MUJI ปรับตัว จะเปลี่ยนพื้นที่ 1 ใน 3 ไปขายอาหาร ราคาไม่เบาแต่เน้นเอาใจคนรักษ์โลก

MUJI FOOD

MUJI ปรับตัวสู้โควิด เปลี่ยนพื้นที่ 1 ใน 3 ไปขายสินค้าประเภทอาหาร

MUJI แบรนด์เสื้อผ้าสายมินิมอลจากญี่ปุ่น มีแผนจะหันไปขายอาหารเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขนมปังอบสดๆ สไตล์ญี่ปุ่น ข้าวกล่องเบนโตะ และผักสดจากไร่ท้องถิ่น โดยจะเนรมิตพื้นที่ 30% หรือกว่า 1 ใน 3 ของช็อปแต่ละสาขาที่กำลังจะเปิดใหม่ในญี่ปุ่นให้กลายเป็นโซนขายอาหารโดยเฉพาะ ตอบโจทย์ที่เปลี่ยนไปในช่วงโควิดคือซูเปอร์มาร์เก็ตรุ่งแต่ร้านเสื้อผ้าร่วง

ตามสไตล์ของ MUJI สินค้าที่ขายย่อมมีเรทราคาสูงที่ขึ้นจากราคาโดยเฉลี่ยของตลาด เช่น สำหรับสินค้าที่ขายโดยทั่วไปในราคา 200 เยน (ประมาณ 56 บาท) MUJI จะขายในราคา 300 เยน (ประมาณ 85 บาท) เน้นขายสินค้าแมสที่คุ้มค่าคุ้มราคา แต่ยกระดับสินค้าขึ้นมาด้วยคุณภาพที่สูงขึ้น และเน้นขาย ‘ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’

อาหารทำรายได้ดีช่วงโควิด แถมช่วยให้ลูกค้าเข้าร้านมาซื้อเสื้อผ้ามากขึ้น 

การเปลี่ยนแปลงของ MUJI ในครั้งนี้ เป็นเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนต้อง work from home และอยู่บ้านมากขึ้น นี่เป็นโอกาสของซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อ แต่เป็นวิกฤติของร้านอาหารและร้านเสื้อผ้า

เดิมที MUJI มีสัดส่วนการขายสินค้าประเภทอาหารที่ 10% เท่านั้น ทำให้ MUJI ตั้งใจเพิ่มสัดส่วนขึ้นมาเป็น 30% โดยวางแผนจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวให้ได้ภายในปี 2030 เพื่อปรับตัวเข้ากับบรรยากาศทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป

ที่ MUJI ให้ความสำคัญกับสินค้าหมวดอาหาร เป็นเพราะในเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ยอดขายของร้านเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้วถึง 69% โดยมียอดขายในสินค้าจำพวกอาหารเพิ่มขึ้นถึง 60% ถือเป็นหนึ่งในแรงผลักดันสำคัญของยอดขายที่เพิ่มขึ้นมา

แต่เป้าหมายของการเพิ่มสัดส่วนการขายสินค้าประเภทอาหารไม่ใช่แค่การสร้างแหล่งที่มารายได้ใหม่ๆ เท่านั้น แต่เป็นไปเพื่อให้ลูกค้าได้เข้ามาเยี่ยมชมร้านค้า MUJI บ่อยขึ้น จากเดิมที่ลูกค้าหนึ่งคนจะเข้ามาเยี่ยมชมร้านค้า 1-2 ครั้งต่อเดือนโดยเฉลี่ย

MUJI คาดว่าการเพิ่มโซนอาหารจะทำให้ลูกค้าเข้าร้านทุกสัปดาห์ กระตุ้นยอดขายสินค้าที่ไม่ใช่อาหารในอีกทางหนึ่ง

แนวคิดทำร้านอาหารไม่ใช่เรื่องใหม่ของ MUJI

แนวคิดการทำร้านอาหารในร้าน MUJI เป็นสิ่งที่เห็นมาสักระยะแล้ว

อย่างในปี 2017 MUJI แปลงโฉมชั้น 1 ของร้าน Flagship Store ในญี่ปุ่นทำโซนขายผักและผลไม้ เพื่อทำให้ลูกค้าเห็นภาพว่า ร้าน MUJI ไม่ได้มีแค่เสื้อผ้าเท่านั้น แต่มีภาพของความสัมพันธ์ที่ดีกับอาหาร ซึ่งถือเป็น 1 ในปัจจัย 4 ของมนุษย์เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่า MUJI สาขาในประเทศไทย จะเปลี่ยนไปทำโซนขายอาหารด้วยหรือไม่นั้น คงต้องติดตามกันต่อไป

ที่มา – Nikkei Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน