ทำความเข้าใจ Work-Life Balance กันใหม่ เราจะแก้ไขปัญหาชีวิตการทำงานที่ไม่สมดุลอย่างไรดี

Work Life Balance

พยายามสร้าง Work-Life Balance แต่ได้แค่ Work-ไร้-Balance

เคยเป็นแบบนี้ไหม พยายามแบ่งเวลาการใช้ชีวิตให้เป็นสัดส่วน ทำงาน 8 ชั่วโมง อยู่กับตัวเอง 8 ชั่วโมง และนอนอีก 8 ชั่วโมงในหนึ่งวัน แต่พอทำได้ก็กลับไม่ได้รู้สึกว่าชีวิตจะดีขึ้นสักเท่าไหร่

ถ้าคุณเป็นหนึ่งในนั้น นั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

Anat Lechner  รองศาสตราจารย์คลินิคด้านการจัดการจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ก็เคยเสนอเหมือนกันว่า การสร้าง Work-Life Balance อาจไม่ได้หมายถึงแค่การคิดสูตรง่ายๆ ว่าควรแบ่งเวลาให้กับแต่ละอย่างในชีวิตเท่าไหร่ จริงอยู่ที่เราสามารถแบ่ง “ตารางเวลา” ของแต่ละกิจกรรมได้ แต่ต้นเหตุของความไม่สมดุลคือ “งาน” ที่เราต้องนึกถึงในทุกช่วงเวลาของชีวิต 

ในเมื่อเราไม่สามารถแยกงานออกจากชีวิตส่วนตัวได้ง่ายอย่างที่คิด สูตรสำเร็จอย่างการทำงาน 8 ชั่วโมง ใช้ชีวิตส่วนตัวอีก 8 ชั่วโมง ซึ่งในทางทฤษฏีควรจะทำให้เกิดสมดุลระหว่างงานและชีวิตได้แบบ 50:50 ก็อาจไม่ได้เป็นไปตามนั้น

work form home
An aerial view of a mother working on a laptop in her office at hoe with her young daughter string on her lap.

เพราะเมื่องานหนักทำให้เราไม่สามารถหยุดคิดงานในเวลาพักผ่อน หรือกระทบอารมณ์จนพาลให้เครียด หมดสนุกกับเวลาส่วนตัว พูดให้เห็นภาพคือ ตัวอยู่บ้านแต่ใจอยู่กับงาน สัดส่วนระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวที่เรารู้สึกได้อาจจะเป็น 80:20 ก็ได้ แม้เราจะทำตามตารางเวลาที่แบ่งเวลาไว้ที่ 50:50 ก็ตาม

ยิ่งโควิด-19 เข้ามา ทำให้ทั้งตัวทั้งงานอยู่ที่บ้านทั้งหมด สมดุลในชีวิตเรายิ่งแย่เข้าไปอีก เพราะเมื่อก่อน ที่ทำงานและที่พักอาศัยแยกออกจากกันชัดเจน แต่เมื่อที่ทำงานกับที่พักคือที่เดียวกัน ชีวิตส่วนตัวเรายิ่งปะปนกับงานได้ง่าย ชีวิตก็ยิ่งไร้บาลานซ์มากขึ้น

Brand Inside พาผู้อ่านไปทบทวนเรื่องสุดคลาสสิคอย่าง Work-Life Balance กันอีกครั้ง มาหากันว่าสาเหตุของความไม่สมดุลของชีวิตการทำงานคืออะไร และเราจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อกู้คืนชีวิตที่ดีกลับมา

อยากรู้ว่าอะไรทำให้ชีวิตขาดสมดุล ต้องลองทำแบบนี้

เข้าสู่คำถามแรก อะไรคือปัญหาของความไม่สมดุลของชีวิต

คำตอบกว้างๆ คืองาน แต่เมื่อแต่ละคนต่างมีปัญหาเกี่ยวกับงานที่แตกต่างกันไปโดยรายละเอียด ดังนั้น วันนี้เราไม่ได้มาชี้เฉพาะว่า “อะไรคือปัญหา” แต่จะมาเสนอวิธีมองหาปัญหาเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้อ่านนำไปใช้มองชีวิตของตนเอง

เราจะมาดูงานวิจัยของ Ioana Lupu จาก ESSEC Business School สถานศึกษาด้านธุรกิจระดับโลกจากฝรั่งเศส และ Mayra-Ruiz Castro จาก University of Roehampton ซึ่งผู้วิจัยทั้งสองทำการสัมภาษณ์เชิงลึกพนักงานในบริษัทที่ปรึกษากฎหมายและสำนักงานตรวจสอบบัญชีระดับโลกจำนวน 80 คน 

พวกเขาพบว่าผู้หญิง 30% และผู้ชาย 50% จากจำนวนทั้งหมด ไม่ได้มองว่าการทำงานหนักเป็นเวลาติดต่อกันหลายชั่วโมงเป็นสิ่งที่ต้องทำเพราะสะท้อนความเป็นมืออาชีพ แต่พวกเขาให้ความสำคัญกับสมดุลในชีวิตมากกว่า 

ภาพโดย Marvin Meyer จาก Unsplash

จากการสัมภาษณ์ คนเหล่านี้ก็เคยทำงานหนักจนชีวิตขาดสมดุลมาก่อน แต่ก็มีเส้นทางคล้ายๆ กันในการค้นพบสาเหตุและหลุดพ้นจากปัญหาความไม่สมดุลของชีวิต ซึ่งนักวิจัยสรุปเส้นทางออกมาเป็น 5 ขึ้นตอน ดังนี้

    1. เริ่มตั้งคำถาม ต่อความเชื่อที่ว่าต้องทำงานหนักจะได้เป็นมืออาชีพ
    2. หาสาเหตุของความไม่สมดุลของชีวิต โดยอาจโฟกัสว่าอะไรทำให้เกิดอารมณ์เชิงลบ เช่น โกรธ เศร้า
    3. จัดลำดับความสำคัญใหม่ เช่น ลองพิจารณาว่าการทำงานหนักเพื่อให้ดูเป็นมืออาชีพกับการมีเวลาเพื่อคนรอบข้างสิ่งไหนสำคัญกว่ากัน แล้วสำคัญมากกว่าแค่ไหน จะได้วางแผนต่อไปได้ถูก
    4. พิจารณาหาทางเลือกใหม่ เช่น ปรับรายละเอียดบางอย่างของงานให้สอดคล้องเป้าหมายใหม่ที่มาจากการจัดลำดับความสำคัญใหม่
    5. ลองใช้ปรับใช้แผนดังกล่าว เช่น ปรึกษาหัวหน้าว่าต้องทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนแปลงรายละเอียดงานบางอย่างได้ หรือเลิกเข้าร่วมทุกๆ โปรเจกต์โดยไม่พิจารณาก่อน เป็นต้น

แน่นอนว่าแต่ละคนย่อมมีเงื่อนไขของชีวิต ความต้องการ ความคิด และปัจจัยอื่นๆ ที่แตกต่างกันออกไป และยิ่งกว่านั้น คนๆ เดียวกัน ก็มีเงื่อนไขที่ต่างกันไปในแต่ละช่วงของชีวิต ดังนั้น จึงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวสำหรับการสร้าง Work-Life Balance มีแต่สูตรที่ต้องปรับปรุงตลอดเวลาและค้นหาอยู่เสมอเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เราเห็นแล้วว่าการสร้าง Work-Life Balance เราจะต้องจัดการกับงานของเราด้วย การสร้างสมดุลของชีวิตจึงไม่ได้เป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคลอย่างเดียว เพราะการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการทำงานเราต้องตกลงบริษัท การสร้าง Work-Life Balance ในแง่หนึ่งจึงเป็นภาระหน้าที่ของบริษัทเช่นกัน

ชีวิตการทำงาน

เพื่อสร้าง Work-Life Balance คนทำงานและบริษัทต้องร่วมมือกัน

คำถามถัดมา เมื่อเรารู้แล้วว่าอะไรทำให้ชีวิตเราขาดสมดุลไป เราควรทำอย่างไรต่อ

คำตอบของเรื่องนี้อาจอยู่ในงานวิจัยของ Erin Kelly ศาสตราจารย์ด้านการทำงานและองค์กรจาก MIT ที่เสนอว่าชีวิตการทำงานที่ดีเริ่มต้นที่บริษัท เพราะหากงานของคุณไม่ได้เอื้อให้ใช้ชีวิตได้อย่างสมดุลตั้งแต่แรก ความพยายามส่วนบุคคลในการสร้าง Work-Life Balance ก็ย่อมไม่เกิดผล 

การวิจัยของ Kelly คือการศึกษาการทำงานของกลุ่มตัวอย่างซึ่งก็คือพนักงาน 1,000 คนจากหลายๆ บริษัทใน Fortune 500 โดยเธอแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่ม คือ 

    1. พนักงานที่ทำงานภายใต้โครงสร้างการบริหารแบบเดิม
    2. พนักงานที่ทำงานภายใต้โครงสร้างการบริหารที่ออกแบบใหม

โครงสร้างการบริหารที่ออกแบบใหม่จะออกแบบเพื่อสร้างความพึงพอใจในการทำงานสูงสุด มีเป้าหมายให้พนักงานมี Work-Life Balance ที่ดี โดยในที่ทำงาน ผู้จัดการจะต้องแสดงให้พนักงานเห็นอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนนโยบายนี้ พนักงานจะได้ไม่เกร็งที่จะทำตัวสบายๆ มากขึ้น ส่วนพนักงานก็จะมีสิทธิเปลี่ยนแปลงหลักการทำงานหลายๆ อย่างเพื่อสร้างความยืดหยุ่น เช่น การยกเลิกประชุมประจำวันในช่วงเช้า เป็นต้น

ผลลัพธ์เป็นไปตามคาด คนที่อยู่ในกลุ่มที่ออกแบบใหม่มีความเครียดน้อยลง เผชิญภาวะการหมดไฟน้อยลง และออกจากงานน้อยลง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ทำงานในโครงสร้างแบบเดิม พวกเขาลาออกน้อยลงกว่า 40% ในช่วงเวลา 4 ปี

จะเห็นได้ว่าการสร้าง Work-Life balance ไม่ใช่แค่เรื่องของความรับผิดชอบส่วนบุคคล ของคนทำงานแค่ฝ่ายเดียวอย่างที่เราเคยเข้าใจกัน พนักงานอาจจัดการตัวเองได้บางส่วน แต่องค์กรก็ต้องทบทวนตัวเองอยู่เสมอว่าภาระงานสมเหตุสมผลหรือไม่ หรือมีความคาดหวังที่สมจริง (reallistic) มากแค่ไหน ไม่ใช่ทิ้งภาระงานที่ไม่สมเหตุสมผลไว้ให้พนักงานแล้วอ้างถึงความเป็นมืออาชีพที่ต้องสะสางภาระงานให้เสร็จไม่ว่าจะหนักแค่ไหนก็ตาม

ที่มา – BBC, HBR

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน