ใครที่ติดตามวงการสตาร์ทอัพโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คงจำกันได้ถึงกรณี WeWork สตาร์ทอัพให้เช่าออฟฟิศที่มีมูลค่ากิจการแตะระดับ 1.5 ล้านล้านบาท
และจนถึงตอนนี้ ทุกคนก็ทราบดีว่า นั่นคือ “ตัวเลขลวงโลก”
มูลค่ากิจการของ WeWork เท่าที่ประเมินใหม่ล่าสุด ณ ตอนนี้คือไม่ถึง 1 ใน 5 ของมูลค่าทั้งหมด คิดเป็นตัวเลขประมาณ 3 แสนล้านบาท
Brand Inside เคยรวบรวมเรื่องราวของ WeWork สตาร์ทอัพยูนิคอร์นลวงโลก จากดาวรุ่งด้วยมูลค่ากิจการระดับล้านล้านในกระดาษ สู่โลกแห่งความเป็นจริงที่มูลค่าต่ำกว่าที่คาดไว้มหาศาลในคลิป WeWork มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
โควิดชุบชีวิตใหม่ให้ WeWork ได้อย่างไร
หลังจากล้มเหลวกับการ IPO ในปี 2019
ตลอดปี 2020 WeWork ปรับโครงสร้างองค์กรหลายอย่าง ตั้งแต่การที่ SoftBank ผู้สนับสนุนหลักเข้ามาถือหุ้นใหญ่มากขึ้น ปรับเปลี่ยนหัวเรือ เอาผู้บริหารมืออาชีพมานั่งทำงานแทน ลบล้างวีรกรรมอันโสมมของผู้ก่อตั้งอย่าง Adam Neumann
[ชวนอ่าน] มหากาพย์ WeWork ได้รับการถ่ายทอดในหนังสือชื่อ Cult of We เป็นการเล่าเรื่องราวของ WeWork อย่างครอบคลุมที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยเฉพาะประเด็นของผู้ก่อตั้งอย่าง Adam Neumann ที่มีเบื้องหน้าคือนักธุรกิจผู้มีวิสัยทัศน์ แต่เบื้องหลังคือจอมปาร์ตี้ ใช้เงินเก่งพอๆ กับขายฝันให้กับนักลงทุน หนังสือเล่มนี้เขียนโดยนักข่าวที่ติดตามเรื่องราวของ WeWork อย่างใกล้ชิดมาตลอดหลายปี หนังสือเพิ่งตีพิมพ์ในปี 2021 มีขายในไทย แต่ยังไม่มีฉบับแปล
- เมื่อ WeWork เริ่มไม่เวิร์ค: ล้มเหลว IPO ซีอีโอลาออก ล่าสุดข่าวลือ อาจปลดพนักงานหลักพัน
- จะปลดแต่ยังไม่มีเงิน! WeWork ชะลอการปลดพนักงาน เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย
ไม่นานมานี้ The Wall Street Journal รายงานว่า Cushman & Wakefield บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ต่อรองเพื่อที่จะลงทุนใน WeWork กว่า 5 พันล้านบาท
เหตุผลของการลงทุนหลายพันล้าน เป็นเพราะอนาคตอันใกล้ของ WeWork อาจจะกลับมาสดใสอีกครั้ง เพราะนี่จะเป็นการลงทุนเพื่อควบรวมกิจการและนำ WeWork เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
WeWork วางแผนไว้ว่าในปลายปี 2021 จะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง แต่จะไม่ทำ IPO แบบเดิมอีกแล้ว รอบนี้จะใช้วิธีระดมทุนแบบ SPAC แทน
อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าหาก WeWork นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ผ่านวิธีการ SPAC มูลค่ากิจการน่าจะอยู่ที่ 9 พันล้านดอลลาร์ (ไม่ใช่ 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์อย่างที่เคยหลอกลวงในยุค IPO)
WeWork จะไม่ใช่แค่พื้นที่ของสตาร์ทอัพอีกต่อไป
Sandeep Mathrani ซีอีโอคนปัจจุบันของ WeWork ผู้มีศรัทธาและความเชื่อมั่นอันแรงกล้าสำหรับการทำงานในออฟฟิศ บอกว่า “วิกฤตโควิดได้เปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานของพวกเราทุกคนไปอย่างไม่หวนกลับ”
แต่เอาเข้าจริงไม่ใช่แค่วิถีการทำงาน เพราะโมเดลธุรกิจของ WeWork เองก็จะไม่เหมือนเดิม วิกฤตโควิดทำให้ภาพลักษณ์ของ WeWork เปลี่ยนไป
ผลประกอบการไตรมาส 1 ของปี 2021 ทำให้เห็นชัดเจนเลยว่า สมาชิกใหม่ที่เช่าออฟฟิศของ WeWork ไม่ใช่สตาร์ทอัพ ไม่ใช่บริษัทรายเล็กรายย่อย แต่เป็นบริษัทรายใหญ่
สมาชิกใหม่ของ WeWork ทั่วโลกในไตรมาสแรกปี 2021 เป็นบริษัท/องค์กร (enterprise) มากถึง 51% และที่น่าสนใจกว่านั้นคือตัวเลขเฉลี่ยในการเช่าพื้นที่ทำงานอยู่ที่ 27 เดือน (สัญญามากกว่า 2 ปี)
ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ถ้าดูผลประกอบการภาพรวม รายได้ของ WeWork ในไตรมาสแรกปี 2021 อยู่ที่ 598 ล้านดอลลาร์ และยังคงขาดทุนอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์
แม้จะขาดทุน แต่ยังพอมองเห็นอนาคต และพูดกันให้ถึงที่สุด ก็ยังดีกว่าปี 2019 ที่ WeWork อยู่ในยุคมืด ทำธุรกิจขาดทุนชั่วโมงละเกือบ 7 ล้านบาท (ขาดทุนวันละประมาณ 160 ล้านบาท ทุกวันทั้งปี)
นอกจากนั้น WeWork ในยุคใหม่ยังได้ขยายธุรกิจไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ อย่างมหาวิทยาลัย สร้างพื้นที่สำหรับการเรียนรู้แบบไฮบริด ใช้ชื่อโปรแกรมว่า WeWork for Education โดยไปร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสร้างพื้นที่บริการมีอินเทอร์เน็ตให้กับนักเรียนนักศึกษา สร้างเป็น community สำหรับการเรียนรู้ ตอบโจทย์ยุคที่เรียนที่ไหนก็ได้
นี่คือภาพของของ WeWork ยุคใหม่ ยุคหลังผู้ก่อตั้งจอมลวงโลก
อ้างอิง – WeWork, WSJ, Quartz, Businesswire, BBC
แนวทางของ WeWork ต่อประเด็น Future of Work คือการทำงานแบบไฮบริด (Hybrid Working Model)
WeWork บอกว่า โลกยุคหลังโควิดทำให้บริษัทและพนักงานจะสร้างโลกการทำงานขึ้นมา 3 ใบอย่างชัดเจน นั่นคือบ้าน, สำนักงานใหญ่ (headquarter) และพื้นที่ที่สามอย่างร้านกาแฟ ห้องสมุด หรือ Co-Working Space เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศในการทำงาน
อ่าน Full report: The future of work is hybrid ของ WeWork ได้ที่ https://www.wework.com/info/full-report-the-future-of-work-is-hybrid
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา