาแรกที่ เซ็นทรัลเวิลด์
การเข้ามารุกตลาดประเทศไทยของ Uniqlo เริ่มต้นเดือน ก.ย. 2011 ผ่านการเปิดสาขาแรกที่ศูนย์การค้า เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งไทยนับเป็นประเทศที่ 3 ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถัดจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ทั้งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ขยายตลาดนอกประเทศญี่ปุ่นของ Uniqlo
โยชิทาเกะ วากากุวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าใหัฟังว่า ผู้บริโภคในไทยให้การตอบรับการเปิดสาขาของ Uniqlo เป็นอย่างดี ทำให้บริษัทตัดสินใจขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีทั้งหมด 54 สาขาทั่วประเทศ ทั้งอยู่ในศูนย์การค้า, Standalone รวมถึงช่องทางออนไลน์เต็มรูปแบบ
“หลังจากนี้ Uniqlo มีแผนขยายสาขาไปยังจังหวัดต่าง ๆ เช่นเดิม โดยรูปแบบ และขนาดของสาขาจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับพฤติกรรม และการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในพื้นที่นั้น ๆ ยิ่งโรค COVID-19 ระบาดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทำให้ Uniqlo ต้องศึกษามากขึ้น เช่น การวางแผนประเภทสินค้า เป็นต้น”
คงปรัชญา LiveWear เพื่อดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
นับตั้งแต่ Uniqlo เริ่มต้นธุรกิจ องค์กรนี้ยึดมั่นในปรัชญา LiveWear หรือการนำความเรียบง่าย ผสานคุณภาพ และความยั่งยืน ในการออกแบบสินค้า ซึ่งในประเทศไทย Uniqlo ได้ใช้แนวคิดนี้ในการทำตลาดเช่นกัน และค่อนข้างประสบความสำเร็จจากการจำหน่ายสินค้าที่มีจุดเด่นดังกล่าว
“Uniqlo พบว่า ลูกค้าชาวไทยค่อนข้างชื่นชอบสินค้าของเรา เพราะสินค้าเหล่านั้นทำให้ผู้สวมใส่มีความสุขมากกว่าเดิม และทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาดีขึ้น เราจะยึดมั่นในปรัชญานี้ต่อไป ภายใต้ความเชื่อที่ว่าเสื้อผ้าของเรามีพลังที่จะเปลี่ยนโลกนี้ให้ดีขึ้นได้”
การปรับตัวเบื้องต้นของ Uniqlo ภายใต้วิกฤต COVID-19 ทางแบรนด์เลือกทำตลาดเครื่องแต่งกายที่เหมาะกับการต้องอยู่บ้าน หรือ Work from Home มากขึ้น ใกล้เคียงกับกลยุทธ์ในประเทศอื่น ๆ แต่ Uniqlo มีความพร้อมที่จะทำตลาดเครื่องแต่งกายที่เหมาะกับการสวมใส่ไปทำงานเช่นเดิม
ไม่ใช่แบรนด์ Fast Fashion เพราะเน้นยั่งยืน
แม้ผู้บริโภค และนักวิเคราะห์จะมอง Uniqlo เป็นหนึ่งแบรนด์สินค้า Fast Fashion (คล้ายกับ Zara และ H&M) แต่ โยชิทาเกะ ไม่ได้มองอย่างนั้น เพราะเขาเชื่อว่า Uniqlo ไม่ใช่แบรนด์ Fast Fashion แต่คือแบรนด์เครื่องแต่งกายที่เน้นความยั่งยืน และสร้างฐานลูกค้าด้วยคุณภาพของสินค้า
“จุดยืนของเราไม่ใช่ Fast Fashion เพราะเราทำตามปรัชญา LiveWear ซึ่งเน้นความเรียบง่าย และสวยฝาม แต่แฝงไปด้วยนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อความยั่งยืนของตัวสินค้า ทั้งมุมการผลิต และการสวมใส่ของลูกค้า พร้อมอุทิศสิ่งดี ๆ เพื่อสังคมผ่านการทำธุรกิจเช่นกัน”
ปัจจุบัน Uniqlo เป็นหนึ่งในแบรนด์สินค้าของกลุ่ม Fast Retailing ที่มียอดขายทั่วโลกราว 2.01 ล้านล้านเยน (ราว 6.1 แสนล้านบาท) ในปีปฏิทิน 2020 (สิ้นสุดเดือน ส.ค. 2020) โดย Uniqlo มีสาขากว่า 2,200 แห่ง ใน 25 ประเทศทั่วโลก
มองดูธุรกิจอื่น ๆ สร้างการเติบโตเพิ่ม
ขณะเดียวกันแบรนด์เครื่องแต่งกายอื่น ๆ เริ่มขยายธุรกิจไปมากกว่าแค่จำหน่ายเสื้อผ้า เช่นทำร้านกาแฟ หรือร้านอาหาร ซึ่ง Uniqlo มีทำเช่นกัน แต่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น และได้ผลตอบรับค่อนข้างดี ส่วนในประเทศไทย โยชิทาเกะ ขอศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อน
“ในประเทศไทยอาจมี Business Model อื่น ๆ เพื่อต่อยอดทำตลาดแบรนด์ Uniqlo ในอนาคต แต่เวลานี้ทางองค์กรขอเน้นที่การจำหน่ายเครื่องแต่งกายก่อน โดยเฉพาะการขยายสาขา, การส่งมอบสินค้าให้ตอบโจทย์ทุกกลุ่มลูกค้า, การให้ความสำคัญทั้งช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ รวมถึงการช่วยเหลือสังคมด้วย”
อ้างอิงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด มียอดขายราว 10,000 ล้านบาท ลดลง 13.33% จากปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิปิดที่ 2,007 ล้านบาท ลดลง 17.22% เนื่องจากการระบาดของโรค COVID-19 โดยภาพรวมตลาด Fast Fashion ในไทยมีการวิเคราะห์ว่าอยู่ราว 30,000 ล้านบาท
สรุป
Uniqlo กลายเป็นแบรนด์ขวัญใจชาวไทยได้ในเวลาอันรวดเร็ว และแม้จะผ่านมา 10 ปีแล้ว แต่องค์กรก็ยังแข็งแกร่ง และครองใจลูกค้าคนไทยไว้เช่นเดิม ซึ่งต้องดูว่า 10 ปีแล้ว กลุ่ม Fast Retailing จะเอาแบรนด์อื่น ๆ เข้ามาทำตลาดในไทยเพิ่มหรือไม่ และจะต่อยอดความสำเร็จของ Uniqlo นี้อย่างไร
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา