จับตาผู้ผลิตไวน์กับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น การเพาะปลูกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน รสชาติไวน์จะเปลี่ยนไปอย่างไร หาคำตอบได้ที่นี่
วิกฤติสภาพอากาศคือหนึ่งในอีกปัจจัยที่ธุรกิจเริ่มต้องคิด เพราะปัจจุบันผลกระทบจากภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ธุรกิจที่เกี่ยวกับการเกษตรคือหนึ่งในธุรกิจที่ต้องคิดเรื่องนี้เพราะสภาพอากาศส่งผลโดยตรงต่อการผลิต
ไวน์คือหนึ่งในธุรกิจที่มีความกังวลต่อภาวะโลกร้อนมากในช่วงหลังๆ เพราะองุ่นที่ใช้ในการทำไวน์ค่อนข้างอ่อนไหวต่อสภาพอากาศ แค่อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงนิดเดียวรสชาติก็จะเปลี่ยนแปลงทันที นี่คือสาเหตุว่าทำไมไวน์ดีๆ ถึงมีราคาแพง มาดูกันว่าธุรกิจไวน์ถูกกระทบมากแค่ไหนจากวิกฤติภูมิอากาศที่นับวันก็ยิ่งรุนแรง
ผลผลิตถูกทำลายจากความร้อนและแสงแดด
ผลกระทบที่เราอาจเห็นได้ชัดเจนมากที่สุดอย่างหนึ่งคือการที่องุ่นมีผลผลิตน้อยลงเนื่องจากอากาศที่ร้อนขึ้น อย่างในหน้าร้อนปี 2019 ตอนใต้ของออสเตรเลียพบเจอกับอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยในปีนั้นมีการสูญเสียผลผลิตองุ่นขาวถึง 8% โดยเฉพาะพันธุ์ Chardonnay ที่ผลผลิตลดลงถึง 12%
ไวน์บางชนิดอาจหายไป
องุ่นที่ใช้ทำไวน์มีหลายชนิดและแต่ละสายพันธุ์ก็สามารถเติบโตในอากาศที่แตกต่างกันไป มีงานวิจัยระบุว่าหากสภาพอากาศร้อนขึ้น 2 องศาเซลเซียส จะทำให้พื้นที่กว่า 56% ในโลกไม่สามารถปลูกองุ่นให้เหมาะกับการทำไวน์ได้อีกต่อไป แต่หากแต่ละพื้นที่ยอมปรับตัวไปปลูกองุ่นชนิดอื่นจะมีแค่ 24% ที่ไม่สามารถปลูกอุ่นสำหรับทำไวน์ได้
ทางแก้หนึ่งสำหรับเรื่องนี้คือการเปลี่ยนสายพันธุ์ในการปลูกให้เหมาะสมต่ออากาศที่ร้อนขึ้น
แต่เรื่องนี้ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะแต่ละพื้นที่ก็สั่งสมประสบการณ์ในการทำไวน์ในแบบฉบับของตัวเองมาอย่างยาวนาน ภาวะโลกร้อนอาจทำให้ไวน์โลกเก่าหรือไวน์ที่ปลูกในทวีปยุโรปซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตที่หนาวเย็นกว่าสูญหายไป องุ่น Carbernet Sauvigon ที่เป็นเอกลักษณ์ของไวน์ Bordeaux ไปจนถึง Pinot Noir ในแคว้น Burgundy อาจถูกแทนที่ด้วยองุ่นที่เติบโตได้ดีในอากาศอบอุ่นกว่า เช่น Mourverde ที่นิยมปลูกในสเปน
แน่นอนว่า การสูญอัตลักษณ์ของแต่ละแหล่งปลูกอาจไม่ใช่เรื่องที่ผู้ผลิตและคอไวน์ประทับใจเท่าไหร่นัก
ภาวะโลกร้อนทำให้ไวน์เข้มและมีแอลกอฮอล์มากยิ่งขึ้น
อธิบายการเติบโตขององุ่นง่ายๆ คือ องุ่นจะยิ่งสุกเร็วและผลิตน้ำตาลได้มากหากอากาศอบอุ่นขึ้น และเมื่อนำมาหมักบ่ม น้ำตาลจำนวนมากก็จะแปรสภาพกลายเป็นแอลกอฮอล์ แต่ในทางกลับกันการที่องุ่นสุกเร็วเกินไปก็ทำให้องุ่นไม่สามารถผลิตสารแทนนินซึ่งเป็นที่มาของรสฝาดและสีแดงอมม่วงในไวน์ได้ทัน ภาวะโลกร้อนจึงส่งผลต่อรสชาติไวน์
ในปี 2005 เกิดคลื่นความร้อนเข้าปกคลุมตอนใต้ของออสเตรเลียอย่างรุนแรง ผลลัพธ์ก็คือไวน์ในปีดังกล่าวมีปริมาณแอลกอฮอลล์พุ่งขึ้นสูงกว่าปกติ
ที่สำคัญ เคยมีการศึกษาอย่างจริงจังในเรื่องนี้โดย Liv-ex แพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนไวน์ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลของไวน์จากปี 1990 ถึงปัจจุบัน และนำปริมาณแอลกอฮอลล์ของไวน์ในแต่ละพื้นที่แต่ละปีมาเปรียบเทียบกัน ความจริงที่น่าตกใจคือไวน์ในแต่ละพื้นที่มีปริมาณแอลกอฮอลล์เพิ่มขึ้นจริงๆ
- ไวน์แดงจาก California, Piedmont, Tuscany, Rhone และ Rioja มีแอลกอฮอลล์เพิ่มขึ้นจากต่ำกว่า 14% เป็นสูงกว่า 14%
ข้อมูลจากหลายแหล่งแสดงให้เห็นตรงกันว่าทุกวันนี้เราเก็บองุ่นเร็วขึ้น แสดงให้เห็นว่าอากาศที่ร้อนขึ้นทำให้องุ่นสุกงอมเร็วกว่าปกติและมีน้ำตาลมากกว่าปกติ และนี่คือสาเหตุเบื้องหลังที่ไวน์มีแอลกอฮอลล์สูงขึ้น
- Local.fr ระบุว่าเกษตรกรในฝรั่งเศสเก็บเกี่ยวองุ่นเร็วขึ้นถึง 18 วันเมื่อเทียบกับ 14 ปี ที่ผ่านมา
- Bloomberg รายงานว่าเกษตรกรในแถบลุ่มแม่น้ำลัวร์ในฝรั่งเศสเก็บองุ่นเร็วขึ้น 1 เดือน เทียบกับปี 2019
- วารสารวิชาการของ European Geosciences Union ระบุว่า ทุกวันนี้เราเก็บองุ่นเร็วขึ้นโดยเฉลี่ยจากปี 1988 เป็นเวลา 13 วัน
เห็นได้ชัดว่าสภาพอากาศส่งผลต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมไวน์ในภาพรวม หลังจากนี้รสชาติไวน์จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การผลิตอาจทำได้ยากขึ้น ที่สำคัญอาจกระทบอัตลักษณ์ของไวน์ที่มีรสชาติเฉพาะตัวในแต่ละพื้นที่
ที่มา – FT, Times, Forbes, WineMag, Colombia Climate School
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา