เป็นธรรมเนียมสืบมาตั้งแต่ปี 1997 ที่ Jeff Bezos ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Amazon จะเขียนจดหมายประจำปีถึงผู้ถือหุ้น ซึ่งในจดหมายแต่ละปีก็มีแนวคิดที่น่าสนใจในเชิงการบริหารธุรกิจ จนกลายเป็นกรณีศึกษามากมาย
แต่ในปี 2021 ถือเป็นปีที่พิเศษ เพราะ Bezos ประกาศลงจากตำแหน่งซีอีโอในช่วงไตรมาสที่สาม และจะโปรโมท Andy Jassy ซีอีโอของ AWS ขึ้นมารับตำแหน่งแทน ทำให้จดหมายประจำปี 2020 (ที่ออกในปี 2021) เป็นจดหมายฉบับสุดท้ายของ Bezos ในฐานะซีอีโอ
จงสร้างมูลค่าให้มากกว่าที่ใช้ไป
Bezos เริ่มต้นจดหมายของเขาด้วยการคำนวณ “มูลค่า” ของความมั่งคั่งที่ Amazon สร้างขึ้นมา เพื่อสะท้อนว่าภารกิจของเขาในการสร้างธุรกิจนั้นประสบความสำเร็จ เขายกตัวเลขรวมว่าสร้างมูลค่าถึง 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ให้ผู้ถือหุ้นทุกคนมาตลอดระยะทาง นับตั้งแต่ขายหุ้น IPO ในปี 1997 โดยหุ้นสัดส่วน 7 ใน 8 เป็นของผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ใช่ตัวเขาเอง
Bezos ยังยกตัวอย่างจดหมายจากผู้ถือหุ้นชื่อ Mary และ Larry ที่ซื้อหุ้น Amazon จำนวน 2 หุ้น ในปี 1997 เป็นของขวัญให้ลูกชายที่ตอนนั้นอายุ 12 ปี หุ้นก้อนนี้ถูกถือโดยไม่ขายมายาวนาน 24 ปี จนปีนี้ที่ลูกชายจะซื้อบ้านเป็นของตัวเอง จึงนำมาขายและมูลค่าหุ้นสูงจนพอซื้อบ้านได้ ถือเป็นตัวอย่างของคนธรรมดาที่ได้ประโยชน์จากความมั่งคั่งที่ Amazon สร้างให้
Bezos คำนวณความมั่งคั่งที่ Amazon สร้างขึ้นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ เฉพาะในปี 2020 เพียงปีเดียว
- สร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น 21 พันล้านดอลลาร์
- จ่ายเงินเดือนและผลประโยชน์ให้พนักงาน 91 พันล้านดอลลาร์
- สร้างกำไรให้ผู้ขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม 25 พันล้านดอลลาร์
- สร้างประโยชน์ให้ลูกค้า (ทั้งอีคอมเมิร์ซและ AWS) 164 พันล้านดอลลาร์
รวมมูลค่าที่ Amazon สร้างขึ้นทั้งหมดประมาณ 3.01 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 9.4 ล้านล้านบาทต่อปี
Bezos สรุปว่าในแง่ธุรกิจ เราควรตั้งเป้าว่าจะสร้างมูลค่าหรือคุณค่าให้กับทุกคนที่เราเกี่ยวข้อง (Create More Than You Consume) ถ้าบริษัทใดไม่สามารถสร้างคุณค่าได้ ก็จะไม่สามารถอยู่ในโลกนี้ต่อไปได้
โต้เสียงวิจารณ์เรื่องคุณภาพชีวิตพนักงาน
ในประเด็นถัดมา Bezos ตอบโต้เสียงวิจารณ์เรื่องคุณภาพชีวิตของพนักงาน Amazon โดยเฉพาะพนักงานในโกดังและพนักงานส่งสินค้า ที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
Bezos บอกว่าถ้าอ่านจากข่าวอย่างเดียว ทุกคนคงคิดว่าบริษัทไม่แคร์คุณภาพชีวิตของพนักงานเลย ถูกปฏิบัติเหมือนกับหุ่นยนต์ แต่จริงๆ แล้วบริษัทดูแลพนักงานดี พนักงานสามารถพักเบรกเข้าห้องน้ำ พักดื่มน้ำ พูดคุยกับหัวหน้างานได้อย่างอิสระ หากไม่กระทบต่อเนื้องาน โดยเวลาพักเบรกนี้ถูกคิดแยกจากเวลาพักเที่ยงปกติ 30 นาที และเวลาเบรกมาตรฐาน 30 นาทีที่มีอยู่แล้ว
เขายังยกตัวอย่างผลสำรวจความพึงพอใจของพนักงานในศูนย์กระจายสินค้า ที่ได้คะแนน 94% ในการแนะนำเพื่อนมาทำงานที่นี่ และยืนยันว่ากำหนดเกณฑ์ประเมินพนักงานอย่างเป็นธรรม ปฏิบัติได้จริง
แต่ถึงแม้ถกเถียงเรื่องคุณภาพชีวิตของพนักงาน ตัวของ Bezos ก็ยอมรับว่าบริษัทจำเป็นต้องมี “วิสัยทัศน์ที่ดีกว่า” ในแง่การสร้างคุณค่าให้พนักงาน
เขาเสนอภารกิจว่า Amazon จะต้องเป็น “นายจ้างที่ดีที่สุดในโลก” (Earth’s Best Employer) และ “ที่ทำงานที่ปลอดภัยที่สุดในโลก” (Earth’s Safest Place to Work) เพิ่มเติมจากภารกิจเดิม “บริษัทที่ใส่ใจลูกค้ามากที่สุดในโลก” (Earth’s Most Customer-Centric Company) ที่พูดมานานแล้ว
Bezos บอกว่าภารกิจใหม่ทั้ง 2 ข้อจะไม่ทับซ้อนกับภารกิจเดิมเรื่องความใส่ใจลูกค้า โดยบทบาทใหม่ของเขาในฐานะประธานบอร์ด เขาจะมาโฟกัสที่เรื่องความปลอดภัยของพนักงาน ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุน ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาถนัดและทำได้ดีที่สุด
Bezos แจกแจงว่าปัญหาเรื่องความปลอดภัยในที่ทำงานของ Amazon อาการบาดเจ็บสัดส่วน 40% เกิดจากอาการด้านกล้ามเนื้อ-กระดูก (musculoskeletal disorders หรือ MSDs) จากการเคลื่อนไหวท่าเดิมนานๆ และมักเกิดกับพนักงานใหม่ที่เพิ่งมาทำงานภายใน 6 เดือนแรกของอายุงาน แนวทางแก้ไขของ Amazon คือจ้างผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้เรื่องวิธีเคลื่อนไหวร่างกายให้ปลอดภัย การจัดตารางทำงานของพนักงานด้วยอัลกอริทึม เพื่อให้ได้ทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อแต่ละส่วนสลับกันไป ผลของโครงการเหล่านี้ช่วยลดอาการ MSDs ลงได้ 32% เทียบระหว่างปี 2019 และ 2020
ส่วนในแง่การจ้างงาน เขาย้ำว่า Amazon เป็นผู้นำในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง และเมื่อ Amazon ขึ้นค่าแรง บริษัทอื่นๆ ก็จำเป็นต้องขึ้นตาม ทำให้ค่าแรงเฉลี่ยสูงขึ้นด้วย
ปรัชญาปิดท้าย ผู้ที่แตกต่างคือผู้ที่อยู่รอด
Bezos ปิดท้ายจดหมายฉบับสุดท้ายของเขา ด้วยการพูดถึงปรัชญาเรื่องสุดท้ายที่เขาอยากสอน นั่นคือ “ผู้แตกต่างคือผู้ที่อยู่รอด ในขณะที่จักรวาลรอบตัวเราอยากให้เราเป็นคนธรรมดา” (Differentiation is Survival and the Universe Wants You to be Typical)
Bezos ยกข้อความจากหนังสือชีววิทยาของ Richard Dawkins ว่าร่างกายของสัตว์รวมถึงมนุษย์ จะต้องรักษาอุณหภูมิของตัวเองให้ร้อนกว่าสภาพแวดล้อมเสมอ ยิ่งอากาศเย็น ร่างกายก็ยิ่งต้องทำงานหนักขึ้น เพราะถ้าไม่สามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายไว้ได้ สิ่งที่ตามมาคือความตาย ถ้าสิ่งมีชีวิตชนิดใดไม่พยายามรักษาความร้อนเอาไว้ ก็จะสูญพันธุ์ไป กลายเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมรอบตัว
เขาเปรียบเทียบว่าบริษัทใดๆ ก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ โลกรอบตัวจะพยายามดึงเรากลับมาเป็นบริษัทธรรมดา (typical) เราต้องใช้ความพยายามอย่างหนักในการรักษาจุดเด่น รักษาความแตกต่างของเราไว้ตลอดเวลา (maintain your distinctiveness) ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทุกจุดในสังคม ไม่ใช่แค่ธุรกิจ แต่รวมถึงการเมืองและเรื่องอื่นๆ ด้วย
Bezos บอกว่าการรักษาความแตกต่างเอาไว้ มีต้นทุนที่ต้องจ่ายออกไปแน่นอน เราต้องใส่พลังงานเข้าไปตลอดเวลา แต่มันก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่าในระยะยาว โลกพยายามดึงให้ Amazon กลับมาเหมือนบริษัทปกติทั่วไป แต่เขาเชื่อว่าบริษัทสามารถทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ย
จดหมายสุดท้ายของ Bezos ปิดท้ายว่า จงปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยดี เป็นตัวของตัวเอง สร้างคุณค่าให้มากกว่าที่ใช้ไป และอย่ายอมให้จักรวาลรอบตัวดึงเรากลับไปเหมือนสภาพแวดล้อม และขอให้รักษาจิตวิญญาณของวันแรกเอาไว้
To all of you: be kind, be original, create more than you consume, and never, never, never let the universe smooth you into your surroundings. It remains Day 1.
จดหมายฉบับเต็มอ่านได้จาก Amazon
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา