ไม่มีใครชอบถูกเหมารวม เพราะทุกคนต่างมีเอกลักษณ์ของตัวเอง แน่นอนย่อมรวมถึงคุณค่าในแบบที่ไม่เหมือนกัน
ล่าสุดทาง Unilever บริษัทแบรนด์ของใช้ในชีวิตประจำวัน ได้มีโครงการปรับปรุงภาพลักษณ์ในอุตสาหกรรมด้วยการออกมายืนยันแผนจะทำโฆษณา ‘unstereotype’ เพื่อลดทัศนคติเหมารวม พร้อมท้าทายตัวเองด้วยการสร้างอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ให้ออกจากอคติดังกล่าว
โฆษณามีผลกระทบต่อความรู้สึกของคนในสังคม
งานวิจัยโดย Kantar บริษัทวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคชื่อดัง พบว่าคนพิการ, ชาว LGBTQ+, กลุ่มชาติพันธุ์ในสหรัฐ, คนผิวดำ และชุมชนชาวเอเชียรู้สึกไม่พอใจในรูปแบบของการสื่อถึงผ่านทางโฆษณา
นอกจากนี้ยังพบว่า 71% ของลูกค้าส่วนใหญ่เชื่อว่าการเหมารวมในโฆษณามีส่วนปลูกฝังทัศนคติที่ไม่ดีในเด็ก
การเหมารวมเกิดขึ้นทั่วไป ไม่ควรเป็นประเด็นที่ถูกละเลย
กลุ่มคนที่ไม่ใช่กระแสหลักของสังคมมีแนวโน้มว่าจะถูกเหมารวมมากกว่าคนทั่วไป โดย 55% ของผู้หญิงที่มีเชื้อสายเอเชียไม่รู้สึกว่าโฆษณาเป็นตัวแทนของพวกเธอ นอกจากนี้ 46% ของชายพิการยังบอกว่าพวกเขาเห็นภาพลักษณ์ของตัวเองที่ไม่น่าพอใจปรากฏในโฆษณา
ทางแบรนด์จะเริ่มตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการโฆษณาเพื่อที่จะสร้างมุมมองที่ครอบคลุมทุกคนในสังคม โดย Aline Santos หรือ CBO ของ Unilever ได้กล่าวว่าถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคมมันก็ควรจะมีการถูกโฆษณาเผยแพร่ออกไป
นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงแผนการตลาดและจะมีการร่วมงานกับกลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนภาพลักษณ์สัดส่วน รูปร่างนางแบบ ขนาดเสื้อผ้า และสีผิวให้มีความหลากหลายเช่นเดียวกัน
สิ่งที่จะได้เห็นในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือมุมมองเกี่ยวกับคนในสังคมที่กว้างมากขึ้น และจะได้เห็นการร่วมงานกับนักขับเคลื่อนอย่าง Christina Mallon และ Jon Miller พันธมิตรของบริษัทระดับโลกที่ส่งเสริมการรวมกลุ่มของ LGBTQ+ โดย Miller จะปรากฏในภาพยนตร์สั้นเพื่อกระตุ้นการตื่นตัวของคนในอุตสาหกรรมนี้
ที่มา: Adweek
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา