จับกระแส Fast Fashion เมื่อ Topshop ออกจากตลาดไทย แล้วใครจะขึ้นมาแข่ง Uniqlo-Zara-H&M

Fast Fashion ในไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เพราะ Topshop เพิ่งประกาศยุติการทำตลาดในวันที่ 1 ส.ค. ตามรอย Forever 21 ที่ปิดไปเมื่อปี 2018 แล้วจากนี้ใครจะขึ้นมาแข่งกับ Uniqlo, Zara และ H&M

topshop

วิกฤต Topshop ในต่างประเทศสู่ไทย

Topshop คือแบรนด์ Fast Fashion ระดับโลก ก่อตั้งที่สหราชอาณาจักร เคยเป็น Big 4 ในตลาดนี้กับ Uniqlo, Zara และ H&M แต่การบริหารงานที่ผิดพลาด ประกอบกับกระแส Fast Fashion ไม่เติบโตเหมือนในอดีต สุดท้าย Topshop จึงประกาศล้มละลาย และถูกซื้อไปโดย ASOS ผู้ขายเสื้อผ้าออนไลน์ยักษ์ใหญ่จากสหราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม Asos ซื้อแค่แบรนด์ Topshop ไม่รวมหน้าร้าน กับสินทรัพย์อื่น ๆ Topshop จึงถูกลอยแพ และไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ ล่าสุดทิศทางนี้อาจส่งผลถึงตลาดไทยที่ บริษัท เซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป (CMG) ผู้นำเข้าแบรนด์นี้ประกาศยุติการทำตลาด Topshop ในไทย ผ่านการปิดสาขา และโยกพนักงานไปรับผิดชอบธุรกิจอื่น ๆ

ในทางกลับกันตลาด Fast Fashion ในไทยแข่งขันกันสูงมาก สังเกตจากทุกร้านต่างแปะป้าย Sale กันทุกช่วงเวลา ยิ่งสาขาของ Topshop ก่อนปิดตัววันที่ 1 ส.ค. ทยอยลดลงจนเหลือแค่ 4 สาขาทั่วไทย สวนทางกับ 3 ยักษ์ใหญ่ที่เปิดสาขาใหม่ต่อเนื่อง จึงไม่แปลกที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ยิ่งดูยิ่งคล้ายกับกรณีของ Forever 21 เมื่อปี 2018

Forever 21

Fast Fashion ในประเทศไทยไม่ง่าย

ภาพรวมตลาด Fast Fashion ในประเทศไทยก่อนโรค COVID-19 ระบาด หลายฝ่ายคาดว่ามีมูลค่าราว 30,000 ล้านบาท และเติบโต/ปีเกือบ 10% แต่พอโรคดังกล่าวระบาด ทุกอย่างก็พลิกผัน และยังไม่มีใครออกมาคาดการณ์ถึงตัวเลขนึ้ และหากดูรายได้ธุรกิจแฟชั่นของ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น บริษัทแม่ของ CMG พบว่าลดลงหนัก

ยอดขายในไตรมาส 1 2021 ยอดขายธุรกิจแฟชั่นของ บมจ.เซ็นทรัล รีเทลฯ อยู่ที่ 9,751 ล้านบาท ลดลง 21% จากไตรมาส 1 2020 แม้ตัวเลขดังกล่าวจะรวมธุรกิจแฟชั่นทั้งในอิตาลี และแบรนด์ต่าง ๆ แต่มันก็พิสูจน์ว่า แบรนด์แฟชั่นอยู่ยาก ยิ่งต้อง Learn from Home และ Work from Home ก็ไม่รู้จะซื้อเสื้อผ้าทำไม

การหยุดเลือดด้วยการปิด Topshop โดย CMG จึงกลายเป็นคำตอบในการประคองธุรกิจให้ไม่เผชิญกับค่าใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไปมากกว่านี้ ถือเป็นการปิดฉาก Topshop ในประเทศไทยที่ไม่สวยงามนัก เพราะถึงขนาดหน้า Facebook Page ยังไม่เหลือ แถมสินค้าที่จำหน่ายใน central.co.th ก็ไม่มีอีกแล้ว

topshop

Uniqlo-H&M-Zara แย่ไม่แพ้กัน

จบการอัพเดทข่าวคราว Topshop คราวนี้ลองมาดูผลประกอบการของ 3 ยักษ์ใหญ่ Fast Fashion ในไทยกันบ้าง เริ่มด้วย Uniqlo ภายใต้ บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปิดรายได้รวมปี 2021 ที่ 10,606 ล้านบาท ลดลง 13.33% จากปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิปิดที่ 2,007 ล้านบาท ลดลง 17.22%

ต่อด้วย H&M ภายใต้ บริษัท เอชไทย (ประเทศไทย) จำกัด แจ้งรายได้รวมปี 2021 ที่ 4,596 ล้านบาท ลดลง 6.55% กำไรสุทธิปิดที่ 261 ล้านบาท ลดลง 30.4% ส่วน Zara ภายใต้ บริษัท กากันท์ (ประเทศไทย) จำกัด ปิดรายได้รวมปี 2021 ที่ 3,040 ล้านบาท ลดลง 39.64% ขาดทุนสุทธิ 25 ล้านบาท ลดลง 161%

เรียกว่าเจ็บกันทั่วหน้าในปี 2563 สำหรับธุรกิจ Fast Fashion และยังไม่มีท่าทีว่าจะฟื้นกลับมาในปีนี้ได้หรือไม่ เพราะการระบาดของโรค COVID-19 ในไทยยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง และถึงจะมีเวลาฟื้นตัวกลับมาบ้าง แต่ช่วงหลังเจอระบาดอย่างหนัก และทำให้ห้างสรรพสินค้าต้องปิดบริการชั่วคราว จะพึ่งแต่ช่องทางขายออนไลน์ก็คงไม่ไหว

ovs

แล้วใครจะขึ้นมาแทนที่ Topshop?

จริง ๆ แล้ว ในไทยมีแบรนด์ Fast Fashion เข้ามาทำตลาดมากมาย ไล่ตั้งแต่แบรนด์นอก เช่น OVS ของกลุ่มไมเนอร์, Cotton On และ Mango หรือจะเป็นแบรนด์ไทยเช่น Jaspal ที่มีแบรนด์ในเครือมากมาย รวมถึง Fast Fashion ที่เน้นจำหน่ายออนไลน์อย่าง Pomelo หรือ Shein

แต่ฝั่งแบรนด์ไทย และแบรนด์นอกต่างพึ่งพาหน้าร้านในศูนย์การค้าเป็นหลัก ส่วนหน้าร้านออนไลน์ยังไม่ส่งผลกับภาพรวมยอดขายนัก ดังนั้นแบรนด์ออนไลน์ล้วนอย่าง Pomelo และ Shein ที่ไม่มีต้นทุนเรื่องสาขา (มีเปิดบ้าง แต่เป็นสาขาขนาดเล็ก) อาจได้เปรียบในการทำตลาดภายใต้วิกฤตนี้

หากนำความสากล และความเชี่ยวชาญการทำธุรกิจ ผู้เขียนมองว่า OVS อาจขึ้นมาแทนที่ตำแหน่ง Topshop เพราะมีเกือบสิบสาขาในไทย และความเป็นแบรนด์จากอิตาลีก็น่าจะช่วยได้ไม่น้อย แต่ก็ห้ามมองข้ามกลุ่มแบรนด์ไทย Jaspal เพราะปี 2021 มีรายได้รวม 6,550 ล้านบาท ลดลง 25.8% ขาดทุนสุทธิ 144 ล้านบาท ลดลง 150%

อ้างอิง // บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา