รู้จัก “ภาวะเนือยๆ” ว่างเปล่า ไม่อยากทำอะไร แต่ไม่ได้หมดไฟ-ไม่ได้ซึมเศร้า

Languishing

เคยรู้สึกไหมว่าในแต่ละวัน เราถูกดึงความสนใจไปหาเรื่องนั้นที เรื่องนี้ที จนไม่มีช่วงเวลาที่มีสมาธิ

โดยเฉพาะตั้งแต่ปีที่แล้วลากยาวมาจนถึงปีนี้ เราประสบกับวิกฤตใหญ่อย่างโรคระบาด ในแทบทุกวันเราใช้ชีวิตด้วยการพึ่งสัญชาตญาณไม่สู้-ก็หนี (fight-or-flight) ทำมาเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ชีวิตเริ่มเหนื่อย เมื่อยล้า ไม่มีความสุขในชีวิต

ในยุคโควิด นอกจากที่หลายคนจะถามตัวเองว่า “นี่เราติดหรือยังนะ” หลายคนก็ถามตัวเองด้วยว่า “นี่เราเป็นโรคซึมเศร้า หรือ หมดไฟหรือยังนะ” แน่นอนว่า บางคนก็ไปพบแพทย์ รักษาตามหลักวิทยาศาสตร์ แต่กลับพบว่า ไม่ได้มีอาการที่บอกชัดๆ ได้ว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือหมดไฟ

  • คำถามคือ แล้วอาการแบบนี้ มันจะเรียกว่าอะไร?
The Mental Health Continuum: From Languishing to Flourishing in Life (2002)
The Mental Health Continuum: From Languishing to Flourishing in Life (2002)

เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว นักวิจัยชื่อว่า Corey L. M. Keyes ทำการศึกษาเรื่อง The Mental Health Continuum: From Languishing to Flourishing in Life (2002) โดยเขาเสนอว่า มนุษย์ในทศวรรษถัดไปจะพบกับภาวะที่เรียกว่า “Languishing” ซึ่งแปลแบบเก็บใจความได้ว่า “ภาวะที่เนือยๆ ว่างเปล่า ไม่ได้อยากทำอะไร เพราะรู้สึกไร้จุดมุ่งหมายในชีวิต”

ภาวะเนือยๆ ที่ว่านี้ยังไม่นับว่าเป็นอาการหรือปัญหาในทางการแพทย์ แต่ผู้วิจัยบอกว่ามีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาวได้ เพราะภาวะแบบนี้คนเป็นจะไม่รู้ตัว

ที่บอกว่าภาวะเนือยๆ นี้ไม่ใช่อาการหมดไฟ (burnout) เพราะคนๆ นั้นไม่ได้ขาดเรี่ยวแรง เขายังรู้สึกมีแรงที่จะทำอะไรต่อมิอะไรได้อีกมาก แต่เพียงแค่ไม่อยากทำ และภาวะนี้ก็ไม่ใช่อาการซึมเศร้า (depression) เพราะยังมีความหวังอยู่ แต่เพียงแค่รู้สึกไม่สนุกและไร้เป้าหมายในชีวิต

ทางออกของเรื่องนี้ Adam Grant นักจิตวิทยาองค์กร ผู้เขียนบทความ และเจ้าของหนังสือขายดีอย่าง Think Again: The Power of Knowing What You Don’t Know ต้องสร้าง “Flow State” ขึ้นมา ซึ่งในทางจิตวิทยาหมายถึง การด่ำดิ่งลงไปสู่อะไรสักอย่างที่เราสนใจ มันอาจเป็นการทำงาน, งานดิเรก, หนังเรื่องโปรด, เกมที่ชอบ หรืออะไรก็ได้ แต่หัวใจสำคัญคือให้สร้างช่วงเวลาหรือ Moment ที่ทำสิ่งนั้นโดยไม่ต้องสนใจสิ่งรอบข้าง และหลังจากนั้นค่อยกลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง หรือนอกจากนั้นอีกทางคือ ให้สร้างความท้าทายหรือเป้าหมายเล็กๆ และลองทำให้สำเร็จ มีความสุขกับ Small Wins ในแต่ละวัน

Bachelor in a Kitchen Leaning Back on a Chair and Eating Breakfast Cereal Photo: Getty Images
Bachelor in a Kitchen Leaning Back on a Chair and Eating Breakfast Cereal Photo: Getty Images

สรุป

Languishing หรือภาวะที่เนือยๆ คือความรู้สึกที่ว่างเปล่า ไม่ได้อยากทำอะไรเป็นพิเศษ เพราะรู้สึกไร้จุดมุ่งหมายในชีวิต

นักวิชาการด้านสุขภาพจิตบอกว่า การตั้งชื่อโรค ภาวะ หรืออาการเหล่านี้มีประโยชน์ เพราะทำให้เรารู้ว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่จริง จากนั้นก็ค่อยๆ เรียนรู้ต่อไปว่าจะแก้ไขกันอย่างไร

พูดกันให้ถึงที่สุด ถ้าขุดประเด็นนี้ลงไปให้ลึก ก็จะพบว่า มันไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคล แต่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่กำลังกัดกินชีวิตยุคใหม่ของพวกเรา

อ้างอิง NYT, งานวิจัย The Mental Health Continuum: From Languishing to Flourishing in Life

ชวนอ่านอีกหนึ่งปัญหาแห่งยุคสมัย ทำความเข้าใจ Work-Life Balance กันใหม่ เราจะแก้ไขปัญหาชีวิตการทำงานที่ไม่สมดุลอย่างไรดี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา