ย้ายงานหลังยุคโควิดมาแรง: คน 41% ทั่วโลกบอก ถ้าสถานการณ์ดีขึ้น พร้อมย้ายงาน ช่วงนี้อดทนทำไปก่อน

ผลสำรวจของ Microsoft’s Work Trend Index ทำการสอบถามคนทำงานจำนวนกว่า 30,000 คน ใน 31 ประเทศทั่วโลก พบว่า 41% ตอบว่าคิดเรื่องการย้ายงานภายในปีนี้

ที่สำคัญคือเกือบครึ่ง (46%) ของคนที่มีแผนย้ายงาน บอกชัดเจนว่า จะเป็นการย้ายงานครั้งใหญ่ในชีวิตหรือเปลี่ยนสายงานไปเลย (คำที่งานวิจัยใช้คือ planning to make a major pivot or career transition)

ส่วนถ้าเจาะรายประเทศที่น่าสนใจคือในสหรัฐอเมริกา คนทำงาน 25% หรือ 1 ใน 4 บอกว่า ถ้าสถานการณ์โควิดดีขึ้น ผู้คนได้รับวัคซีนอย่างถ้วนหน้า ก็มีแผนที่จะเปลี่ยนงาน ส่วนในแคนาดา ปรากฏว่า คนทำงานกว่า 52% กำลังมองหาตำแหน่งงานใหม่ๆ ในปีนี้เช่นกัน

ย้ายงานไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ

ในทุกๆ ปี มีคนจำนวนมากที่ย้ายงาน เพราะเหตุผลหลากหลายประการ ทั้งต้องการเพิ่มเงินเดือน ทั้งต้องการความท้าทายใหม่ๆ ทั้งต้องเปลี่ยนเส้นทางอาชีพ ร้อยแปดพันเก้าเหตุผล

แต่สิ่งที่น่าสนใจในโลกยุคหลังโควิดคือ “อัตราการย้ายงาน” ที่พุ่งสูงขึ้นจนน่าตกใจ

ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกาแต่ละปี ค่าเฉลี่ยของอัตราการย้ายงาน (turnover rate) ในทุกอุตสาหกรรมอยู่ที่ประมาณ 15% แต่ในยุคหลังโควิด พบว่าพุ่งสูงขึ้นมาอยู่ที่ 25% หรือ 1 ใน 4 ของตลาด 

Businesswoman leaving office with box of personal items
Businesswoman leaving office with box of personal items

อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คนอยากย้ายงานหลังยุคโควิด

ประการที่หนึ่งคือความรู้สึกของการอยู่กับที่ ไม่เติบโตในองค์กร แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลกระทบจากยุคสมัยแห่งโรคระบาด ที่บริษัทจำนวนมากพุ่งเป้าไปที่การดูแลคนในด้านต่างๆ หลายคนทำงานหนักขึ้นในยุคโควิด แต่ไม่เห็นเส้นทางของอาชีพที่จะก้าวไปสู่จุดที่สูงกว่านี้

  • การแบกรับภาระงานที่หนักเกินไปของคนในยุคโควิดก็ส่งผลให้เกิดภาวะที่หมดไฟ (burnout) หรือภาวะใหม่ที่เรียกว่า Languishing หรือภาวะที่เนือยๆ ว่างเปล่า ไม่อยากทำอะไร เพราะชีวิตไร้จุดมุ่งหมาย

ประการที่สองคือความกังวลในทักษะที่ตัวเองมีอยู่ งานวิจัยพบว่าในยุคโควิด พนักงานมากกว่า 2 ใน 3 มองว่า งานที่ทำอยู่กำลังจะไม่สำคัญอีกแล้วในโลกการทำงานแห่งอนาคต เพราะหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาทดแทนได้ การย้ายงานในความหมายนี้จึงหมายถึงการเปลี่ยนไปหาสายงานที่ได้ใช้ทักษะที่สำคัญกับโลกอนาคตมากขึ้น

นอกจากนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจคือความห่างไกลจากเพื่อนร่วมงานและองค์กรในยุคแห่ง Work From Home สิ่งนี้ทำให้คนย้ายงานมากขึ้น

  • งานวิจัยที่ชื่อว่า Job interest not a big predictor of job satisfaction ทำการศึกษาในช่วงปลายปี 2020 พบว่า สิ่งที่ทำให้คนพึงพอใจสูงต่อการทำงานในองค์กรนั้นๆ คือสายสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงาน เพราะฉะนั้นในยุคแห่ง Work From Home การหางานใหม่จึงทำได้ง่าย บ่อย และถี่ขึ้น เพราะไม่มีความรู้สึกผูกพันด้านอารมณ์ ความรู้สึก และความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานหรือองค์กรมากเท่ากับในยุคที่ต้องเข้าออฟฟิศ

ประการสุดท้ายคือความไม่พึงพอใจต่อผู้นำในทีมหรือในองค์กร ในยุคโควิด คนทำงานรู้สึกว่าโดนกดดันหนัก พื้นที่ชีวิตกับการทำงานทับซ้อนกันจนไร้สมดุล และถ้าเจอหัวหน้างานที่ไม่เข้าใจในประเด็นนี้ ก็จะส่งผลให้รู้สึกว่า “ในแต่ละวัน ช่างไร้ค่า” เพราะต้องประสบกับงานที่ทำจนเสร็จ แล้วต่อด้วยงานอีกชิ้นทันที ไม่มีจังหวะชีวิตที่ได้ผ่อนคลายจากความเครียดรอบด้านในชีวิต

สรุปคือปัจจัยที่ทำให้คนทำงานมีความต้องการจะเปลี่ยนงานในยุคหลังโควิดคือ ทำงานหนักแต่ไม่เห็นโอกาสในการเติบโต, งานที่ทำในปัจจุบันใช้ทักษะที่กำลังจะไม่สำคัญในอนาคต, หัวหน้างานไม่เข้าใจและไม่พยายามสร้างสมดุลของการทำงานและการใช้ชีวิตให้กับพนักงาน รวมถึงปัจจัยข้างเคียงอย่างการที่คนทำงาน Work From Home มีความรู้สึกห่างเหินจากเพื่อนร่วมงานและองค์กร ล้วนมีผลทำให้เกิดการย้ายงานได้ง่ายทั้งสิ้น

New normal office control social distancing for avoid corona virus spread to colleagues in place of work.Business people wear mask for disease.Asian face person group.Working area for Thai officer.

การปรับตัวขององค์กรในโลกยุคหลังโควิด

แม้ว่ากระแสการย้ายงานหลังยุคโควิดจะเกิดขึ้นทั่วโลก เพราะปัจจัยทั้งหมดที่ว่ามา แต่อย่าลืมว่าตลาดแรงงานทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เพราะฉะนั้นจะอยู่ต่อหรือจะลาออกต้องคิดให้ดี

แต่สิ่งที่สำคัญคือผู้เชี่ยวชาญบอกว่า เราจะได้เห็นการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะหรือกลุ่มคนที่มีความสามารถ (Talent) ชนิดที่กระโดดข้ามอุตสาหกรรมมากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะคนที่มีทักษะ มีความสามารถ เป็นที่ต้องการของตลาด ย่อมเลือกได้ 

แต่ทั้งนี้ ถ้ามองในมุมกลับ บริษัทยุคใหม่ที่อยากรักษาคนเก่งไว้ในองค์กร ต้องสร้างสมดุลของสิ่งเหล่านี้ให้ได้ เช่น ทำงานหนักและมีช่องทางให้เติบโต สร้างงานที่มีคุณค่า ตอบโจทย์ทั้งเป้าหมายขององค์กรและทำให้พนักงานได้ใช้ทักษะที่มีประโยชน์ ทำให้ชีวิตการทำงานและการใช้ชีวิตในแต่ละวันมีคุณค่า

อ้างอิง Microsoft’s Work Trend Index, Quartz, งานวิจัยที่ศึกษาอัตราการลาออกจากงานในสหรัฐอเมริกา, งานวิจัยเรื่องความพึงพอใจต่อการทำงาน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา