เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้แจ้งว่า จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐวานก่อน (20 กันยายน 2564) ที่ประชุมเห็นชอบขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของ GDP จากเดิมอยู่ที่ 60% ของ GDP
ทั้งนี้ ก็เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง เพิ่มความคล่องตัวในการการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจระยะหน้า โดยแบงก์ชาติประเมินว่าความเสี่ยงต่างๆ ยังต่ำ การใช้จ่ายภาครัฐควรเน้นโครงการที่มีประสิทธิผลสูงและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐของประเทศ และต้องเร่งลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP กลับมาที่ 60% ในระยะต่อไป
แบงก์ชาติชี้แจงว่า การขยายเพดานหนี้สาธารณะครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะต้องกู้เงินเพื่อให้ถึงเพดานหนี้สาธารณะแต่เป็นการเพิ่มความคล่องตัวให้ภาครัฐ เนื่องจากมาตรการทางการคลังยังมีบทบาทในการช่วยเสริมรายได้ของประชาชนที่ลดลงมากเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาเร็ว นอกจากนี้ พ.ร.ก. 5 แสนล้านที่จะกู้เพิ่มเติมในปีนี้และปีหน้าเพื่อช่วยเยียวยาและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกอปรกับเศรษฐกิจที่ชะลอลง คาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงกว่า 60% อยู่ก่อนแล้ว
ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการคลังในการปรับเพดานหนี้สาธารณะครั้งนี้อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจาก
- เพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 70% ถือว่าไม่สูงเกินไป สัดส่วนหนี้ปัจจุบันอยู่ที่ 55.6% เทียบกับระดับปัจจุบันของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ประมาณ 120% และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชียประมาณ 70%
- หนี้สาธารณะของไทยเกือบทั้งหมดเป็นหนี้ในประเทศ 98.2% และต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลไทยอยู่ในระดับต่ำ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปีของไทย ณ 20 กันยายน 2564 อยู่ต่ำกว่า 1.8% ต่ำสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน ส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับเกิน 3%
- ความเสี่ยงในการถูกปรับลด credit rating ของไทยอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากประเมินความน่าเชื่อถือของแต่ละประเทศขึ้นกับประสิทธิผลของมาตรการในการพยุงและฟื้นฟูเศรษฐกิจ และความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ระยะหน้าเป็นสำคัญ จะเห็นได้ว่าประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียมี credit rating ระดับเดียวกับไทย มีหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงกว่าไทยเป็นส่วนใหญ่ เช่น อินเดีย 87% มาเลเซีย 67%
นอกจากนี้ ระบบการเงินมีสภาพคล่องเพียงพอรองรับการออกพันธบัตรรัฐบาลในอนาคต ทางแบงก์ชาติได้ประสานกับกระทรวงการคลังในการบริหารหนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ระดมทุนผ่านตลาดการเงินไปอย่างราบรื่นมีประสิทธิภาพสูงสุด
ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญคือการใช้จ่ายของภาครัฐที่จะต้องเน้นโครงการที่มีประสิทธิผลสูง เช่น มาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (co-pay) เช่น มาตรการคนละครึ่งและมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ รวมถึงมาตรการที่ช่วยพยุงการจ้างงาน อาจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมเพื่อให้ได้ผลในวงกว้าง ช่วยขยายศักยภาพทางเศรษฐกิจ เยียวยาให้ตรงจุด มีกระบวนการโปร่งใสตรวจสอบได้ ต้องมีแนวทางชัดเจนที่จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ปรับลดลง รักษาวินัย
ที่มา – แบงก์ชาติ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา