ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 3/2564 มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมากจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 3 ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศและแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว คณะกรรมการฯ เห็นว่าโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทยตอนนี้คือ การจัดหาและการกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทันการณ์
ในส่วนของด้านการเงิน มาตรการที่สำคัญคือการกระจายสภาพคล่องไปยังธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ มาตรการสินเชื่อและการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะช่วยลดภาระทางการเงินได้อย่างตรงจุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมาจากการระบาดระลอก 3 ซึ่งกระทบการใช้จ่ายในประเทศและแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากการเปิดประเทศที่ช้ากว่าคาดและนโยบายจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน แรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยมาจากการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ผลดีต่อการจ้างงานในตลาดแรงงานโดยรวมมีจำกัด
มาตรการเยียวยาและมาตรการการเงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะมีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่แรงกระตุ้นภาครัฐปีงบประมาณ 2565 อาจลดลงบ้างจากการเร่งเบิกจ่าย พ.ร.ก. กู้เงินในปีงบประมาณปัจจุบัน ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปได้แก่
- การกระจายและประสิทธิผลของวัคซีนป้องกัน COVID-19
- การฟื้นตัวที่แตกต่างกันและไม่ทั่วถึง ทำให้ตลาดแรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น ส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนและการบริโภคภาคเอกชน
- ฐานะการเงินที่เปราะบางเพิ่มเติม โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลงตามรายได้ที่ลดลง ขณะที่ภาคครัวเรือนมีสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ลดลง ทำให้มีความสามารถในการใช้จ่ายลดลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเร่งขึ้นชั่วคราวในไตรมาส 2 ปี 2564 จากฐานราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำในไตรมาสเดียวกันของปีหน้า
สภาพคล่องโดยรวมอยู่ในระดับสูง ต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่ม ต้องติดตามการขยายตัวของสินเชื่อให้ทั่วถึงมากขึ้น หลังมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูมีผลบังคับใช้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยทยอยปรับลดลงจากช่วงก่อนหน้า
อัตราแลกเปลี่ยนเทียบกับดอลลาร์ สรอ เคลื่อนไหวอ่อนค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาค ต้องติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐ ควรเร่งมาตรการจัดหาและกระจายวัคซีนเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง ส่วนมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ต้องเร่งกระจายสภาพคล่อง ลดภาระหนี้
ที่มา – ธนาคารแห่งประเทศไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา