ในปี 2021 นี้เจ้าของธุรกิจควรหันมาปรับตัวหรือใส่ใจในเรื่องอะไรมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคงท่ามกลางวิกฤติโควิด 19 ที่ยังเป็นความท้าทายใหญ่ในปัจจุบัน
ก่อนเข้าสู่เนื้อหา เราลองมาดูกันก่อนว่าในปีที่ผ่านมา แบรนด์ใหญ่ระดับโลก ออกมารับมือกับสถานการณ์โควิด และเป็นตัวอย่างที่ดีให้เจ้าของธุรกิจ SME ได้เรียนรู้ในประเด็นใดกันบ้าง
1. ตอบให้ได้ว่าธุรกิจของเราเกิดมาเพื่ออะไร
ถ้าเราสามารถตอบตัวเองได้ว่าธุรกิจของเราเกิดมาเพื่ออะไร หรือเรากำลังทำธุรกิจเพื่อช่วยคนกลุ่มไหนอยู่ เราก็จะสามารถยืนหยัดอยู่ได้แม้ว่าจะเจอวิกฤติหนักแค่ไหนก็ตาม สำหรับตัวอย่างที่น่าสนใจในช่วงโควิดที่ผ่านมาก็เช่น แบรนด์ Burger King ที่ทำแคมเปญชวนคนไปซื้ออาหารของคู่แข่งอย่าง McDonald ในประเทศอังกฤษ หรือแบรนด์ Nike ที่บริจาครองเท้ามูลค่ารวมกว่า 5.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น
2. ปรับตัวก่อนได้เปรียบกว่า
Agile คือคำศัพท์ในแวดวงธุรกิจที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยในปีที่ผ่านมา หากแปลให้เห็นภาพมากขึ้น Agile ก็คือการปรับแผนธุรกิจให้ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น มากกว่าที่จะทำตามแผนใหญ่ที่ตั้งไว้ในตอนแรก ตัวอย่างแบรนด์ที่ปรับตัวได้อย่างรวดเร็วในช่วงโควิดก็เช่น แบรนด์ Nike ที่ทำแคมเปญ “Play Inside, Play for the World” เพื่อส่งเสริมให้คนปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่างของรัฐบาล
3. อย่าคิดแต่เรื่องผลกำไร
ลูกค้าจะรู้สึกผูกผันกับแบรนด์ที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือสังคมมากกว่าแบรนด์ที่มีจุดยืนเพื่อแสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ Dove ที่รณรงค์ให้วัยรุ่นหญิงกว่า 35 ล้านคนทั่วโลกเกิดความรักและรู้สึกเคารพตัวเองมากขึ้นมาตั้งแต่ปี 2005 หรือแบรนด์ Unilever ที่ผลิตสินค้าโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เป็นต้น
4. ผลิตสินค้าโดยคำนึงถึงความเป็นมนุษย์และห่วงใยสิ่งแวดล้อม
ในปีที่ผ่านมาเราอาจจะได้ยินปัญหาเรื่องฟาสต์แฟชั่นกันบ่อย เพราะฟาสต์แฟชั่นคือการเร่งผลิตเสื้อออกมาตามสมัยนิยม โดยพยายามลดต้นทุนทั้งด้านวัสดุและแรงงานให้ต่ำที่สุด รวมทั้งทำให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลายไปโดยไม่รู้ตัว เพราะต้องนำทรัพยากรมาใช้ในการผลิตเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ในปัจจุบันผู้คนในสังคมจึงพยายามรณรงค์ให้ธุรกิจหันมาใส่ใจห่วงโซ่การผลิตที่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์มากขึ้น และทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยลง
5. แบ่งกำไรมาช่วยเหลือสังคม
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในช่วงที่โควิด 19 ระบาดรุนแรง ลูกค้าจะรู้สึกประทับใจและอยากมาซื้อสินค้าของแบรนด์หรือธุรกิจที่ออกมาช่วยเหลือผู้คนในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้ ในทางกลับกัน ลูกค้าก็จะเกิดความรู้สึกต่อต้านแบรนด์หรือธุรกิจที่ทอดทิ้งพนักงาน และไม่มีจุดยืนออกมาช่วยเหลือสังคม
เมื่อเห็นตัวอย่างของแบรนด์ระดับโลกดังนี้แล้ว SME อย่างเราควรเริ่มต้นครุ่นคิดหรือปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง เพื่อให้ธุรกิจพัฒนาไปได้อย่างดียิ่งขึ้น
1. วางแผนธุรกิจให้เรียบร้อยก่อนออกสินค้า
เมื่อคิดอยากตั้งธุรกิจอะไรขึ้นมาสักอย่าง เราควรวางแผนเกี่ยวกับธุรกิจนั้นให้เรียบร้อยและชัดเจนก่อนที่จะผลิตสินค้า เช่น ลองวิเคราะห์คู่แข่งว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจเรามีจุดเด่นและแตกต่าง จะใช้การตลาดแบบไหน ต้องมีกระแสเงินสดเท่าไหร่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาใหญ่ที่จะตามมา ทั้งนี้ แผนธุรกิจก็เป็นสิ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ธุรกิจในช่วงนั้น
2. สร้างเรื่องเล่าของแบรนด์เพื่อทำให้ธุรกิจโดดเด่นจากคู่แข่ง
ในช่วงเริ่มทำธุรกิจ หลายๆ คนอาจจะครุ่นคิดเรื่องการตั้งชื่อแบรนด์ การทำโลโก้ หรือการออกแบบเว็บไซต์ ซึ่งเรื่องเหล่านี้สำคัญก็จริง แต่สิ่งหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจมักจะหลงลืม คือการสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับแบรนด์ออกไป เพราะถ้าเราสามารถนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับแบรนด์ของเราได้ดี ลูกค้าก็จะจดจำแบรนด์ของเราได้มากกว่าแบรนด์อื่นๆ
3. การบริหารเงินคือเส้นเลือดสำคัญของการทำธุรกิจ
ในช่วงเริ่มต้น เจ้าของธุรกิจหลายๆ คนอาจจะตั้งราคาสินค้าให้ต่ำเข้าไว้ เพื่อดึงดูดลูกค้ามาจากคู่แข่ง แต่รู้หรือไม่ว่า ถ้าเราปรับลดราคาสินค้าให้ต่ำลงเป็นระยะเวลานาน แต่ค่าใช้จ่ายในด้านอื่นๆ เช่น ค่าพนักงาน ค่าการตลาด ต้นทุนการผลิต ค่าขนส่ง ฯลฯ ยังสูงแบบเดิม ธุรกิจของเราก็จะขาดทุนในที่สุด ดังนั้น เราควรเน้นการสื่อสารถึงคุณค่าของสินค้าที่เราสามารถส่งมอบให้ลูกค้าแล้วตั้งราคาให้เหมาะสมจะดีกว่า
4. เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณของลูกค้า
เจ้าของธุรกิจมักจะอยากขยายฐานลูกค้าให้ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ข้อผิดพลาดที่มักจะเกิดขึ้นคือแทนที่จะมุ่งทำการตลาดไปที่กลุ่มเป้าหมายหลัก พวกเขากลับเน้น “ปริมาณ” มากกว่า “คุณภาพ” ของลูกค้าจริงๆ ดังนั้น เราจึงควรถามตัวเองอยู่เสมอว่า ธุรกิจของเราเกิดมาเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มไหน แล้วเราอยากต่อยอดธุรกิจให้พัฒนาไปอย่างไรในอนาคต ถ้าตอบคำถามได้ตามนี้เราถึงจะสามารถขยายกลุ่มลูกค้าได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น
5. สิ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องคิดเมื่อรับพนักงานเข้ามา
การบริหารพนักงานเป็นเรื่องสำคัญในการทำธุรกิจ ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับพนักงานที่พบได้บ่อยก็เช่น กว่าจะได้พนักงานหนึ่งคนมาต้องผ่านกระบวนการรับสมัครและการคัดเลือกที่ใช้ระยะเวลานาน แต่หลายๆ ครั้งก็กลับได้พนักงานที่ไม่เหมาะกับองค์กร หรือทำงานได้ไม่นานก็ลาออกอยู่ดี ปัญหานี้เกิดจากการที่เจ้าของธุรกิจมักจะจ้างพนักงานเข้ามาช่วยทำงานอย่างเดียว แต่ไม่ได้มองไปถึงขั้นที่ว่าพนักงานคนนั้นจะช่วยให้ธุรกิจ “เติบโตอย่างยั่งยืน” ได้หรือเปล่า
6. เลือกคนผิดชีวิตเปลี่ยน
ในขณะที่การจ้างพนักงานอาจจะไม่ได้เป็นความเสี่ยงมากสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ แต่สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่มีงบประมาณจำกัดแล้ว กว่าจะเสียเงินจ้างพนักงานหนึ่งคนได้ก็ต้องผ่านการคิดคำนวณมาอย่างดี ดังนั้น เมื่อจะคัดเลือกใครเข้ามาในทีม ขอให้เราพิจารณาอย่างละเอียดก่อนว่า คนๆ นั้นมีทัศนคติและนิสัยเหมาะสมที่จะมาทำงานในธุรกิจของเราหรือไม่
7. ระวังข้อมูลสำคัญของธุรกิจรั่วไหล
ข้อมูลที่ว่านั้นรวมไปถึงกลยุทธ์ของธุรกิจและรหัสสำคัญต่างๆ เช่น รหัสล็อกอินเข้าคอมพิวเตอร์ของบริษัท เพราะมีโอกาสสูงที่ผู้ไม่หวังดีจะนำข้อมูลส่วนนี้มาหาผลประโยชน์จากเรา วิธีป้องกันปัญหานี้ คือให้เราระมัดระวังเสมอเมื่อจะให้รหัสสำคัญกับใคร และอย่าลืมเปลี่ยนพาสเวิร์ดของโปรแกรมต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่มีคนลาออก
8. ถ้าบริหารคนเดียวไม่ไหวควรแบ่งให้เอาท์ซอร์สช่วยเหลือ
ในช่วงปีสองปีแรกเจ้าของธุรกิจคงจะต้องทำงานบางส่วนแบบหัวหมุน จนส่งผลให้แบ่งเวลามาดูด้านอื่นๆ ได้ไม่ทั่วถึง เช่น ขาดการดูแลหรือควบคุมพนักงานอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดความผิดพลาดในด้านต่างๆ เช่น การบริหารเงิน การจ้างพนักงาน ดังนั้น วิธีที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือให้จ้างเอาท์ซอร์สเข้ามาเพื่อช่วยในเรื่องในเรื่องที่เจ้าของธุรกิจไม่ถนัดหรือไม่มีเวลาดูแลมากพอ
9. เรื่องที่ควรฉุกคิดก่อนตัดสินใจลงทุน
ในการทำธุรกิจเราอาจจะใช้บริการที่ช่วยบริหารระบบหลังบ้านหลายอย่าง เช่น บริการจัดการสต็อคสินค้า บริการจัดทำบัญชี ซึ่งสองบริการนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีประโยชน์ แต่หลายๆ ครั้งเจ้าของธุรกิจก็มักจะหลงเชื่อคำโฆษณา และเผลอไปลงทุนในเครื่องมือหรือซอฟท์แวร์ที่ดูเหมือนจะเป็นตัวช่วยในการทำธุรกิจ แต่ความจริงแล้วไม่ได้จำเป็นสำหรับธุรกิจตัวเองเสียด้วยซ้ำ ส่งผลให้ใช้จ่ายเงินไปอย่างสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ
10. ธุรกิจเติบโตเร็วเกินไปใช่ว่าดี
การที่ธุรกิจเติบโตเร็วเกินไปอาจจะส่งผลเสียในระยะยาว ปัญหาที่พบได้บ่อยคือเจ้าของต้องการขยายธุรกิจจึงนำเงินสดออกมาใช้เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ขาดกระแสเงินสดและต้องกู้ยืมเงิน ทำให้เกิดหนี้ในที่สุด นอกจากนี้ ในช่วงที่เราเร่งขยายธุรกิจ พนักงานก็ยิ่งต้องทำงานหนักมากกว่าปกติ ทำให้พวกเขารู้สึกเหนื่อย หมดไฟและมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง
ที่มา : Forbes 1, Forbes 2, contentgrip, martechtoday, smallbusinessbc, investopedia, smallbizclub, business
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา