9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2021 ของ Uniqlo ยังโตได้ดี กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 67% แต่ยังเผชิญความท้าทายในไตรมาส 4 เรื่องโควิดในเอเชียและชาตินิยมจีน
ไตรมาส 3 Uniqlo กำไรโต 67% ฟื้นจากปีก่อนหน้า
Takeshi Okazaki ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของ Fast Retailing บริษัทแม่ของ Uniqlo ระบุว่า กำไรสุทธิของ 3 ไตรมาสแรกของ ปีงบประมาณ 2021 ของ Fast Retelling (กันยายน 2020 – สิงหาคม 2021) อยู่ที่ 1.51 แสนล้านเยน หรือ 4.49 หมื่นล้านบาท
- เพิ่มขึ้นถึง 67% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิของ 3 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2020
ชัดเจนว่าสถานการณ์ปีนี้ดีกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลายประเทศจัดการการแพร่ระบาดของโควิดได้ดีขึ้น
Fast Retailing ยังรายงานว่า รายได้ของช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2021 เพิ่มขึ้น 9.9% เทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่า 1.69 ล้านล้านเยน หรือ 5 แสนล้านบาท โดยหลักๆ เป็นเพราะผลประกอบการในญี่ปุ่นและจีน (ทั้งในและนอกแผ่นดินใหญ่) ค่อนข้างแข็งแรง
ไตรมาสสุดท้ายของ Uniqlo ยังน่ากังวล
อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์โควิดที่กำลังกลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้งหลังจะเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าเริ่มระบาดไปทั่ว โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ยังประสบปัญหาด้านการกระจายวัคซีน
ทำให้ทาง Fast Retailing ต้องปรับลดการคาดการณ์ผลประกอบการไตรมาส 4 ลงมา โดยคาดหวังการเติบโตของรายได้ในไตรมาส 4 อยู่ที่ 7% จากไตรมาสก่อน น้อยกว่าในช่วงไตรมาส 3
- Fast Retailing คาดการณ์ รายได้ปี 2021 ลดลงมาที่ 2.15 ล้านล้านเยน (6.4 แสนล้านบาท) จากที่เคยคาดไว้ที่ 2.21 ล้านล้านเยน (6.6 แสนล้านบาท)
- Fast Retailing คาดการณ์ กำไรจากการดำเนินงานปี 2021 ลดลงมาที่ 2.45 แสนล้านเยน (7.29 หมื่นล้านบาท) จากที่เคยคาดไว้ที่ 2.55 แสนล้านเยน (7.59 หมื่นล้านบาท)
ญี่ปุ่นยังระบาดหนัก-จีนชาตินิยมแรงซื้อแบรนด์ชาติตัวเองมากขึ้น
มีการระบุชัดว่าสาเหตุที่ทำให้ต้องปรับลดการคาดการณ์ผลประกอบการลงเป็นเพราะการดำเนินงานในญี่ปุ่นและจีนต่ำกว่าความคาดหวัง อย่างในญี่ปุ่น การจัดการปัญหาการระบาดระลอกใหม่ยังไม่ดีนักทำให้ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในโตเกียวอีกครั้ง ส่วนอีกหลายๆ จังหวัดก็ตกอยู่ในสภาวะกึ่งสภาวะฉุกเฉิน
ส่วนในจีน Takeshi Okazaki ระบุว่า ณ ขณะนี้ ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายเงินไปกับการท่องเที่ยวมากกว่าการซื้อเสื้อผ้า แต่ยอดขายในภาพรวมทั้งปียังคงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และคาดว่าจะกลับไปแตะระดับก่อนการระบาดได้
แม้จะชัดเจนว่าผู้บริโภคในจีนหันมาสนใจที่จะอุดหนุนแบรนด์ท้องถิ่นมากขึ้นเพราะโควิด-19 และกระแสรักชาติที่เกิดหลังการถูกนานาชาติรุมประณามในกรณีซินเจียงจนหลายๆ แบรนด์ ต้องออกมาตัดสัมพันธ์กับผู้ผลิตในซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับซินเจียง
แต่ Okazaki ยังย้ำชัดว่า ไม่ได้มีความกังวลเกี่ยวกับการบริโภคในประเทศจีน เพราะแม้แบรนด์จีนจะได้รับความนิยมจากชาวจีนมากขึ้น สิ่งที่ต้องทำคือการคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าของตัวเอง
ที่มา – Nikkei Asia
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา