สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ ให้ความเห็นว่าการล็อกดาวน์เข้มข้นช่วยลดการระบาดได้ แต่รัฐบาลจำเป็นต้องเยียวยาประชาชน และต้องสื่อสารอย่างชัดเจนไม่สร้างความสับสนจนประชาชนลำบาก
คณาจารย์จาก สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุในบทความถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รุนแรงขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาจนปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อต่อวันเกิน 1 หมื่นคน และมีผู้เสียชีวิตต่อวันเพิ่มขึ้น 2 เท่าภายใน 1 สัปดาห์ ว่าเป็นสัญญาณอันตรายที่แท้จริง โดยมีการเสนอแนวทางในการกำหนดนโยบายว่าให้กับรัฐว่า การล็อกดาวน์เข้มข้นและเข้มงวดสามารถทำได้ภายใต้ 2 เงื่อนไข คือ
- มีนโยบายช่วยเหลือประชาชนชัดเจน
- มีการสื่อสารต่อสาธารณชนที่ชัดเจนไม่สร้างความสับสน
ล็อกดาวน์เข้มข้นดีกว่า จากการศึกษาของ IMF
บทความระบุว่าหลายประเทศในโลกเลือกใช้มาตรการล็อกดาวน์อ่อนๆ เพราะไม่อยากสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่บอบช้ำเป็นทุนเดิมและไม่อยากให้ประชาชนได้รับความยากลำบาก แต่ การศึกษาของ IMF แสดงให้เห็นว่าการล็อกดาวน์เข้มงวดดีกว่าการล็อกดาวน์แบบอ่อนๆ ทั้งในแง่ของการควบคุมการระบาดและเศรษฐกิจ เพราะหากให้เทียบกัน การล็อกดาวน์เบาๆ จะทำให้ระดับผู้ติดเชื้อยังคงสูงส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกชะลอ
- เมืองใหญ่สหรัฐ คลายกฎควบคุมโควิด กลับภาวะสู่ปกติ
- อังกฤษคลายล็อกดาวน์ แม้โควิดยังระบาด
- EU ฟื้นจากโควิดได้ดี เศรษฐกิจโตสุดในรอบ 45 ปี
แต่การล็อกดาวน์เข้มงวดทำให้การติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็วทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวดีกว่าในขณะที่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจในการบังคับใช้นโยบายที่สูงกว่าเพียงเล็กน้อย
แน่นอนว่ารัฐจำเป็นต้องออกมาตรการเยียวยาเพื่อให้ประชาชนอยู่ได้ภายใต้สภาวะล็อกดาวน์ ที่สำคัญต้องสื่อสารอย่างชัดเจนว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ไม่สร้างความสับสนในการเอาชีวิตรอดให้ประชาชนภายใต้สถานการณ์ที่บีบคั้นชีวิตประชาชนอยู่แทบทุกวินาที
ถ้าจะล็อกดาวน์ ต้องเยียวยาเต็มที่
สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ กล่าวชัดว่า ก่อนที่จะมีการประกาศล็อกดาวน์ รัฐต้องมีมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมที่ชัดเจน เพื่อให้การล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพสูงสุด ประชาชนปฏิบัติตามได้และพร้อมให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการในด้านสภาพคล่องของประชาชน รวมทั้งผู้ประกอบการทั้งเล็กและใหญ่
นี่คือตัวอย่างมาตรการทางเศรษฐกิจและทำในหลายๆประเทศ อาทิ ประเทศเยอรมนี ประเทศออสเตรเลีย ประเทศสิงคโปร์ และประเทศฝรั่งเศส
- ช่วยผู้ประกอบที่ได้รับผลกระทบจ่ายค่าแรงลูกจ้างในอัตราที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดและไม่ต้องให้พนักงานออก
- เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการทุกขนาดที่ธุรกิจได้รับผลกระทบ เช่น ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจการบิน และธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ
- เสริมสภาพคล่องให้ประชาชนในด้านปัจจัย 4
- มาตรการพักหนี้โดยไม่คิดดอกเบี้ยเพิ่มสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการ
- พักชำระการจ่ายภาษีของประชาชนและผู้ประกอบการและเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นประชาชนและผู้ประกอบการสามารถจ่ายภาษีของปีที่ผ่านมาแทนในปีถัดไป
[Opinion] ปัจจุบันประเทศไทยมีนโยบายเยียวยาออกมาหลายอย่าง เช่น มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน เสริมสภาพคล่องให้ประชาชนผ่านโครงการรัฐ (ม.33 เรารักกัน, คนละครึ่ง, เราชนะ) แต่เห็นได้ชัดว่าเป็นมาตรการระยะสั้นและยังไม่ครอบคลุมผลกระทบทั้งหมด คนทำงานกลางคืน เช่น ศิลปิน ยังไม่ได้รับการเยียวยาจนต้องมีการเข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐ ไปจนถึงธุรกิจรายย่อยที่ยังต้องเลิกจ้างพนักงาน
- เปิดมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน 1 เดือนช่วงโควิดระบาดระลอก 4
- ถอดบทเรียนจากภูเก็ต นายจ้างอย่าให้เรื่องถึงศาล เลิกจ้างได้ แต่รับผิดชอบค่าชดเชยด้วย
จะสั่งห้าม จะให้ความช่วยเหลือ มีข้อกำหนดอะไรรัฐต้องสื่อสารชัดเจน
ทางสถาบันระบุว่าองค์ประกอบหนึ่งที่หลายๆประเทศที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ชัดเจน คือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ จากวิจัยที่ได้ทำการศึกษาและรวบรวมการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในภาวะวิกฤตของรัฐบาล มีสรุปประเด็นหลักๆ ดังนี้
- สื่อสารอย่างชัดเจนและครบถ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและทำให้ประชาชนไม่เกิดความสับสน เช่น สื่อสารว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ และมีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อให้ความสนับสนุนแก่ประชาชนที่จะตอบสนองต่อนโยบายต่างๆของรัฐ ในทิศทางที่ชัดเจนและไม่ขัดแย้งกัน โดยเฉพาะข้อมูลที่ออกมาจากหน่วยงานของรัฐต้องเป็นข้อมูลที่ตรงกัน ถูกต้อง ชัดเจน และปราศจากความสับสน
- สื่อสารอย่างมีความเห็นอกเห็นใจ จริงใจและซื่อสัตย์ เช่น แสดงออกถึงความเข้าใจถึงปัญหาและสื่อสารออกไปอย่างเห็นอกเห็นใจ และสื่อสารด้วยคำพูดเชิงบวก
- สื่อสารถึงความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เช่น ในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นความไม่แน่นอนในสิ่งต่างๆอาจจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และก็ควรสื่อสารออกไป เพื่อสร้างความคาดหวังที่ถูกต้อง
[Opinion] เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลไทยยังมีปัญหาอย่างมากในเรื่องนี้ แม้แต่ข้อมูลที่สำคัญต่อชีวิตประชาชนจากหน่วยงานของรัฐก็ยังขัดแย้งกันเอง เช่น ในกรณีที่ กรุงเทพมหานคร ประกาศให้นั่งทานอาหารในร้านได้ถึง 1 ทุ่ม แต่ในภายหลังฟากรัฐบาลกลับออกมาประกาศให้นั่งได้ถึง 3 ทุ่ม หรือในกรณีที่รัฐบาลออกมากล่าวว่าไม่มีการล็อกดาวน์ จนธุรกิจร้านอาหารพากันสต็อคของสดเพราะคาดหวังว่าจะได้ประกอบกิจการต่อไป แต่หลังจากนั้นก็มีการประกาศล็อกดาวน์ในวันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคมช่วงเย็น ทำให้กิจการต่างๆ ถูกกระทบจากความผิดพลาดของรัฐ
ชัดเจนว่าการสื่อสารของรัฐล้มเหลว ไร้เอกภาพ ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระและตกอยู่ในความเสี่ยง แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศใช้พรก. ฉุกเฉินที่ ‘ควร’ จะทำให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจสั่งการรวมศูนย์แล้วก็ตาม
ยังไม่นับรวมการสื่อสารที่แสดงให้เห็นท่าทีผลักภาระและกล่าวโทษประชาชนของทางการ และมักโยนความผิดของการระบาดว่าเป็นเพราะความหละหลวมของประชาชน แทนที่จะแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจในฐานะมนุษย์ อย่างที่รัฐบาลในอารยประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ที่ถึงกับต้องออกมาขอโทษครั้งแล้วครั้งเล่า และรัฐบาลยังไม่ได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบในความไร้ประสิทธิภาพในควบคุมการระบาดและความล้มเหลวในการเจรจาจัดซื้อวัคซีนที่มีประสิทธิภาพจนต้องผลักภาระสู่ประชาชน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา