ความเหลื่อมล้ำยังเป็นโจทย์ของจีน เศรษฐกิจเติบโตดี แต่รายได้คนเมือง-ชนบทห่างกัน 2.5 เท่า

หากถามว่าประเทศจีนพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างก้าวกระโดดไหม ก็คงต้องตอบว่าใช่ แต่ปัญหาคือ ไม่ใช่ว่าเมื่อเม็ดเงินเพิ่มเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจในภาพรวมแล้วจะช่วยแก้ปัญหาอื่นๆ ได้เสมอไป เพราะล่าสุด ข้อมูลจากทางการจีนก็แสดงให้เห็นเองว่า จีนกำลังประสบปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบท

แม้เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม

china inequality

นี่ยังไม่รวมปัญหาอีกเรื่องอย่างอัตราการเกิดต่ำที่จะเร่งให้เกิดปัญหาสังคมสูงวัย

รายได้คนเมืองคิดเป็น 2.5 เท่าของคนชนบท

ตัดประเด็นที่ว่า ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ในสังคมจีนเป็นการประโคมข่าวจากโลกตะวันตกไปได้เลย เพราะรัฐบาลจีนเปิดเผยข้อมูลออกมาเองว่า ในปี 2020

  • คนเมืองมีรายได้เฉลี่ย 43,834 หยวน (213,000 บาท) ต่อปี 
  • คนชนบทมีรายได้ 17,131 หยวน (83,000 บาท) ต่อปี

โดยตอนนี้ในประเทศจีน มีผู้อาศัยอยู่ในเมือง 900 ล้านคน ส่วนอีก 500 ล้านคนอยู่ในชนบท

ชนชั้นทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นชัดเจน

คนจีนในเขตชนบทไม่ได้มีทางเลือกในอาชีพมากนักนอกจากการทำเกษตรกรรม ซ้ำร้ายการทำเกษตรกรรมไม่สามารถการเติบโตทางธุรกิจได้มากเพียงพอ หากพิจารณาจากรายได้ต่อปี พบว่าแรงงานภาคเกษตรมีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 1,500 หยวน (7,270 บาท) เท่านั้น

ผู้คนจากภาคเกษตรหลั่งไหลไปหางานในเมืองใหญ่ที่ให้ค่าจ้างเฉลี่ยมากกว่า 4,000 หยวน (19,000 บาท) ต่อเดือน ดีกว่าการทำเกษตรอยู่มากโข

Shanghai COVID-19 People with face Mask
ภาพจาก Shutterstock

ที่สำคัญ หากได้ทำงานเป็นประจำในออฟฟิศก็ยิ่งทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีข้อมูลว่าผู้ที่ทำงานในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้และอยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนระหว่าง 10,000-30,000 หยวน (48,500-145,000 บาท) ต่อเดือน

ข้อมูลด้านรายได้ทำให้เราเห็นความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 ชนชั้นในสังคมจีน คือ

  • แรงงานภาคเกษตรในชนบท
  • แรงงานที่อพยพเข้าสู่เมืองใหญ่
  • พนักงานออฟฟิศทั่วไป

ข้อมูลทั้งหมดนี้ยังไม่ได้พูดถึงคนระดับมหาเศรษฐีจีนที่นับวันยิ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ ข้อมูลจาก HSBC เผย จำนวนเศรษฐีจีน จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว ในอีก 4 ปี

น่าสนใจว่ารัฐบาลจีนจะทำอย่างไรต่อไป เพื่อจัดการให้เม็ดเงินที่ได้รับจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดด กระจายไปได้อย่างเท่าเทียมทั่วสังคมต่อไป 

ที่มา – Nikkei Asia 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน