วิพากษ์ Logistics ในประเทศไทย สถานการณ์ การแข่งขันและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

ธุรกิจให้บริการ Logistics แข่งขันกันหนักหน่วงและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 2 ปีหลังเกิดผู้ให้บริการหน้าใหม่เข้าสู่ตลาด และกลายเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไปรษณีย์ไทย เช่น Kerry Express, Alpha, นิ่มซี่เส็ง หรือแม้แต่ DHL และล่าสุดกับ SCG Express ที่เริ่มต้นทำตลาดอย่างจริงจัง

ผรินทร์ สงฆ์ประชา CEO แห่ง Nasket ผู้เชี่ยวชาญด้าน e-Commerce และ Logistics ได้ทำการวิพากษ์วงการ Logistics ในไทย ที่หลายเรื่องต้องบอกว่า Thailand Only ได้อย่างน่าสนใจ และใครที่เกี่ยวข้องในธุรกิจนี้ไม่ควรพลาด (รวมถึงบทความก่อนหน้านี้เรื่อง Non UI e-Commerce คลิกอ่านได้ที่นี่)

ภาพจาก Pixabay.com

ภาพรวม Logistics จุดอ่อน จุดแข็ง และความต้องการ

หลายคนบอกว่าตลาดนี้มีที่ว่างให้กับผู้ให้บริการรายใหม่ ส่วนหนึ่งเป็นความจริง แต่การแข่งขันก็ดุเดือดเช่นเดียวกัน ซึ่งนั่นเป็นผลดีกับผู้บริโภค ดังนั้นหากจะวิพากษ์วงการนี้ ต้องมองว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 ส่วน อันดับแรกคือ เจ้าของแบรนด์ (รวมถึงผู้ให้บริการ e-Marketplace) ผู้ขาย และผู้บริโภค

สำหรับเจ้าของแบรนด์ และผู้ให้บริการ e-Marketplace เช่น tarad.com, lnwshop.com จะเน้นเรื่องของความน่าเชื่อถือ, ต้นทุนที่ต่ำ เป็นหลัก และถ้าเป็นไปได้จะไม่ยุ่งกับธุรกิจ Logistics เพราะเป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะเจ้าของแบรนด์ คือคนผลิตสินค้าขาย และ e-Marketplace คือสถานที่ขายสินค้าออนไลน์ ไม่ใช่ผู้ให้บริการขนส่ง ดังนั้นจะชอบใช้บริการ Logistics กับผู้ให้บริการโดยตรงมากกว่า

“แบรนด์ต่างๆ อยากทำออนไลน์เป็นช่องทางเพิ่มขึ้น แต่ไม่อยากทำเองเพราะ แบรนด์ถนัดผลิตสินค้า และไม่อยากส่งสินค้าด้วย ทำให้เกิดผู้ให้บริการแบบ aCommerce และ BentoWeb และบูมมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา”

ด้านผู้ขาย (ทั้งออนไลน์และออฟไลน์) ต้องการใช้บริการ Logistics เพื่อลดต้นทุนและลดเวลาในการทำงาน สร้างความน่าเชื่อถือให้กับการส่งสินค้า และอยากได้บริการรับสินค้าถึงที่ ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนและเวลาได้อีกมาก

ภาพจาก Pixabay.com

พัฒนา Logistics ตอบรับ e-Commerce

ส่วนสุดท้าย คือ ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อ จะเลือกใช้บริการ Logistics ที่ค่าบริการถูกกว่า บริการส่งสินค้าได้รวดเร็ว และจุดส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ หรือพูดง่ายคือ มีบริการที่ดีซึ่งจะสร้างประสบการณ์ที่ดี (นึกภาพเข้าไปแล้วคนรอคิวยาวเป็นร้อย ใช้เวลาส่งของชิ้นเดียวเป็นชั่วโมง) อีกส่วนที่น่าสนใจและเป็นตลาดไทยเท่านั้นคือ การซื้อขายออนไลน์แต่นัดรับของที่รถไฟฟ้า ทำให้เกิดบริการ Skybox ขึ้น เป็นอีกธุรกิจที่น่าสนใจ

ดังนั้น บริการ Logistics ยุคใหม่ได้พัฒนาขึ้นไปมาก เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น ดังนั้นจะไม่ใช่แค่รับส่งของ ไม่ได้มีแค่บริการเก็บเงินปลายทางอีกต่อไป

สำหรับธุรกิจ e-Commerce มีหลักการว่า ถ้าทำให้ลูกค้าถามคำถามน้อยลง จะมียอดการสั่งซื้อมากขึ้น ซึ่ง Logistics มีความเกี่ยวข้องด้วยเต็มๆ หากมีการพัฒนาระบบ e-Commerce เป็นอย่างดีแล้ว มีระบบเว็บที่ดี มีระบบชำระเงินที่ดี ก็ต้องร่วมมือกับผู้ให้บริการ Logistics เพื่อให้มีระบบจัดส่งที่ดีด้วย

ภาพจาก Pixabay.com

ปณท. ไม่ได้แย่ แต่คู่แข่งกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว

ผรินทร์ บอกว่า แทบทุกคนมีประสบการณ์ใช้บริการไปรษณีย์ไทย หรือ ปณท. และน่าจะเคยบ่นกับบริการที่ล่าช้า กล่องสินค้าที่บุบเสียหายมาบ้าง แต่รู้หรือไม่ว่า ปณท. สามารถส่งสินค้าได้ครอบคลุมพื้นที่ 95% ของประเทศไทย เขียนเลขที่บ้านผิดก็ส่งได้ รู้ที่ตั้งของจุดหมายปลายทางโดยไม่ต้องโทรถาม (แต่ก็มีส่งผิดบ้างเช่นกัน)

และบอกได้เลยว่า ผู้ให้บริการ Logistics ทุกรายในประเทศ ต้องใช้บริการ ปณท. เพื่อส่งสินค้าในพื้นที่ที่ตัวเองยังไม่ครอบคลุมแน่นอน และรู้หรือไม่ว่า ปณท. มีบริการ LogisPost รับส่งของที่มีน้ำหนักเกิน 20 กิโลกรัม ถือเป็นบริการที่ดี และปลอดภัย แต่ต้องไปรับของเองที่ทำการไปรษณีย์ เท่านั้น

แล้วรายอื่นๆ เป็นอย่างไร ลองมาดูกันคร่าวๆ

นิ่มซี่เส็ง – ถือเป็นผู้ให้บริการขนส่งรายใหญ่ของภาคเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ทุกส่วนและมีการบริหารจัดการที่ดีมาก นำระบบเทคโนโลยีมาใช้เต็มรูปแบบ ใช้ชื่อบริการว่า นิ่มเอ็กเพรส

DHL – จุดเด่นที่สุดคือภาพของแบรนด์ DHL ที่เป็นบริการระดับโลกมาใช้ แต่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น

Kerry Exprss – ผู้ให้บริการจากฮ่องกงเป็นเบอร์ 2 ของตลาดไทยเวลานี้ เป็นรองแค่ ปณท. เท่านั้น มีบริการที่ดีและน่าจับตามอง

Alpha – เป็นบริการน้องใหม่อีกรายที่ ณ เวลานี้ถ้าเป็นในเขตกรุงเทพฯ คิดค่าบริการถูกที่สุด

SCG Express – ทดลองให้บริการมาสักระยะ เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการ มีบริการที่แตกต่าง เช่น ส่งสินค้าแช่เย็น ใช้เครือข่ายของ SCG ให้เกิดประโยชน์ โดยร่วมมือกับ Yamato บริการขนส่งแมวดำจากญี่ปุ่น น่าจับตามองอีกราย

ภาพจาก Pixabay.com

BentoWeb รวบทุกบริการของ e-Commerce สำเร็จรูปในที่เดียว

ณัฐเศรษฐ์ ศิรินันท์ธนานนท์ CEO ของ BentoWeb บอกว่า เมื่อ Logistics เป็นบริการที่ยากลำบากสำหรับธุรกิจ e-Commerce โดยเฉพาะ sme และแบรนด์ต่างๆ จึงพัฒนาบริการ e-Commerce สำเร็จรูปขึ้น เรียกว่าจัดบริการออนไลน์ครบทุกส่วนบน Facebook ตั้งแต่ระบบ engine e-Commerce, Online Marketing, Warehouse และรวมถึง Logistics ด้วย ซึ่งปัจจุบันมี sme ใช้บริการกว่า 60,000 ราย

เหตุที่มาใช้บริการ BentoWeb เพราะ sme หรือ แบรนด์ต่างๆ ไม่ถนัดกับการทำระบบเทคโนโลยีหลังบ้าน แต่อยากโฟกัสที่การผลิตสินค้าเพียงอย่างเดียว เรื่องระบบเว็บ e-Commerce การทำตลาด และ Logistics แบบครบวงจร จึงโยนให้ BentoWeb ดูแลได้

สรุป

เรื่องการทำ e-Commerce ในไทยยังถือวา่มีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดค้าปลีก ดูจากจำนวนผู้ใช้บัตรเครดิตในไทยที่มีอยู่กว่า 20 ล้านใบ แต่ถือโดยประชากร 16% ของประเทศ (1คนถือมากกว่า1ใบ) จึงไม่แปลกใจที่การซื้อของออนไลน์ยังไม่มาก แม้จะมีช่องทาง e-payment เพิ่มขึ้นมาก แต่ยังต้องใช้เวลาอีกระยะ

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนไทยชอบเห็นของก่อน ค่อยยอมจ่าย ดังนั้นหนึ่งในโครงการของรัฐที่น่าสนใจคือ โครงการเครื่อง EDC (เครื่องรูดบัตร) ของรัฐบาลที่มีธนาคาร 2 ค่ายแข่งขันกันให้บริการ (ค่ายแรก กสิกรไทยและกรุงเทพ กับ อีกค่ายไทยพาณิชย์, กรุงไทย, กรุงศรีอยุธยาฯ, ทหารไทย และธนชาต) จะมีส่วนช่วยให้การใช้งานบัตรเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา