องุ่นพรีเมียมจากญี่ปุ่นสูญเสียรายได้ จีนและเกาหลีใต้ปลูกได้มากกว่า หลังต้นกล้าถูกลักลอบออกไป

องุ่นพรีเมียมพันธุ์ “Shine Muscat” ซึ่งถูกปกป้องโดยกฎหมายลิขสิทธ์ญี่ปุ่น ถูกลอบนำออกไปเพาะที่จีนและเกาหลีใต้ ผู้ที่มีผลผลิตสูงกว่าหลายเท่าตัว ทำให้อุตสาหกรรมผลไม้ในญี่ปุ่นเสียหายร้ายแรง

ฟาร์มองุ่นในจีนและเกาหลีใต้

สมาคม JATAFF ระบุว่าจีนและเกาหลีใต้คือจุดหมายยอดนิยมของต้นกล้าและเมล็ดขององุ่นไชน์มัสคัสที่ถูกลักลอบนำออกไปจากญี่ปุ่น

ปัจจุบัน เกาหลีใต้ส่งออกองุ่นไชน์มัสคัสมากกว่าญี่ปุ่นถึง 5 เท่า โดยมูลค่าขององุ่นทั้งหมดที่ถูกส่งออกสูงถึง 800 ล้านเยน เมื่อต้นปี 2020 เติบโตกว่า 50% โดย 90% เป็นองุ่นไชน์มัสคัส

ในทางกลับกัน ตลาดองุ่นส่งออกของญี่ปุ่นมีมูลค่าที่ 147 ล้านเยนเท่านั้น นับเป็นเพียง 18% ของมูลค่าทั้งหมดของเกาหลีใต้

ทางด้านประเทศจีนเองก็อุทิศที่ดินสำหรับการเพาะปลูกองุ่นไชน์มัสคัสถึง 53,000 เอเคอร์ ซึ่งมากกว่าของญี่ปุ่นที่ 1,200 เอเคอร์ถึง 40 เท่า ส่วนเกาหลีใต้มีพื้นที่ฟาร์มกว่า 1,800 เอเคอร์ 

องุ่นไชน์มัสคัสและกฎหมายป้องกัน

องุ่นไชน์มัสคัสถูกเพาะพันธุ์ขึ้นมาจากศูนย์วิจัยพืชผลไม้ของญี่ปุ่นในปี 1988 ซึ่งถูกขายภายในประเทศด้วยราคากว่า 2,000 บาทต่อพวง และส่งออกในฐานะองุ่นระดับพรีเมี่ยม

ก่อนหน้านี้ ทางรัฐบาลญี่ปุ่นรับรู้ถึงปัญหาว่ามีการปลูกต้นองุ่นไชน์มัสคัสนอกประเทศตั้งแต่ปี 2016 แต่ยังทำอะไรไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ

รัฐบาลญี่ปุ่นพึ่งจะออกกฎหมายห้ามส่งออกต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์ของพืชผลไม้สำคัญบางชนิดเมื่อต้นปี 2021 เท่านั้น ซึ่งผู้ที่ทำผิดกฎหมายจะโดนปรับหรือจำคุก ถ้าต้นกล้าหรือเมล็ดถูกส่งออกไปแล้วก็เรียกคืนไม่ได้อีกต่อไป

อุตสาหกรรมผลไม้พรีเมียมในญี่ปุ่น

การสืบสวนในปี 2020 พบว่าพันธุ์ไม้ญี่ปุ่นกว่า 30 ชนิดถูกลักลอบนำไปเพาะพันธุ์ที่ต่างประเทศแล้ว รวมถึงสตรอว์เบอร์รีและส้มพรีเมียมจากจังหวัดชิสุโอกะ

รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรให้ได้ 2 ล้านล้านเยน (ประมาณ 6.11 แสนล้านบาท) ภายในปี 2025 และเพิ่มเป็น 5 ล้านล้านเยน (ประมาณ 1.53 ล้านล้านบาท) ในปี 2030 ทว่า ยอดปัจจุบันที่ 9.22 แสนล้านเยน (ประมาณ 2.82 แสนล้านบาท) ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ 1 ล้านล้านเยน (3.06 แสนล้านบาท) ของปี 2019 เลย

สรุป

สินค้าทางเกษตรที่สำคัญต่อเศรษฐกิจต้องควบคุมการส่งออกต้นกล้าและเมล็ดให้ดี ป้องการการแข่งขันจากต่างประเทศที่ขายในราคาต่ำกว่าเหมือนกรณีองุ่นไชน์มัสคัส ซึ่งสายเกินไปแล้วที่จะหยุดยั้งได้ น่าจับตามองว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะพลิกสถานการณ์นี้ได้หรือไม่

ที่มา – Asia Nikkei

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา